เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ แนะ CISO มองหาแพลตฟอร์มความปลอดภัยไซเบอร์ที่มี AI และระบบคลาวด์
“ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ แนะนำ CISO มองหาแพลตฟอร์มความปลอดภัยไซเบอร์ที่มี AI และระบบคลาวด์ สถิติพบประเทศไทยเป็นเป้าถูกโจมตี หน่วยงานรัฐ การทหารเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตี
บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยว่า องค์กรในประเทศไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์มากถึง 1,892 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (กรกฎาคม – ธันวาคม 2566) ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ระดับ 1,040 ครั้ง
โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจาก Threat Intelligence Report ล่าสุดของบริษัท เช็ค พอยท์ ซึ่งในรายงานได้พบว่า มัลแวร์แบบคริปโตไมเนอร์ (Cryptominer) และ บอตเน็ต (Botnet) เป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นแพร่หลายมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการโจมตีแบบฟิชชิ่ง (Phishing) การหลอกลวงรูปแบบต่างๆ และการปล้นทรัพยากร (Resource Hijacking)
นอกจากนี้ยังพบว่าการโจมตีเกิดขึ้นสูงสุดกับหน่วยงานภาครัฐ/ทหาร อุตสาหกรรมการผลิต และการเงิน/การธนาคาร ซึ่งมีการโจมตีมากถึง 5,789 ครั้งในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา
ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงกำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความถี่ของการโจมตีและลักษณะที่เปราะบางของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการโจมตีเหล่านี้อาจมุ่งเน้นไปที่การขโมยข้อมูลสำคัญ การรบกวนการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (CII) การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของ IoT รวมถึงการหลอกดูดเงินเป็นจำนวนมหาศาล และอื่นๆ อีกมากมาย
CISO ต้องมองหาการรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และระบบคลาวด์
ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า “องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย กำลังเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากลำบากอย่างมากในขณะนี้ โดยการโจมตีด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปริมาณการโจมตีกำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี”
“องค์กรต่างๆ จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อป้องกันการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น องค์กรต่างๆ จะต้องมีแพลตฟอร์มแบบบูรณาการที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างครอบคลุมเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย”
“โดยเฉพาะผู้บริหารในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทางด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับโครงสร้างเครือข่ายและความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (CISO) ต้องพยายามบริหารให้ผลิตภัณฑ์การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในองค์กร สามารถทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงภายในกลุ่มทั่วทั้งธุรกิจ ทุกผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่ายหลายราย นั่นคือแนวทางการป้องกัน ภัยคุกคามที่ดีที่สุดและเป็นวิธีเดียวที่จะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือผู้โจมตี”
“นอกจากนั้นแล้ว_CISO ต้องให้ความสำคัญกับ แพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และระบบคลาวด์ ที่สามารถป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ล่าสุด รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าของภัยคุกคามใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และต้องเป็นผู้นำในการสร้างความตระหนักเรื่องภัยไซเบอร์ในองค์กร”
“ทั้งหมดนั้น เป็นการช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยองค์กรของตนได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถปกป้องทรัพย์สินขององค์กรจากภัยคุกคามที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาได้ในปัจจุบัน”