“สรุปประเด็นสำคัญจาก เวทีเสวนา The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH ที่ชี้ให้เห็นถึง วิวัฒนาการ FinTech ไทยและเอเชีย ตลอดจนการประเมินโลก FinTech ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
วันก่อนมีการพูดคุยเสวานาจากเวที The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH ที่ สยามพารากอน มีเรื่องน่าสนใจคือ วิวัฒนาการฟินเทคไทยและเอเชีย ตลอดจนการประเมินโลกฟินเทค ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
บนเวที มีผู้เชี่ยวชาญของวงการการเงินดิจิทัลมาร่วม แบ่งปันองค์ความรู้ อาทิ ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด, ไมเคิล ซุง จาก มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง, รูเบน ลิม ผู้บริหาร สมาคมฟินเทคสิงคโปร์
มีประเด็นที่น่าสนใจ CIO World Business ได้หยิบเอาบางส่วนมาถ่ายทอดดังนี้
การเกิดขึ้นของธนาคารเสมือนจริง
ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “ธนาคารเสมือนจริง จะเข้ามาลดช่องว่างและสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น”
“เมื่อโลกการค้าขายเป็นการซื้อขายออนไลน์ ผู้ขายจะสามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ทั้งหมดจากข้อมูลดิจิทัลที่รายละเอียดมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถนำเสนอรูปแบบบริการทางการเงินได้ตรงความต้องการของแต่ละคน สามารถผูกบริการทางการเงินร่วมกับสินค้าที่ต้องการ”
“บริการเช่นนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากธุรกิจที่เป็นธนาคารอย่างเดียว แต่สำหรับธุรกิจการค้าปลีกที่มีธนาคารดิจิทัลด้วยจะสามารถทำได้ ไม่ว่าผู้บริโภคจะจ่ายอะไรหรือซื้อสินค้าอะไร ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บและนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมได้หมด”
นั่น หมายความว่า โอกาสที่ผู้ค้าปลีกจะเปิดบริการธนาคารเสมือนจริงควบคู่ไปกับการขายสินค้า โดยใช้บิ๊กดาต้า เป็นตัวแปรกำหนดและแยกแยะความต้องการของลูกค้า ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีหรือต้นปีหน้า จะเริ่มเห็นบริการดังกล่าว
บล็อกเชน ตัวสร้างความไว้วางใจให้ระบบการเงินดิจิทัล
ด้าน ไมเคิล ซุง มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (ZIBS) กล่าวว่า “เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ โดยสามารถมองมันเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกระจายอำนาจการควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของโลกมารวมกันได้”
บล็อกเชนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งหมดบนระบบนิเวศบล็อกเชนอื่นๆ โดยในภาพรวมนั้น ตัวที่คอยควบคุมทิศ สนับสนุนหรือชะลอการเติบโตของโลกการเงินดิจิทัล
ก็คือ เทคโนโลยีด้านกฎระเบียบ (RegTech) โดยบล็อกเชนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของ RegTech
ยกตัวอย่าง สกุลเงินคริปโต มีมูลค่าอุตสาหกรรมมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ต้องมีกรอบการกำกับดูแล มีการดำเนินการทางด้านกฎระเบียบทางกฎหมายที่ชัดเจน เพราะสินทรัพย์หรือการเงินดิจิทัล คือ กระบวนการทางการเงินที่ไร้ขอบเขตของพรมแดนและภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศทางกายภาพ ซึ่งทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้น สามารถปลดล็อกสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ เช่น มูลค่าหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ต่างๆ
และนั่นคือสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ตอนนี้ โดยคณะกรรมการปฏิรูปหลักทรัพย์ของจีน หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ของจีน กำลังแปลงหุ้นและพันธบัตรทั้งหมดเป็นดิจิทัลและวางไว้บนบล็อกเชน เพื่อเขียนเส้นทางสายไหมใหม่สู่การเป็นผู้นำการเงินดิจิทัลของโลก และเชื่อมโยงเครือข่ายไปกว่า 230 ประเทศทั่วโลก พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่คือ Silk Road แบบดิจิทัล ซึ่งเป็นบล็อกเชนอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจ
เพิ่มประสิทธิผลของเงินขึ้นเป็น 3 เท่า
ด้าน รูเบน ลิม COO, สมาคมฟินเทคสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบัน ฟินเทค สามารถครองตลาดได้ทั้งหมด เนื่องจากเทคโนโลยีในภาคการเงิน ถ้าย้อนกลับไปในอดีตมีเพียง MasterCard, Visa และผู้คนที่มีความต้องการที่ยืดหยุ่น ทำให้แทบไม่มีโอกาสของการครอบงำตลาดได้เลย ซึ่งบริษัททางการเงินเหล่านี้มียอดการทำธุรกรรมหลายล้านล้านดอลลาร์ทุกวัน”
“ดังนั้นในบางแง่มุมก็นับว่าเป็นความสะดวกที่เพิ่มเข้ามาของเทคโนโลยีเช่นกัน และความสะดวกดังกล่าวนี้ก็ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย นั่นก็เพราะความสามารถของเทคโนโลยี
ในอดีต การทำธุรกิจหากต้องการชำระเงินผ่านธนาคารหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 วัน เพื่อรอรับเงินที่โอนจากธนาคารหนึ่งไปยังอีกธนาคารหนึ่ง แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว จะสามารถลดเวลาลงเหลือเพียงไม่กี่นาที และยังสามารถเพิ่มประสิทธิผลของเงินขึ้นเป็น 3 เท่าได้
เนื่องจากบล็อกเชนเข้าไปช่วยตัดกระบวนการบางอย่าง และเพิ่มความปลอดภัยในการบันทึกธุรกรรมแทน ทำให้ความเร็วในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น เงินก็จะมีสภาพคล่องให้กับธุรกิจมากขึ้น
โลกฟินเทค ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
แนวโน้มของ FinTech ในอนาคตจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก User centric มากขึ้น โดยมีสองเทรนด์ที่ตลาดต้องให้ความสำคัญดังนี้
เทรนด์แรกก็คือ การเงินฝังตัว (Embed Finance) แนวโน้มการลงทุนในการเงินแบบฝังตัวที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งการเงินแบบฝังตัวนั้นเป็นบริการทางการเงินโดยผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
ยกตัวอย่างเช่น การบริการรถสารธารณะอย่าง Grab หรือ Uber มีการธุรกรรมทางการเงินมากมาย ภายในแอปเหล่านั้น ดังนั้นในอนาคต จะได้เห็นการเงินแบบฝังตัวอยู่ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น และในอนาคตมันจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธนาคาร ในการสร้างความแตกต่างทางด้านบริการให้เกิดขึ้น
แน่นอนว่าในอนาคตผู้คนอาจจะไม่ไปธนาคารอีกต่อไป เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ อีกมากมายที่พร้อมจะโต้ตอบกับผู้บริโภคและนำเสนอบริการทางการเงิน ที่หลอมรวมเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นผ่านทางแอปพลิเคชัน
เทรนด์ที่ 2 คือ การจัดการข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ด้วยข้อมูลที่ในทุกวันนี้เป็นมากกว่าทองคำ ข้อมูลมีมูลค่าในตัวเอง ข้อมูลเหล่านี้นี้สามารถผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้
ดังนั้น ประโยชน์ของการแบ่งปันข้อมูลโดยได้รับความยินยอมแลกกับการรับบริการที่ดีขึ้น เมื่อรวมข้อมูลเหล่านั้นจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคสาธารณูปโภค ภาคโทรคมนาคม เข้าไว้ด้วยกันก็จะสามารถช่วยผู้คนในการวางแผนการเงินของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจาก 2 เทรนด์ดังกล่าวแล้ว ด้านเศรษฐกิจในอนาคตจะยากขึ้น การเข้าถึงการเงินจะเข้มงวดมากขึ้น ก่อให้เกิดแนวคิด ความยั่งยืน ก็มีความสำคัญ เพราะโลกของเรากำลังจะตาย ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อยๆ
และอีกแนวโน้มที่สำคัญคือ การขยายการธนาคาร ธนาคารไหนก็ตามที่สามารถจัดหาโซลูชันหรือฟังก์ชันของการให้บริการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะเป็นข้อได้เปรียบ และนั่นคือสาเหตุที่ธนาคารต่างๆ พยายามผลักดันขอบเขตของการให้บริการ ให้ขยายบริการออกไปให้ได้มากที่สุด
รวมถึงเพิ่มในส่วนของการให้บริการลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง ที่แต่เดิมจะต้องใช้ต้นทุนมากในการให้บริการ โดยธนาคารเหล่านี้จะหาวิธีลดต้นทุน แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยับไปสู่การเป็นธนาคารแถวหน้าของโลกต่อไปในอนาคต