Tuesday, December 3, 2024
NEWS

บราเดอร์ สานต่อโครงการรักษาและฟื้นฟูป่าชายเลน ปีที่ 15

บราเดอร์ สานต่อโครงการรักษาและฟื้นฟูป่าชายเลน ปีที่ 15 ลงพื้นที่คลองโคน สมุทรสงคราม ร่วมฟื้นฟูและรักษาป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทย

ราเดอร์ (Brother) ผู้นำนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ เดินหน้าสานต่อกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน จับมือพันธมิตรจัดโครงการ “บราเดอร์ อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน” ครั้งที่ 15

ลงพื้นที่ทำกิจกรรมปลูกต้นโกงกาง บนพื้นที่ป่าชายเลน ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม คาดหวังเพิ่มอัตรารอดของป่าชายเลนปลูกใหม่ 70%-80% และสร้างออกซิเจนให้ได้ 91,000-104,000 ปอนด์ หรือ 40,950-46,800 กิโลกรัม/ปี เผย 14 ปีที่ผ่านมา หวังพัฒนาวงจรชีวิตทางธรรมชาติให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน

กิจกรรมจัดขึ้นที่ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน จ.สมุทรสงคราม ได้รับความสนับสนุนอย่างดียิ่ง จากคณะผู้บริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ พรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและการบริหาร รัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า ร่วมด้วยตัวแทน ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน ตลอดจนพนักงานจิตอาสา และพันธมิตรกว่า 120 คน ร่วมกิจกรรม

ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในพันธสัญญาที่สำคัญของ บราเดอร์ กรุ๊ปและ บราเดอร์ (ประเทศไทย) คือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Brother Commitment to Environment) นั่นคือ

เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในการดำเนินงานทุกมิติ และมุ่งมั่นปฏิบัติตามนโยบาย Brother Group Environmental Vision 2050 ที่จะร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (CO2 Emission) ตลอด ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานอย่างเข้มข้นในโรงงานของบราเดอร์ทั้งในประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เช่น การติดตั้ง Solar panel การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (ResourceCirculation) รวมไปถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (BiodiversityConservation)ที่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล เราจึงจัดทำโครงการการป้องกันการกัดเซาะทางชายฝั่ง และเพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ จึงเป็นที่มาของโครงการปลูกป่าชายเลนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง”

“สำหรับ เป้าหมายการสร้างความยั่งยืน เรามุ่งเน้นการดำเนินงานที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้แนวคิด At Your Side นั่นคือ บราเดอร์มุ่งมั่น ให้ลูกค้า และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของเราทุกคน ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งต้องช่วยเหลือสังคม และปกป้องโลกของเราด้วย

โดยการดำเนินงานแบ่งออกเป็น กลยุทธ์ระยะกลาง 2030 ที่เราตั้งเป้าการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% พยายามลดการใช้พลาสติกใหม่ให้น้อยที่สุด และนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และการส่งเสริมผู้บริโภคให้เกิดการใช้ซ้ำของบรรจุภัณฑ์วัสดุการพิมพ์ เพื่อลดขยะปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น

“และกลยุทธ์ระยะยาว 2050 เราจะร่วมสร้างให้เกิดสังคม Decarbonization  เพื่อบรรลุการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ แล้วหันมาใช้พลังงานธรรมชาติทดแทน ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์บนโลกให้สมบูรณ์ที่สุด” นายธีรวุธ ยังเผยด้วยว่า การทำ CSR ของบราเดอร์จะมีทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และ ชุมชนท้องถิ่น

โดยที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและได้รับการตอบรับและมีส่วนร่วมของพนักงานและพันธมิตรของเราเป็นอย่างดี เช่น ในเรื่องของชุมชนท้องถิ่น เรามีการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม CSR ย่อยที่มีการดำเนินงานไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยพนักงานสามารถริเริ่มแล้วนำเสนอได้

ด้าน พรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและการบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการ บราเดอร์ อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน” ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 แล้ว “เราได้ริเริ่มจัดโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก และที่สำคัญต้องมีความต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

“เราได้มีการปรึกษาการดำเนินงานกับชุมชนเจ้าของพื้นที่ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกจะมีอัตราการรอดและสามารถเติบโตเต็มที่ 70% – 80% ของจำนวนต้นไม้ที่ปลูกทั้งหมด และสร้างออกซิเจนให้ได้ 91,000-104,000ปอนด์ หรือ 40,950- 46,800 กิโลกรัมต่อปี

ซึ่งตลอด 14 ปี ที่ผ่านมา โครงการ“บราเดอร์ อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน” ได้มีการลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม สามารถคืนประโยชน์แบบองค์รวมกลับสู่ทั้ง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันเป็นฐานรากสำคัญ ที่จะนำพาธุรกิจและสังคม ให้สามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”

พรภัค ยังเล่าถึงการเตรียมการก่อนกิจกรรมจะมีการปรึกษาชุมชนท้องถิ่น  ทั้งพันธุ์ไม้ที่แนะนำ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะต่างชนิดกัน ซึ่งส่งผลต่ออัตราการรอดของต้นไม้ เช่น ต้นลำพูเหมาะกับบริเวณแนวตลิ่งที่พื้นที่เป็นดินเลนปนทราย ขณะที่ โกงกาง จะเหมาะกับพื้นที่ดินเลนมีน้ำท่วมถึงอยู่อย่างสม่ำเสมอ

สำหรับศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน อยู่ที่อำเภอคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 โดย ไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ หรือผู้ใหญ่ชงค์ กับชาวคลองโคน ได้ร่วมกันปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลคลองโคน หลังจากป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลายอย่างหนัก เพื่อทำนากุ้ง จนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ร่อยหรอลง อาชีพประมงพื้นบ้านของคนในพื้นที่ ที่ทำกินกันมาตั้งแต่โบราณก็ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อีก

เมื่อมีการปลูกป่าชายเลนซ่อมแซมและชดเชยอย่างจริงจัง จนป่าชายเลนในตำบลคลองโคนเริ่มฟื้นสภาพอีกครั้ง นอกจากนี้ การที่ ศูนย์ฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทอดพระเนตรเห็นความสำคัญของการปลูกป่าชายเลนคลองโคน

โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมปลูกป่าด้วยพระองค์เองหลายคราว (พ.ศ. 2540, 2541, 2542, 2545    และ 2547) ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนคลองโคนกลับฟื้นขึ้นมาเขียวขจีอีกครั้ง

“โดย บราเดอร์ อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนในครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 15 เราตั้งเป้าจะปลูกป่าในพื้นที่รวม 2 ไร่ จำนวน 500 ต้น ในพื้นที่แปลงปิด ซึ่งต้นไม้ทุกต้นจะได้รับการดูแลโดยชุมชนโดยรอบของพื้นที่ จึงนับเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บราเดอร์ และชุมชน ซึ่งมีพนักงานจิตอาสา และองค์กรพันธมิตร เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 120 คน” นายพรภัคกล่าว

ขณะที่ รัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า “บราเดอร์ ถือว่า CSR เป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมธุรกิจ คู่แข่ง ชุมชนและสิ่งแวดล้อม พนักงานของเราได้ยึดถือปฏิบัติในทุกภาคส่วน และเป็นความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยด้านการตลาด ส่วนบริการลูกค้า (CS) หรือ ฝ่ายขายทุกคน

เช่น ในส่วนงานการบริการ กระบวนการตั้งแต่รับเครื่องเข้าซ่อม จนเสร็จสิ้นกระบวนการซ่อม เราจะออกแบบกระบวนการให้สอดคล้องกับ CSR ในทุกกระบวนการที่เป็นไปได้ ลูกค้าที่นำเครื่องเข้าซ่อม จะได้รับการแนะนำ การดูแลเครื่องเพื่อให้ใช้ได้อย่างยาวนาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากซ่อม เราจะดำเนินการแยก และ ฝังกลบทำลายอย่างถูกต้อง ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า ทุกๆ เครื่องที่ใช้งาน ท่านได้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ โครงการ “บราเดอร์ อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน” ได้รับประกาศนียบัตรNIJUUMARU” PROJECT ระดับ Double circle จาก International Union for Conservation of Nature (IUCN-J) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเลิศในการดำเนินโครงการ Mangrove Forest อย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

และสร้างสมดุลวงจรชีวิตในระบบนิเวศน์ป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งประกาศนียบัตรดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่รวมพลังสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการที่ดียิ่งขึ้นในทุกปี ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบราเดอร์ได้เป็นอย่างดี