Sunday, November 24, 2024
NEWS

BBIK กำไร 9 เดือนแรก นิวไฮ 217 ลบ.มั่นใจ Q4 โตแกร่ง หนุนภาพรวมปี 66 โตเกินเป้า 120%

บลูบิค กวาดรายได้ 9M/66 กว่า 941 ล้าน กำไรนิวไฮแตะ 217 ล้าน แย้ม Q4 โตแกร่ง มั่นใจ ผลประกอบการปี 66 โตเกินเป้า 120% YoY สวนทิศทางเศรษฐกิจขาลง

ริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิแตะ 217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ในขณะที่รายได้สูงถึง 941 ล้านบาท โต 122% YoY เป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริการหลักและแผนยุทธศาสตร์สร้าง Synergy ระหว่างบริษัทในเครือให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หนุนให้กำไรในไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ประจำปี 2566 กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทฯ อยู่ที่ 80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เป็นผลจากการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูงที่ 53% การควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง 4% และสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายได้ประจำงวดอยู่ที่ 335 ล้านบาท

และยังมีงานต่างประเทศที่รอรับรู้รายได้จากไตรมาส 3 ไปไตรมาส 4 อีกด้วย สำหรับมูลค่างาน Backlog (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566) อยู่ที่ 805 ล้านบาท แบ่งออกเป็นส่วนของบลูบิค 692 ล้านบาท และบริษัทร่วมทุน 113 ล้านบาท โดยเตรียมรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 นี้จากส่วนของบลูบิคมากกว่า 291 ล้านบาท และบริษัทร่วมทุนอีก 113 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 – 2571

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2566 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก จากปัจจัยลบที่ทวี ความรุนแรงตั้งแต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) และการลงทุน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่บลูบิคยังสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างมีเสถียรภาพตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา  และเชื่อมั่นว่าแนวโน้มไตรมาส 4 ยังดีต่อเนื่องจากกลุ่มบริการหลักทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่วนแบ่งกำไรที่แข็งแกร่งจากบริษัทร่วมทุน ที่จะหนุนให้ผลประกอบการทั้งปี 2566 โตเกินเป้า 120% ที่เคยวางไว้

“ความต้องการลงทุนด้านเทคโนโลยีของภาคธุรกิจยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์กรจำเป็นต้องรักษา  ขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเห็นโอกาสสร้างความแข็งแกร่งให้กับรายได้จากศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ด้วยแผนที่อาจเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

อาทิ White Label Platform บริการด้าน ERP Implementation และบริการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่ครอบคลุมมากขึ้น ตั้งแต่การป้องกันจนถึงการรับมือกับเหตุการณ์ภัยคุกคามเป็นต้น” พชรกล่าว

บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผลประกอบการของบลูบิคยังคงสดใสต่อเนื่องในปี 2567 เป็นผลจากจุดแข็งด้านบริการครบวงจร  ที่ครอบคลุมความต้องการของภาคธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และการรุกขยายตลาดที่มีศักยภาพในต่างประเทศ  อย่างอุตสาหกรรมการเงินของประเทศเวียดนาม ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตจากดิจิทัลดิสรัปชัน

รวมถึงประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่มีความตื่นตัวด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยบริการหลักที่พร้อมตอบโจทย์ตลาดเหล่านี้ ได้แก่ บริการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery) บริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting) และบริการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity)

นอกจากนี้ บริษัทฯ เปิดเผยว่ายังมีปัจจัยบวกอื่น ๆ ที่จะเสริมแกร่งให้การเติบโตในปี 2567 เป็นไปตามแผน ได้แก่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเต็มปีของบริษัท บลูบิค ไททันส์ จำกัด ที่ได้รับอนุมัติในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของบริษัท วัลแคน เดลิเวอรี่ จำกัด (VDD) ที่คาดว่าจะเพิ่มเติมเข้ามาในไตรมาส 4 ผนวกกับการเปิดดำเนินงานเต็มรูปแบบของสองบริษัทร่วมทุน

ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ซอส สกิลส์ จำกัด (Sauce Skills) ธุรกิจด้าน Corporate Training ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และบริษัท อีโคเอ็กซ์ จำกัด (EcoX) ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและ Green Tech ที่เตรียมเดินหน้าเต็มสูบในปีหน้า

“แผนยุทธศาสตร์สร้าง Synergy ระหว่างบริษัทในเครือที่แล้วเสร็จในปีนี้ จะสนับสนุนให้การเติบโตของบลูบิคเป็นไปอย่างแข็งแกร่งในปีหน้า ทั้งในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มบริษัทฯ จากการปรับปรุงระบบการดำเนินงานหลังบ้าน  การปรับเพิ่ม Utilization Rate ของพนักงาน

และการทำ Cross-Selling และ Up-Selling รวมถึงการส่งต่องานให้แก่กัน เพื่อรองรับขยายบริการไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการรักษาฐานลูกค้าเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถรองรับแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย” พชรกล่าวปิดท้าย