Saturday, November 23, 2024
AINEWS

ChatGPT กระตุ้นการลงทุน AI เพิ่มขึ้น

ChatGPT

ผลสำรวจการ์ทเนอร์ เผยผู้บริหาร 45% ระบุตรงกันว่า ChatGPT กระตุ้นการลงทุน AI เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน องค์กร 70% อยู่ในช่วงของการสำรวจเทคโนโลยี Generative AI

าร์ทเนอร์ อิงค์ เผยผลสำรวจของผู้นำธุรกิจกว่า 2,500 ราย โดย 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ความร้อนแรงของ ChatGPT กระตุ้นให้พวกเขาเพิ่มการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าองค์กรของตนอยู่ในช่วงของการสำรวจและศึกษาเทคโนโลยี Generative AI ขณะที่ 19% นั้นอยู่ในช่วงของการทดลองหรือในช่วงของการผลิต

ฟราสซิส คารามูซิส รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ความร้อนแรงของเทคโนโลยี Generative AI ไม่มีทีท่าลดลง โดยองค์กรต่างๆ กำลังขบคิดอย่างหนักว่าจะจัดสรรงบประมาณให้กับโซลูชัน Generative AI แค่ไหน จะเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใดถึงจะคุ้มค่า และจะเริ่มใช้งานจริงจังเมื่อใด รวมถึงเรียนรู้วิธีการลดความเสี่ยงที่มาพร้อมเทคโนโลยีนี้”

แบบสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดเว็บบินาร์ของการ์ทเนอร์ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2566 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,544 ราย ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของ ChatGPT และ Generative AI ในภาคองค์กร ซึ่งผลสำรวจนี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ข้อมูลระดับโลกหรือภาพรวมของตลาด

ผู้บริหารชี้ Generative AI มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

68% ของผู้บริหารเชื่อว่า Generative AI นั้นมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ซึ่งเมื่อเทียบกับเพียง 5% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่ามีความเสี่ยงมากกว่ามีประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้บริหารอาจเปลี่ยนมุมมองไปเมื่อลงทุนในระดับที่ลึกขึ้น

“ความกระตือรือร้นกับเทคโนโลยีใหม่ช่วงแรกๆ สามารถให้แนวทางกับการวิเคราะห์ที่เข้มข้นต่อความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ ของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ด้วยเหตุที่องค์กรต่างๆ มักจะพบกับคำถามด้าน ความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และจริยธรรม เมื่อพวกเขาเริ่มพัฒนาและนำเทคโนโลยี Generative AI มาใช้” คารามูซิส กล่าวเพิ่มเติม

ประสบการณ์ลูกค้าคือปัจจัยหลักของการลงทุนใน Generative AI

จากความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามถึง 38% ระบุว่าแม้จะมี อุปสรรคทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง แต่ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer experience) คือหัวใจหลักที่ผู้บริหารให้ความสำคัญสำหรับการลงทุนใน Generative AI โดยมีเพียง 17% ชี้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (Cost Optimization) เป็นเป้าหมายหลักที่เลือกลงทุน Generative AI

รูปที่ 1: เป้าหมายหลักของการลงทุน Generative AI (เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ที่มา: การ์ทเนอร์ (พฤษภาคม 2566)

หลายองค์กรที่เริ่มทดลองใช้ Generative AI และมีหลายแห่งนำไปใช้ในหลายกรณี อาทิ ใช้ปรับปรุงเนื้อหาในสื่อหรือสร้างโค้ด แม้ความพยายามเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ Generative AI ยังมีศักยภาพอีกมากที่สนับสนุนหรือรองรับการพัฒนาโซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสามารถของมนุษย์หรือเครื่องจักร รวมถึงช่วยปรับการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทางไอทีให้เป็นแบบอัตโนมัติ

“ธุรกิจรูปแบบขับเคลื่อนเองอัตโนมัติ หรือ Autonomous Business คือก้าวถัดไปครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สามารถลดผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และแม้แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดย CEO และ CIO ที่ใช้ Generative AI ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตลอดทั่วทั้งโมเดลผลิตภัณฑ์และโมเดลการดำเนินธุรกิจจะพบกับโอกาสการเติบโตของรายได้อย่างมหาศาล”