เบื้องหลังเสถียรภาพของแอปฯ myAIS ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โอเพ่นซอร์ส
“เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สเป็นตัวช่วยให้เอไอเอส ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลได้ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ Cognitive Telecom สามารถสร้างบริการได้แบบ end to end
การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับความท้าทายต่างๆ ท่ามกลางความต้องการสินค้าและบริการดิจิทัล ที่ต้องมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามเทศกาล หรือตามแรงเหวี่ยงของโปรแกรมการตลาด เช่น การเข้าใช้งานแอปพลิเคชันพร้อมๆ กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในช่วงเวลาจำกัด หรือช่วงสิ้นเดือน
ระบบไอทีและแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินการ จึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าในทุกมิติ การพิจารณาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นประเด็นสำคัญ
ซึ่งหลักการของโอเพ่นซอร์ส เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสินค้าและบริการดิจิทัลได้อย่างมีเสถียรภาพ อาทิ ความสามารถในการรองรับลูกค้าจำนวนมาก การสร้างความมั่นใจด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลให้กับผู้ใช้งาน
ตลอดจน โอเพ่นซอร์ส จะเป็นตัวเลือกสำหรับฝ่ายไอทีผู้ปฏิบัติงาน ให้สามารถลดโพรเซสและเวลาในการพัฒนาโปรแกรม แอฟพลิเคชัน ให้แนวทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการส่งมอบซอฟต์แวร์ ลดต้นทุนในการอัพเดตเวอร์ชันของซอฟต์แวร์ รวมถึงทำให้กระบวนการรักษาความปลอดภัยทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
บทความนี้นำประสบการณ์ตรงจาก ศุภชัย พานิชายุนนท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นส์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) กับการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สของเร้ดแฮท ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของบริษัท และลดปัญหาการบริการดิจิทัลบนแอปพลิเคชันของเอไอเอส
ศุภชัยร่วมงานกับ เอไอเอส มายาวนานกว่า 25 ปี ในสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน ออกแบบพัฒนาไอทีโซลูชัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ให้บริการโดเมนทางธุรกิจหลากหลายของลูกค้า องค์กรใหญ่ๆ ไฟเบอร์บรอดแบนด์ และหน่วยงานภายในของเอไอเอส
เป็นผู้นำการทรานฟอร์มด้านไอที การปรับระบบให้ทันสมัย และการใช้เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์กับแอปพลิเคชันที่รองรับปริมาณการใช้งานสูง นอกจากนี้เขายังสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี AI/ML และยกระดับความสามารถทางเทคนิคด้านไอทีให้กับองค์กร
“เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สเป็นตัวช่วยให้เอไอเอส ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลได้ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ Cognitive Telecom สามารถสร้างบริการได้แบบ end to end”
“การตัดสินใจใช้เทคโนโลยี โอเพ่นซอร์ส ช่วยให้สามารถสร้างบริการได้รวดเร็วทันตามเวลาที่ธุรกิจต้องการ นอกจากนั้นยังเป็นตัวเร่งให้สร้างนวัตกรรมอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น” ศุภชัย กล่าว
ความท้าทายของ แอปฯ myAIS
“ย้อนไปก่อนหน้า ปี 2020 ก่อนที่จะติดตั้งระบบโอเพ่นซอร์ส เอไอเอสประสบปัญหา ประสิทธิภาพการให้บริการแอปพลิเคชันเนื่องจาก ข้อจำกัดด้านความสามารถรองรับการเข้าใช้งาน (Capacity) แอปฯ พร้อมกันของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาล หรือช่วงที่มีการทำการส่งเสริมการตลาด”
“ปัญหาคือ เรื่องของเวิร์คโหลดที่ไม่สามารถขยายทันต่อความต้องการ และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นแบบเก่า Legacy System ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจ การให้บริการลูกค้า และการทำงานของทีมไอที”
“จึงตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส เพราะพิจารณาที่ฟังก์ชันและคุณสมบัติต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องสินค้าและบริการดิจิทัลของเอไอเอสได้ เป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานให้เกิดสินค้าและบริการที่เชื่อมต่อกันได้ และต้องมีความปลอดภัยต่อการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ลดขั้นตอนการทำงานและทำงานได้อย่างอัตโนมัติ” ศุภชัย กล่าว
“เอไอเอสเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ ไฮบริด คลาวด์ เพื่อรองรับในสองฟังก์ชันงานหลักคือ หนึ่ง กระบวนการภายใน และสองการบริการลูกค้า คือ แอปพลิเคชัน myAIS”
โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่การยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชัน และเสริมประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายไอที เพื่อที่จะสร้างบริการแบบเอ็นทูเอ็น ตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นหมายความว่า เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส จะต้องสามารถรองรับ เวิร์คโหลด กระบวนการปรับใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานเดิมไปสู่คลาวด์ (Containerization) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลได้
ลูกค้า ทีมไอที และธุรกิจ วิน
ศุภชัย กล่าวว่า “ผลของการเลือกลงทุนกับเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส ทีมไอทีสามารถพัฒนาแอปฯ และใช้งานได้เร็วขึ้นราว 2. เท่า มีเสถียรภาพของระบบมากขึ้น สามารถรองรับการเข้าใช้งานได้พร้อมๆ กัน โดยระบบสามารถเพิ่มความสามารถในการรองรับคนเข้าใช้งานแอปฯ พร้อมๆ กันจำนวนมากได้ภายใน 5 นาที”
“ถ้าพิจารณาที่การทำงานของฝั่งไอที พบว่า เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สช่วยให้กระบวนการออกเวอร์ชันใหม่ของซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน (Pipe line CI/CD) เป็นอัตโนมัติตลอดการพัฒนา การทดสอบ การผลิต และการตรวจสอบขั้นตอนของวงจรการพัฒนาซอฟต์แวร์”
“ฝ่ายไอทีของเอไอเอส จึงสามารถพัฒนาโค้ดคุณภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยสามารถลดกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที ลดต้นทุนในการอัพเดตเวอร์ชัน รวมถึงทำให้กระบวยการรักษาความปลอดภัยทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มาพร้อมกัน”
“การตัดสินใจย้ายระบบงานจากโครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิมหรือ Legacy System มาสู่ทางเลือกที่เป็นเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้เอไอเอส ก้าวสู่ Cognitive Telecom ตามเป้าหมายขององค์กร” ศุภชัย สรุป