“AIS 5G Business และพันธมิตรกลุ่มลูกค้าองค์กร โชว์ศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะสู่ Smart Factory ด้วยความสำเร็จของการใช้งานระบบหุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) มาใช้งานจริงบนแพลตฟอร์ม AIS 5G Private Network
หลังจากที่ AIS 5G Business เปิดตัวบริการและโซลูชันที่พร้อมให้บริการและเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานภาคการผลิต ด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้มีส่วนสำคัญต่อการเสริมขีดความสามารถในทุกกระบวนการทำงาน
ล่าสุดได้โชว์ความสำเร็จการสร้าง Smart Factory ที่เอไอเอส และสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ร่วมกันส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยโดยการพัฒนาโซลูชันบนเครือข่ายและแพลตฟอร์ม 5G ปลดล็อกขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตอบโจทย์การพัฒนา Industry 4.0 ของไทย
โดยเป็นความสำเร็จของ การใช้งานระบบหุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) ในโรงงานผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้าของ บริษัท ยาวาต้า จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการร่วมพัฒนาโซลูชันและวางระบบโดย บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ ผู้ให้บริการโซลูชันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม มาใช้งานจริงบนแพลตฟอร์ม AIS 5G Private Network
ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานภายในโรงงานสู่ Smart Factory ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยถือเป็นการขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ฝีมือคนไทย ที่พร้อมขยายการให้บริการและสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศรองรับโอกาสและการเติบโตในอนาคต
AIS 5G พาภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ 5G Industrial Solutions
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS อธิบายว่า “เราเห็นโอกาสของการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้วยการเป็น 5G Industrial Solutions ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของโครงข่าย 5G”
“ด้วยเป้าหมายสำคัญในการนำโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G เข้าเชื่อมต่อและส่งเสริมการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศในอนาคต ซึ่งวันนี้เรามีความพร้อมในการพาภาคอุตสาหกรรมไทยในทุกกลุ่มเข้าสู่โลกของ 5G Industrial Solutions”
“เราเห็นผลที่ชัดเจนจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชันในโรงงานอุตสาหกรรม ในการผลักดันโซลูชันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นจริง บนแพลตฟอร์ม 5G Private Network ซึ่งเป็นบริการเครือข่ายส่วนตัวสำหรับการใช้งานเฉพาะภายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม
และสามารถทำ Network Slicing เพื่อจัดสรรทรัพยากร ทำให้เกิดคุณสมบัติทางเครือข่ายรองรับความต้องการเฉพาะของแอพพลิเคชัน เช่น ความเร็ว หรือความหน่วงต่ำ”
“ซึ่งการออกแบบเครือข่ายเฉพาะนี้ ยังช่วยให้การเชื่อมต่อข้อมูลเป็นส่วนตัว แม้จะใช้เครือข่ายแบบไร้สาย ส่งผลให้การรับส่งข้อมูลมีความคล่องตัว มีความหน่วงในการทำงานต่ำ และมีความปลอดภัยของข้อมูลสูง จึงเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในตลาดลูกค้าองค์กรและกลุ่มอุตสาหกรรมของ AIS ซึ่งเชื่อว่าการทำงานร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยทำให้ Ecosystem ของผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพพร้อมรับโอกาสและการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
สมาคม TARA ช่วยหนุนผู้ประกอบการ
ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายต่อไปอีกว่า “ที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทยได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายทั้งภาครัฐ และเอกชน
โดยมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการวิจัย พัฒนาจนถึงการต่อยอดความร่วมมือเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะมาทำให้ขีดความสามารถในโรงงานภาคการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่”
“และในครั้งนี้เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับ AIS ที่เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีโครงข่ายและมีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ก้าวทันโลกของเทคโนโลยีด้วยโซลูชันและระบบการทำงานอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์ ที่จะมาช่วยให้กระบวนการทำงานในขั้นตอนต่างๆ ภายในโรงงานเกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้น”
“วันนี้ ผู้ประกอบการไทยในสมาคมได้ทำการวิจัย ค้นคว้า พัฒนา ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และโซลูชันที่ตอบโจทย์การทำงานของโรงงานผลิตที่หลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าเครือข่าย 5G ที่ AIS ได้พัฒนาขึ้นสามารถใช้งานได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์ ผ่านการทำงานร่วมกับ เลิศวิลัย ที่ได้นำโซลูชันเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตของโรงงานยาวาต้าที่ทำงานบนเครือข่าย 5G จึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมไทยที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เดินหน้าแข่งขันในตลาดโลกต่อไป”
Autonomous Mobile Robots เข้าแทนที่ Forklift Truck
บริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) เป็นบริษัทผู้ผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี ซึ่งบริษัทปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงงาน
และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยการใช้เทคโนโลยีและ 5G นี้ ยังได้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 100% ของวงเงินการปรับปรุงเป็นเวลา 3 ปี ตามมาตรการสนับสนุนจาก BOI ด้วย
หนึ่งในการปรับปรุงเครื่องจักร คือ การนำระบบหุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) เข้าใช้งานแทนระบบเก่าที่ใช้คนและรถขนย้าย (Forklift Truck) แบบเดิม โดยได้รับการพัฒนาหุ่นยนต์ และติดตั้งระบบ จาก บริษัทเลิศวิลัย แอนด์ ซันส์
ดร.กุลฉัตร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน จาก บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ กล่าวว่า “โซลูชันที่เกิดมาจากการพัฒนาโดยการสนับสนุนและทำงานร่วมกันจากทางสมาคมฯ และ AIS ได้เกิดการใช้งานจริงภายในโรงงานของยาวาต้า ซึ่งเป็นโรงงานผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างซับซ้อนในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบแต่ละจุด”
“จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบ Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติซึ่งต้องเคลื่อนที่อย่างอิสระในพื้นที่ทั้งหมดของโรงงานโดยไม่มีเส้นนำทางบนพื้นเหมือนระบบเก่า จึงต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่เสถียร มีความหน่วงต่ำ มีความปลอดภัยสำหรับการรับส่งข้อมูล และมีพื้นที่ครอบคลุมอย่างแท้จริงในโรงงาน”
“เมื่อนำมาใช้กับ AIS 5G Private Network ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความแม่นยำในการสั่งการ สามารถเพิ่ม Productivity ได้ตามเป้าหมายการเป็น Smart Factory เต็มรูปแบบ และเมื่อนำมาเทียบความคุ้มค่าของการลงทุน พบว่าระบบ AMR มีต้นทุนที่ถูกกว่าในระยะยาว”
Replacce Forklift Truck with AMR |
||||
AMR | Cost | Year1 | Year2 | Year3 |
1,500,000 | ||||
Forklift Truck | 1,000,000 | 1,000,000 | ||
1 driver (day/night) | 4000,000 | 4000,000 | 4000,000 | 4000,000 |
Total | 1,400,000 | 1,800,000 | 2,200,000 | |
ที่มา: บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ |
“อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโซลูชัน Smart Factory ซึ่งทุกองค์ประกอบ เช่น Robotics, AMR และ PLC ของระบบ IIoT จะต้องเชื่อมต่อกันผ่าน OT, IT และ Cloud ในรูปแบบ Everything Connected เพื่อเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมไทยให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของการทำงานมากยิ่งขึ้นได้”
ความแตกต่างที่ท้าทายของ 5G Private Network
ในการร่วมเป็นพันธมิตรสร้างบริการ 5G มีความท้าทายในหลายๆ เรื่อง ที่ทั้งสามหน่วยงานต้องเผชิญ โดยเฉพาะในขณะการปฏิบัติงานจริง โดย ดร.กุลฉัตร กล่าวในมุมของผู้วางระบบว่า “ในการทำ 5G Private Network ประกอบไปด้วยหลายๆ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นของความท้าทายอันเกิดจากอุปกรณ์เครือข่ายที่แตกต่างหลากหลาย ผู้วางระบบจะต้องหาวิธีการที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในท้ายที่สุดเราก็สามารถหาวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมอุปกรณ์เหล่านั้น จนเกิดเป็นองค์ความรู้”
ดร.ประพิณ เสริมว่า “สิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายในการร่วมพัฒนาโซลูชัน 5G เพื่อก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ คือวิสัยทัศน์และความร่วมมือตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการสร้างความพร้อมในการบริหารจัดการ มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง ยาวาต้า ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีต้องอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานในการติดตั้งระบบให้มากที่สุด เพื่อความสำเร็จร่วมกัน”
ขณะที่ ธนพงษ์ กล่าวว่า “เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย เห็นว่า การทำงานระดับองค์กรที่มีวัฒนธรรมต่างกัน เป็นความท้าทายที่แต่ละองค์กรต้องยอมรับความต่าง”
“เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การมองหาวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้จริง ลงมือวางระบบให้เร็วและมีประสิทธิภาพ คือความท้าทาย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่พาร์ทเนอร์ต้องมีความเชี่ยวชาญ ทำงานบนมาตรฐานต่างๆ สร้างองค์ความรู้ในการเชื่อมต่อ ความร่วมมือ ด้วยความสามารถของบุคลากร”
“ความท้าทายดังกล่าว เมื่อเราสามารถแก้ไขได้ก็เปลี่ยนไปเป็นองค์ความรู้ ซึ่งหมายความว่าการลงมือปฏิบัติกับโรงงานแห่งที่สองจะเร็วขึ้น เกิดความสามารถ ความชำนาญ นี่คือการให้บริการโซลูชัน 5G ที่ใช้ได้จริง”
ย้ำความปลอดภัย 5G สำหรับอุตสาหกรรม
เรื่องการรักษาความปลอดภัยในระบบ 5G ที่นำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น ธนพงษ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยกล่าวว่า “การรักษาความปลอดภัยเครือข่าย 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรม เอไอเอได้วางแนวทางไว้ 3 ชั้นด้วยกัน โดย ชั้นแรกคือ เครือข่ายหลัก 5G ที่เอไอเอสมีการคัดเลือกซัพพลายเออร์อุปกรณ์ 5G ที่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย 5G ระดับโลก ทำให้สามารถมั่นใจถึงอุปกรณ์เครือข่ายที่นำมาใช้งาน”
“ชั้นที่สองคือ ความปลอดภัยในการทำยูสเคส 5G ที่จะต้องเลือกพาร์เนอร์ที่มีนโยบายและมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยได้เกณฑ์มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยให้การเชื่อมต่อจากในเครือข่าย 5G ไปยังนอกเหนือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันอยู่ไม่ว่าจะบนคลาวด์ หรือเครือข่ายปลายทาง”
“ส่วนในชั้นที่สาม คือ เรื่องบริการด้านซีเคียวริตี้ ที่เอไอเอสจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์มาสร้างบริการด้านความปลอดภัยให้ลูกค้าองค์กร เป็นโซลูชันที่ให้บริการเสริมความมั่นใจด้านการรักษาความปลอดภัย ที่เอไอเอสสามารถให้บริการลูกค้าได้แบบเอ็นทูเอ็น” ผู้บริหาร กล่าวสรุป