
“ครม.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ไซเบอร์ฯ แบงก์-เครือข่ายมือถือ ร่วมรับผิดเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลดความเสียหายให้พี่น้องประชาชน เพิ่มโทษสูงสุดปรับ 5 ล้านบาท จำคุก 5 ปี
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงาน DATA PRIVACY DAY 2025 หรือวันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (พ.ศ. 2566)
ซึ่งรัฐบาลพบว่า ประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60-70 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ พ.ร.ก.ไซเบอร์ฯ ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมออนไลน์ระหว่างบุคคล (P2P), อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ซึ่งเหล่านี้คือ เหตุผลความเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลดความเสียหายให้พี่น้องประชาชน โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ใน 5 ประเด็น คือ
1.กำหนดความรับผิดชอบร่วมของสถาบันการเงิน เครือข่ายมือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
2.กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่ระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทันที
3.การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้โดยเร็ว
4.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกัน และตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระบบของตน
และ 5.เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม
ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดโทษเพิ่มเติมสองลักษณะ คือ เปิดเผยแบบส่งต่อ และเปิดเผยแบบขายข้อมูล ซึ่งโทษจะหนักเบาต่างกัน โทษสูงสุดปรับ 5 ล้านบาทต่อหนึ่งกระทง ส่วนโทษจำคุก 5 ปี
และจะเข้ามาแก้ปัญหา การดึงเงินคืนให้ผู้เสียหายจากเดิมที่ใช้เวลาปีกว่าๆ จะเหลือ 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี หรืออาจจะคืนได้ทันทีในการดึงเงินคืนกลับมาให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะหากผู้เสียหายยืนยันข้อมูลได้ตรงกับบัญชีก็จะคืนได้ทันที จากเดิมที่ต้องผ่านกระบวนการศาล และมีการฟ้องร้องเสียก่อน
โดยที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติในหลักการและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่าง พ.ร.ก.ไปพิจารณาปรับรูปแบบ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณาสำหรับร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้หลัง ครม.เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกา ระบุว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือน ก.พ.นี้
รองนายกฯ กล่าวเพิ่มว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการ อีกทั้งยังมีมาตรการอื่นอีก เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศในการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน
Featured Image: Image by freepik