Thursday, November 21, 2024
Apisith ChaiyaprasithArticlesColumnist

Clubhouse เครื่องมือขับเคลื่อนสังคมตัวใหม่ กับความเป็น พาหุสัจจะ (ตอนที่ 2 จบ) การใช้ Clubhouse กับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์

Clubhouse

สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสาร คือ การใช้ Clubhouse กับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ต้องพยายามสื่อกับสังคมทุกครั้งเมื่อมีบริการดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งการใช้แนวทางแห่ง พาหุสัจจะ จะเป็นเครื่องป้องกันและกรองสาระเอามาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้ยิน

ทความ Clubhouse เครื่องมือขับเคลื่อนสังคมตัวใหม่ กับความเป็น พาหุสัจจะตอนผ่านมา ได้เกริ่นนำถึง กระแสความแรงของ Clubhouse โดย อธิบายถึง รูปแบบการใช้งานของมัน ที่เข้ามาตอบโจทย์ชีวิตยุค NewNormal

Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่จะเน้นไปที่การใช้งาน Voice Chat หรือการพูดคุยด้วยเสียงเป็นหลัก ได้รับการออกแบบมาให้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

เป็นสูตรผสมระหว่างการโทรประชุมออนไลน์ การร่วมชุมชนเสมือนและการฟังวิทยุสดนั่นเอง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสร้างห้อง แล้วตั้งหัวข้อต่างๆที่ต้องการจะพูดคุย เพื่อให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามารวมตัวกันสำหรับการฟังเสวนาและถกเถียงประเด็นเรื่องต่างๆ

รวมถึงที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงเหตุผลว่า ทำไม Clubhouse ถึงเป็นกระแสได้โดยหนึ่งในปัจจัยคือ ความสดและการมีส่วนร่วมในการรับฟังบุคคลสังคมหรือผู้ที่เป็นกระแสในด้านต่างๆเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยม

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสาร คือ การใช้_Clubhouse กับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต้องพยายามสื่อกับสังคมทุกครั้งเมื่อมีบริการดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้น

การใช้ CLUBHOUSE กับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์
ผู้เขียน: อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านสื่อดิจิทัล อนุกรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับดาวเทียมและสื่อดิจิทัลเพื่อความมั่นคงของรัฐ คณะกรรมาธิการทหาร วุฒิสภาอาจารย์พิเศษบรรยายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ให้หลายสถาบันและหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ

เป็นเรื่องปกติแล้วครับสำหรับคำว่า Cyber Security หรือการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มันแทบเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องปกติของยุค Oceanof DATA เรื่องที่พึงระวังที่จะมากับภัยคุกคามแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ

การรุกล้ำ อธิปไตยไซเบอร์ หรือ ความเป็นเอกราชทางไซเบอร์ (Cyber Sovereignty) ของประชาชนในประเทศ ตลอดจนไปถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ (National Security)

ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง อธิปไตยไซเบอร์ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก

กรณีของ_Clubhouse นั้นใช้หมายเลขโทรศัพท์มากกว่าบริการสื่อสังคมออนไลน์อย่างอื่นมาก เพราะการลงทะเบียนต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น เทียบกับทวิตเตอร์ที่สามารถอีเมล์ได้

สิ่งที่ทำให้ Clubhouse_ต่างจากแอปพลิเคชันอื่นอย่างชัดเจนก็คือระบบการชวนเพื่อนในช่วงนี้ ผู้ที่จะชวนเพื่อนให้เข้าไปใช้งานได้จะต้องส่งรายชื่อติดต่อ (contact) ทั้งหมดให้กับ Clubhouse_และทาง_Clubhouse จะใช้หมายเลขติดต่อนี้แนะนำคนอื่นๆ ที่เข้ามาใช้งานให้เราไป follow อย่างต่อเนื่อง

ถ้าเปรียบเทียบการใช้งานกับแพลตฟอร์มต่างๆโดยมากจะอาศัยวิธีการ แนะนำคอนเทนต์ให้เพื่อนหรือผู้ติดตามของเราต่อเมื่อเรา “กระทำ” กับคอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม เช่นการกดรีทวีตหรือกดไลค์บนทวิตเตอร์, การคอมเมนต์หรือกดไลค์บนเฟซบุ๊ก หรือ YouTube Live ที่จะรู้ว่าใครดูวิดีโอใดต่อเมื่อแชตในระบบเท่านั้น

แต่กรณีของ Clubhouse_นั้น การกดเข้าไปร่วมฟังในห้องหนึ่งๆ จะเป็นการเปิดเผยว่าเรากำลังฟังทันที ผู้ที่ follow เราอยู่บน Clubhouse_จะเห็นว่าเราอยู่ในห้องใดบน timeline ของแอปพลิเคชัน รวมถึงผู้ร่วมห้องจะเห็นรายชื่อของผู้ที่ฟังในห้องอยู่ทั้งหมด

นอกจากนี้การที่ผู้ใช้ไม่เข้ารหัสหมายเลขผู้ใช้ และหมายเลขห้อง ทำให้อาจถูกดักฟังว่าฟังหรือพูดในห้องใดอยู่อันอาจส่งผลต่อการคุกคามตัวผู้ใช้ได้ในกรณีเนื้อหา ห้องนั้นสุ่มเสี่ยงต่อภัยคุกคามความมั่นคง

ตัวแอปพลิเคชัน_Clubhouse ใช้แพลตฟอร์ม Agora เพื่อกระจายเสียงไปยังผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้เข้าห้อง ตัวแอปจะเชื่อมต่อตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Agora โดยแพ็คเก็ตที่เชื่อมต่อนั้นไม่มีการเข้ารหัสข้อมูลการเชื่อมต่อ (metadata) ทำให้ผู้ที่สามารถดักฟังการเชื่อมต่อจะเห็นหมายเลขประจำตัวผู้ใช้ และหมายเลขห้องในแอปฯ ได้

และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากผู้ดักฟังสามารถเข้าฟังห้องเดียวกับเหยื่อที่ถูกดักฟังได้ก็จะรู้ว่าหมายเลขไอพีต้นทางของผู้พูดคือชื่อผู้ใช้ใดในแอป

นอกจากนี้ Clubhouse_จะมีการอัดเสียงเก็บไว้โดย Clubhouse_ประกาศในนโยบายความเป็นส่วนตัวระบุว่าจะเก็บเสียงของแต่ละห้องไว้ชั่วคราว เพื่อสอบสวนในกรณีที่มีการร้องเรียน (ซึ่งผู้ใช้ส่วนมากไม่เคยอ่านนโยบายดังกล่าวเลย) โดยทั่วไปแล้วไฟล์เสียงของแต่ละห้องจะถูกลบเมื่อห้องปิดตัวลงและไม่มีการร้องเรียนใดๆแต่หากมีการร้องเรียนในห้อง ทางแอปก็จะเก็บไฟล์เสียงไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

สิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ เป็นข้อพิจารณาในการใช้งานไม่ให้เกิดปัญหาได้ ถึงแม้ในระดับตัวบุคคลอย่างเราๆ อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงเพราะหลายคนอาจจะอัพโหลดรายชื่อติดต่อในทุกแอปแชตอยู่แล้ว แต่ก็ควรตระหนักว่าแอปฯ Clubhouse_ยังไม่มีตัวเลือกความเป็นส่วนตัวที่ละเอียดเท่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

และในกรณีที่มีการพูดคุยในเรื่องอ่อนไหวก็ควรตระหนักว่าแพลตฟอร์มยังมีประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ควรปรับปรุงอีกหลายจุด

อย่าลืมนะครับว่าทุกวันนี้ภัยอันเกิดจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง มันเป็น SoftPower เป็นช่องทางในการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations: IO) โดยการกระจายข้อมูลข่าวสาร เช่น ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การประชาสัมพันธ์ การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น

ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social media) ต่างๆทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยความรวดเร็ว ชั่วพริบตา และมีการแชร์ข้อมูลต่อๆกันไปอย่างรวดเร็ว สามารถส่งผ่านข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความคิดเห็น พฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้ใช้บริการได้โดยตรง

โดยที่ผู้ใช้บริการอาจไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และ Social media มากกว่ากลุ่มอื่น ทำให้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ และมีผลต่อการตัดสินใจของคนเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นผู้ที่จะสามารถใช้ Clubhouse_แพลตฟอร์มที่เป็นอีกหนึ่ง SoftPowertools ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสัมฤทธิ์ในทางสร้างสรรค์ ต้องเป็นผู้ที่เรียกว่า ”พาหุสัจจะ” แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก หมายถึงการได้ศึกษาเล่าเรียนมาก การมีความรู้ประสบการณ์มาก เรียกบุคคลผู้มีภาวะอย่างนั้นว่าพหูสูต คือผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากมาก ผู้มีความรู้มาก ผู้คงแก่เรียน นักปราชญ์ หนังสือบางฉบับเรียกว่า “หัวใจนักปราชญ์”

พาหุสัจจะ เกิดจากการศึกษา และการศึกษาที่ดีเกิดจากการศึกษาเบื้องต้นสุดของกระบวนการการศึกษาเรียนรู้ คือ ศึกษาด้วยการฟัง เข้าไปฟัง_Clubhouse ฟังด้วยสติ ฟังแล้วตรวจสอบด้วยความคิด คิดวิเคราะห์แยกแยะจริงเท็จถูกผิด ถ้าไม่แจ้งให้รู้แจ้งด้วยด้วยการสอบถาม และด้วยการจดจำบันทึกแล้วนำมาตรวจสอบอัพเดทความรู้อยู่เสมอ

และปิดท้ายด้วยการตระหนักรู้เท่าทันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วยคาถาบทหนึ่งที่ถือว่าเป็น หัวใจนักปราชญ์ คือ “สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถํโส ปณฺฑิโต ภเว” แปลว่า ผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร
สุ ย่อมาจาก สุต (จาก สุ ธาตุ) แปลว่า ฟัง, ได้ยิน
จิ ย่อมาจาก จินฺต (จาก จินฺตฺ ธาตุ) แปลว่า คิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฺฉา (จาก ปุจฺฉฺ ธาตุ) แปลว่า ถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต (จาก ลิขฺ ธาตุ) แปลว่า จด, เขียน

ขอให้มีความสุขกับการฟังสาระดีๆ จาก_Clubhouse เพื่อนำมาพัฒนาตนเองและสังคมครับ