“BIZCUIT Solution แนะจับตา 5 เทรนด์ จุดเปลี่ยน GenAI ปี 67 ธุรกิจต้องตื่นตัวเร่งเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ต่อยอด เปิดทริคนำ AI ไปใช้ในองค์กรให้มีความคุ้นเคย
บิสกิต โซลูชั่น ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยี AI เปิดเผยถึงเทรนด์ของ GenAI มาแรง ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการนำไปใช้ ภาคธุรกิจ ต้องตื่นตัว เร่งเรียนรู้ และประยุกต์ใช้ต่อยอด
รวมถึงยังได้เปิดเผยถึงทริคการนำ AI ไปใช้ในองค์กรให้มีความคุ้นเคย สร้างแต้มต่อทางธุรกิจ ช่วยย่นเวลาการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย
สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด หรือ BIZCUIT Solution เปิดเผยว่า “Generative AI หรือ GenAI ยังเป็นกระแสที่มาแรงที่สุดในปีนี้ ส่งผลภาคธุรกิจและองค์กรตื่นตัวเรียนรู้ หาแนวทางนำมาประยุกต์ใช้ ยกระดับศักยภาพธุรกิจอย่างมาก เพื่อไม่ให้ถูกเทคโนโลยีดิสรัปชันอีกครั้ง”
“นับตั้งแต่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT ที่สามารถพูดคุยได้ใกล้เคียงมนุษย์ และมีความรอบรู้ รวมไปถึง Midjourney ปัญญาประดิษฐ์สายภาพประกอบที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา ให้คนได้ลองสร้างภาพด้วย AI สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งโลก และตั้งตารอการที่ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์”
แต่ในขณะที่บางส่วนยังคงมีความกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในขณะที่ BIZCUIT Solution มองว่าในปี 2567 นี้ GenAI กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกระดับ ซึ่งจะกระทบต่อการนำ GenAI มาใช้
5 เทรนด์ที่ควรจับตามอง
1. More Open Source AI: ในปีที่ผ่านมา บริการ GenAI ถูกพัฒนาจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และมีค่าใช้จ่าย เมื่อใช้งานปริมาณมาก ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงยิ่งขึ้น หากไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ก็จะไม่สามารถใช้ให้เกิดความคุ้มทุนได้
ในครึ่งปีหลังของปี 2566 ที่ผ่านมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กระโดดลงมาทำ GenAI และมุ่งหวังให้เป็น AI แบบ Open Source ให้ผู้พัฒนาสามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อได้อย่างอิสระ อย่าง Meta เจ้าของ Facebook ที่ทำ Open Source Language Model อย่าง Fast Text ให้ทั้งโลกได้นำไปขยายผลต่อมาแล้ว
และจะมาในรูปแบบของบริการที่ผู้พัฒนาอิสระต่างๆ นำไปต่อยอดจากเทคโนโลยี Open Source เหล่านี้ภายใต้บริการของตนเอง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดปริมาณการใช้งาน GenAI แบบก้าวกระโดดในปี 2567
2. Multimodal GenAI: การสร้าง AI แบบ Multi Modal จะสอน AI ด้วยภาพ ตัวอักษร เสียง หรือ แม้แต่อุณหภูมิ พร้อมๆ กัน AI ที่ถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลหลายประเภท จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ AI ประมวลผลหาคำตอบด้วยบริบทของข้อมูลหลายมิติ
ไม่ใช่แค่ข้อมูลประเภทใดประเภทหนึ่ง เหมือนที่ ChatGPT หรือ Google Bard ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Gemini ในปัจจุบัน ต่างถูกสอนด้วยข้อมูลที่เป็นตัวอักษรเพียงอย่างเดียวก่อนหน้านี้ โดย AI ในสาขา Computer Vision นั้นต่างเริ่มสร้าง AI ด้วยวิธี Multi Modal นี้มาระยะหนึ่งแล้ว
3. AI Governance: ในปี 2567 นี้ จะมีความชัดเจนทั้งในแง่ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการมีข้อบังคับเหล่านี้ โดยกฎระเบียบ ข้อบังคับ ผลทางกฎหมายของการนำ AI ไปใช้ หรือการได้มาซึ่ง AI จะมีการพัฒนาและมีผลบังคับใช้ที่ชัดเจนขึ้น
ซึ่งในปี 2565 – 2566 ต่างเห็นข้อพิพาททางกฎหมาย การคว่ำบาททางธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจากการนำ AI ไปใช้หลายกรณี แต่ทั้งหมดยังไม่มีกฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวกับ AI โดยตรง
4. AI Enhanced Work Force: สิ่งที่กำลังจะได้เห็นกันในปี 2567 คือ การที่แต่ละสาขาวิชาชีพจะถูกเพิ่มศักยภาพแบบก้าวกระโดดด้วย AI โลกเคยพบกับการก้าวกระโดดในผลผลิตของสายการผลิตด้วยการนำหุ่นยนต์มาช่วยมนุษย์มาแล้ว และสิ่งที่กำลังจะเห็นในอนาคตคือ AI จะมาช่วยอาชีพต่างๆ ในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพ
เช่น พนักงานดูแลลูกค้าหาคำตอบในเรื่องของการช่วยลูกค้าคำนวนเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าให้ได้ในไม่กี่วินาที อัยการใช้เวลาในการเขียนสำนวนน้อยลงโดยมี AI ช่วยเข้าไปดูประมวลกฎหมายและร่างสำนวนให้ หรือ บริษัทโฆษณาใช้เวลาในการสร้างชิ้นงานโฆษณาเพื่อไปเสนอลูกค้าที่สั้นลงโดยให้ AI สร้างตัวอย่างขึ้นมาก่อน
ดังนั้นมนุษย์จำเป็นจะต้องเรียนรู้การใช้งาน GenAI เช่นเดียวกับการเรียนรู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องพิมพ์ดีด จากการเก็บข้อมูลของ CBINSIGHTS เงินลงทุนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ถูกทุ่มให้กับการพัฒนา AI เพื่อเป็นผู้ช่วยของมนุษย์
5.Deep Science Powered by AI: AI กำลังเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการแพทย์ ในเรื่องของพันธุกรรม ไปจนถึงการคิดค้นยาใหม่ๆ หรือด้านวัสดุศาสตร์ (Material Science)
ที่ AI ชั้นนำอย่าง GNoME ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Deep Learning สามารถสร้างแนวคิดของวัสดุรูปแบบใหม่มากถึง 380,000 รายการ เทียบเท่าการที่มนุษย์ต้องใช้เวลากว่า 800 ปีในการทดลอง ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์จะมีวัสดุที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ ที่สามารถนำมาผลิตเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
แนะนำทริคการเริ่มใช้ AI ในองค์กร
สุทธิพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคที่ GenAI สร้างแรงกระเพื่อมต่อทุกธุรกิจ ธุรกิจควรตื่นตัว นำเทรนด์ที่เกิดขึ้นไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร ซึ่งตัวเลือกของ AI และต้นทุนในการใช้บริการจะมีความหลากหลายมากขึ้นหลายเท่าตัว
องค์กรวันนี้ควรหันมาสร้างความคุ้นชินกับการนำ AI หรือ GenAI มาใช้ใน work flow ขนาดเล็กในองค์กร เพื่อจะได้ทดลองปรับตัวและควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะเริ่มทดลองทำให้การใช้ AI กลายเป็นเรื่องปกติในองค์กร โดยมีเครื่องมือในชีวิตประจำวันมากมายที่มี AI ติดตั้งมาอยู่ในตัวบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
เช่น การค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็สามารถถามจาก AI แทนการค้นหาแบบปกติได้ ทั้งจากค่าย Microsoft อย่าง Bing หรือ ค่าย Google อย่าง Gemini ฝึกพิมพ์สร้างคำถามป้อน AI ก่อนการถามหาคำตอบจากคนรอบข้าง เพื่อฝึกทักษะการใช้ Prompt
ซึ่งเป็นข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อให้ AI สร้างเนื้อหา หรือคำตอบตามที่กำหนด เพื่อให้สามารถสั่งงาน AI ได้ตรงกับความต้องการ โดยเมื่อ Open Source GenAI มีความแพร่หลายมากขึ้น จะยิ่งมีเครื่องมือมาให้ใช้มากขึ้น ซึ่งผู้ที่คุ้นเคยก็จะมีข้อได้เปรียบในการสร้าง Productivity ให้กับองค์กรได้ดีกว่านั้นเอง