“ซีพี ออลล์ จับมือพันธมิตร จัด Creative AI Camp ปีที่ 6 ให้ความรู้เยาวชนผ่านแนวคิด AI as a Human Being??? สร้างโปรเจกต์ AI ช่วยแก้ Pain Point ภาคธุรกิจ
ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น จัดค่าย “Creative AI Camp ปีที่ 6” เติมฝันเยาวชน ยกระดับทักษะ AI ให้น้อง ม.ปลาย-ปวช.-ปวส.-อุดมศึกษา สู่ผู้นำ AI ขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างอนาคตประเทศ จับมือ Future Skill เปิดคอร์สออนไลน์ปรับพื้นฐาน AI ฟรีให้ผู้สมัครทุกคน
พร้อมคัดเหลือ 40 คน จากยอดผู้สมัครทั่วประเทศกว่า 600 คน ร่วมต่อยอดองค์ความรู้ในแคมป์แบบเข้มข้น 3 เดือนกับทัพพันธมิตร-วิทยากร-สถาบันการศึกษา-ภาคเอกชน ไทยและนานาชาติ เสริมทักษะ Computer Vision, Natural Language Processing, Neural Network, ChatGPT และอื่นๆ
พร้อมโจทย์จริงจาก 4 ภาคธุรกิจ ทั้ง การปฏิบัติการ-การตลาด-HR และ Contact Center เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมทำ Workshop และได้ประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะด้าน AI กับ ภาคธุรกิจ ตามคอนเซปต์ Phenomena Work-based Learning
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า บริษัทได้จัดค่าย Creative AI Camp (CAIC) อย่างต่อเนื่องอีกครั้งในปีนี้เป็นปีที่ 6
ภายใต้แนวคิด AI as a Human Being ??? เพื่อช่วยเติมเต็มความฝันให้แก่เยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และอุดมศึกษา ที่สนใจเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้มีทักษะและองค์ความรู้ที่แข็งแกร่ง พร้อมเป็นผู้นำด้าน AI สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศ
“กระแส ChatGPT ทำให้ทุกองค์กรตื่นตัวด้าน AI มากขึ้น แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ AI ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง เทคโนโลยีภาพรวมพัฒนาขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ ดีขึ้นและง่ายขึ้นกว่าช่วงหลายปีก่อนมาก แต่ AI ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่คน AI เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น การจะมี AI ที่ดีได้ เราจะต้องพัฒนาผู้ทำ AI และผู้ใช้ AI จะต้องมองถึงความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วย
ซีพี ออลล์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในการขับเคลื่อนอนาคตของภาคธุรกิจและอนาคตของประเทศ และจัดค่าย Creative AI Camp ต่อเนื่อง โดยปีนี้มีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมค่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 660 คน” ก่อศักดิ์ กล่าว
ด้านป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดค่าย Creative AI Camp ปีนี้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1.การจัดคอร์สติวพิเศษ (Online Education and Special Lecture) จับมือกับ Future Skill แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ทันสมัยที่สุด เป็นพันธมิตรด้านการคัดสรรเนื้อหา จัดคอร์สเรียนออนไลน์ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ด้าน AI ให้แก่ผู้สมัครทั้ง 660 คน พร้อมจัดสอบคัดเลือกทั้งด้านทักษะและแรงบันดาลใจ เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมต่อยอดทักษะในค่ายจริงอย่างเข้มข้น จำนวน 40 คน
2.การเรียนรู้สร้างสรรค์ผลงานจริงและนำเสนอไอเดีย (Project & Pitching) แบ่งกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มละ 4 คน รับมอบโจทย์ปัญหาจริงจากพันธมิตรภาคธุรกิจใน 4 กลุ่มโจทย์ปัญหา ได้แก่ 1.การปฏิบัติการ (Operation) 2.การตลาด (Marketing) 3.ทรัพยากรบุคคล (HR)
และ 4.การดูแลหลังการขาย (Contact Center) เพื่อเรียนรู้ทักษะด้าน AI และด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมทั้งสร้างสรรค์ไอเดียผลงาน AI เพื่อแก้ไข Pain Point ในโจทย์ปัญหาที่ได้รับ โดยมีพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI (Mentor) คอยให้คำแนะนำแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด ล่าสุด ได้เริ่มกิจกรรมนี้แล้ว และจะมีการนำเสนอไอเดียผลงาน AI และแข่งขันกันในช่วงปลายเดือน ต.ค. 66
3.การบูรณาการวิธีสร้างสรรค์ AI ผ่านปรัชญาการเล่นหมากล้อม (Creative AI Convergence by Go Philosophy) ขัดเกลาเยาวชนผ่านการเรียนรู้ด้วยหมากล้อม เพื่อช่วยให้เยาวชนมองภาพกว้างมากขึ้น โดยหมากล้อมถือเป็นเสน่ห์ของเครื่องมือในการเรียนรู้ ที่ช่วยฝึกให้เยาวชนเป็นนักจัดการที่ดีอีกด้วย
“เยาวชนจะได้ฝึกการนำ Image Recognition และ Image Processing มาใช้ประโยชน์ให้ AI ช่วยเรียนรู้และระบุรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้รับโจทย์มา เช่น ให้ AI ให้คะแนนความสะอาดในภาพ เพื่อช่วยตรวจงานระบบทำความสะอาด ได้ฝึกใช้แพลตฟอร์ม Natural Language Processing ต่างๆ
รวมถึง ChatGPT ซึ่งกลายเป็นกระแสขึ้นมาในปีนี้ เราคาดว่าค่ายครั้งนี้เป็นพื้นที่ยกระดับความสามารถ และเป็นพื้นที่ปล่อยของ ให้เยาวชนได้โชว์ไอเดีย โชว์ศักยภาพการนำ AI มาต่อยอดเป็นแอปพลิเคชันช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง” ป๋วย กล่าว
ดร.เอกสิทธิ์ เพิ่มพูนพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Vekin ผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning ในฐานะ Mentor กล่าวว่า น้องๆ ทั้ง 40 คนที่ผ่านการคัดเลือก มีพื้นฐานด้าน AI กันอยู่แล้ว หลายคนเข้าใจภาษาอังกฤษ เข้าใจ AI เข้าใจมุมมองทางธุรกิจ เหลือแต่วิธีการปรับใช้ ว่าจะใช้วิธีไหนไปตอบโจทย์ภาคธุรกิจ
ทีมงานของบริษัทจะคอยช่วยเสริมทั้ง 1.ความรู้ด้าน AI 2.การปรับแนวคิดให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และ 3.ความอดทน โดยคาดหวังว่านอกจากเยาวชนจะได้ทักษะดังกล่าวแล้ว จะได้รับ Soft Skill ที่สำคัญอื่นๆ เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การจัดการคน ตลอดจนประสบความสำเร็จในโจทย์พัฒนา โปรเจกต์ ด้าน AI ที่ได้รับ
ด้าน ศรุต เฟื่องวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วม Creative AI Camp ปีที่ 6 กล่าวว่า ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมค่าย เพราะต้องการนำความรู้ความเข้าใจที่มีด้าน AI มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน และอยากได้ไอเดียใหม่ๆ จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทซอฟแวร์ต่างๆ รวมถึงอยากเห็นถึงความเป็นไปได้ด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“ตอนนี้เราได้เห็นรถยนต์ระบบขับเคลื่อนเอง หรือ Autonomous Car แล้ว เราเห็นเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ทำงานด้วย AI เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำงานในสายงานนี้ เพราะ AI เข้าใกล้ชีวิตเรามากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมตัวเอง และหาอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง” ศรุต กล่าว
ทั้งนี้ การจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 6 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในสายงาน AI มากกว่า 30 ราย แบ่งเป็น 1.กลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ไต้หวัน, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)
2.กลุ่ม Mentor และผู้สนับสนุนเครื่องมือ อาทิ บริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, The Sun Plex Engineering And Software Co., Ltd., Ambient19 Co., Ltd., Advantech Corporation (Thailand) Co., Ltd., บริษัท เวลเลียน ซอฟแวร์ จำกัด และ บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัดโดยมีทีมงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับ CEO และผู้ก่อตั้งของแต่ละองค์กรร่วมเป็น Mentor ด้วย
3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีระดับโลกและมาร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันองค์ความรู้ในนามส่วนตัว และ 4.กลุ่มผู้สนับสนุนโจทย์ปัญหา เป็นผู้คัดเลือกโจทย์น่าสนใจที่เผชิญจริงในภาคธุรกิจ
สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้ปณิธานองค์กร “Giving & Sharing” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1-2
ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนเป็น “คนพันธุ์ AI หัวใจโกะ” (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต