Thursday, November 21, 2024
metaverseNEWSTechnology

แนวโน้มสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรตระหนัก หลังการเกิดของ Metaverse

Metaverse จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนโลกแห่งความจริงและโมเดลธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดแนวทางใหม่ต่อวิธีการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน

อคเซนเชอร์ เปิดเผยรายงานทิศทางเทคโนโลยีโลก Accenture Technology Vision ปี 2022 ในชื่อ Meet Me in the Metaverse: The Continuum of Technology and Experience Reshaping Business” ในรายงานเผยให้เห็นว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse Continuum) ที่จะแผ่กระจายครอบคลุมโลกแห่งความจริงและโมเดลธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดแนวทางใหม่ต่อวิธีการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน

โดยได้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจต่างแข่งขันกันเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่เคยออกแบบมาสำหรับธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีเสมือนจริงที่พัฒนามากขึ้น บล็อกเชน ดิจิทัลทวิน และเอดจ์คอมพิวติ้ง ต่างกำลังปรับตัวเข้ามาประสานกันหมด และจะพลิกประสบการณ์ของมนุษย์ในรูปแบบใหม่

เมตาเวิร์ส คือโฉมหน้าใหม่ของอินเทอร์เน็ต
Metaverse
ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย

ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรากำลังจะได้เห็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่แห่งการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ที่ไปได้ไกลกว่าในปัจจุบัน

ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของพวกเราไปโดยสิ้นเชิง มุมมองที่เรามีต่อเมตาเวิร์สท้าทายกับแนวคิดเดิมๆ และเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าเหตุใดองค์กรจึงต้องลงมือทำในวันนี้ หรือต้องปรับตัวให้ทำงานได้ในโลกที่ออกแบบใหม่นี้”

รายงานเอคเซนเชอร์ฉบับนี้ ส่วนหนึ่งได้ข้อมูลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านธุรกิจและเทคโนโลยีกว่า 4,600 คนจาก 23 อุตสาหกรรม ใน 35 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารทั่วโลก 71% มองว่าเมตาเวิร์สจะส่งผลในเชิงบวกต่อองค์กร และ 42% เชื่อว่า เมตาเวิร์สจะมีบทบาทต่อความความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

สำหรับผลสำรวจจากผู้บริหารไทยในรายงานฉบับเดียวกัน 72% มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเมตาเวิร์สจะส่งผลในเชิงบวกต่อองค์กร แต่มีเพียง 26% เท่านั้นที่เชื่อว่าเมตาเวิร์สจะมีบทบาทต่อความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ปฐมา กล่าวว่า “เมื่อเส้นแบ่งระหว่างชีวิตทางกายภาพและดิจิทัลของคนเราเลือนรางมากขึ้น องค์กรก็มีทั้งโอกาสและหน้าที่ในการสร้างเมตาเวิร์สอย่างรับผิดชอบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งรวมถึงประเด็นความเชื่อมั่น ความยั่งยืน ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงและใช้งานอย่างรับผิดชอบ และความหลากหลาย ซึ่งการลงมือทำและการเลือกขององค์กรในวันนี้ จะเป็นการปูทางไปสู่อนาคต”

“เมื่อมองถึงผลสำรวจของผู้บริหารในประเทศไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องไปกับผลสำรวจจากผู้บริหารทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความแตกต่างอยู่บ้างในผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารในไทยยังคงมีความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งอาจมีผลต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับธุรกิจขององค์กร”

“องค์กรจะต้องตอบคำถามสำคัญ 5 ข้อให้ได้เพื่อการปรับตัวรับกับโลกเมตาเวิร์ส เพราะมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของธุรกิจ นั่นคือ ธุรกิจจะโต้ตอบกับลูกค้าด้วยวิธีการอย่างไร? ธุรกิจจะมีจะทำงานในรูปแบบไหนอย่างไร? ธุรกิจจะนำเสนอสินค้าและบริการอะไร? ธุรกิจจะผลิตและแจกจ่ายสินค้าหรือบริการนั้นอย่างไร? จะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างไร?” ปฐมา กล่าวเสริม

Metaverse

รายงาน Technology Vision 2022 ระบุถึง 4 แนวโน้มสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรตระหนัก ได้แก่

1. โลกเมตาเวิร์ส (WebMe: Putting the Me in Metaverse)

กลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรที่พัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกดิจิทัลที่แพลตฟอร์มต่างๆ อาจจะไม่สามารถทำงานร่วมกันหรือโอนย้ายข้อมูลระหว่างกันได้สะดวก แต่เมตาเวิร์สและ Web3 มีความพร้อมในการกำหนดทิศทางของอินเทอร์เน็ตใหม่ โดยแทนที่จะเป็นคลังเพื่อรวมเว็บไซต์และแอปหลากหลายประเภท แต่จะมองไกลไปข้างหน้าด้วยการเป็นเมตาเวิร์สที่นำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อม 3 มิติต่อเนื่อง

ทำให้การย้ายจาก ที่หนึ่ง ไปยังอีก ที่หนึ่ง ทำได้ง่ายเหมือนเดินออกจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง และ 95% ของผู้บริหารก็เชื่อว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลในอนาคตควรนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเอกภาพที่สามารถทำให้ข้อมูลของลูกค้าในแพลตฟอร์มและพื้นที่ต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ

2. โลกที่กำหนดและปรับแต่งได้ (Programmable World: Our Planet, Personalized)

เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G, ambient computing, AR (augmented reality) และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ มีความสามารถที่ล้ำหน้ามากขึ้น สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลจะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างของโลกทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อรูปแบบการติดต่อสื่อสารและการมีส่วนร่วมของคนกับโลกในมุมต่างๆ

แต่ยังกำหนดนิยามของทุกอย่างในโครงสร้างนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนรับรู้สัมผัส โต้ตอบ และออกแบบชีวิตในนั้น ซึ่ง 92% ของผู้บริหารก็เห็นด้วยว่า องค์กรชั้นนำจะมีบทบาทขับเคลื่อนให้ขอบเขตของโลกเสมือนเข้ามาใกล้ความจริงมากขึ้น โดยต้องทำให้การเดินทางระหว่างโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น

3. โลกที่ไม่แท้จริง (The Unreal: Making Synthetic, Authentic)

ธุรกิจและสภาพแวดล้อมต่างๆ จะทำงานด้วยข้อมูลจาก AI มากขึ้น สะท้อนให้เห็นโลกทางกายภาพได้อย่างเสมือนจริง AI จึงมีความสำคัญมากที่สุดต่อธุรกิจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพราะทั้งองค์กรและผู้บริโภคมีมุมมองเปลี่ยนไป จากที่เคยเทียบของจริงกับของปลอม กลายเป็นการมองที่ความแท้ (authentic) ที่ไม่ใช่แค่ความแท้จากเนื้อหาและอัลกอริทึมขององค์กร

แต่รวมถึงตัวแบรนด์ทั้งหมดด้วย เมื่อโลกไม่แท้จริงกลายมาเป็นโลกจริง จึงถึงเวลาที่ธุรกิจต่างๆ ต้องเตรียมธุรกิจของตนให้พร้อม ซึ่ง 96% ของผู้บริหารก็ระบุว่า องค์กรของตนมุ่งมั่นในการพิสูจน์ต้นทางข้อมูลและการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

4. ประมวลผลได้แม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Computing the Impossible: New Machines, New Possibilities)

ความก้าวหน้าของอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถขยายขีดจำกัดของสิ่งที่คอมพิวเตอร์เคยแก้ปัญหาได้ เช่น เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้ง และการประมวลผลจากข้อมูลชีวภาพ (biology-inspired computing) ได้ช่วยให้ธุรกิจสามารถแก้ปัญหาจากเดิมที่หากใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบเก่า อาจจะมีราคาแพงเกินไป ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ลดระดับกลายเป็นกระบวนการทำงานที่เล็กลง ทำให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขัน การมอบคุณค่าให้ลูกค้า และการสร้างความร่วมมือระหว่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้บริหารเกือบทุกคน (94%) ก็เห็นด้วยว่า ความสำเร็จในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการใช้เทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่อาจจะเกินการควบคุมได้

ทิศทางการลงทุนเทคโนโลยีที่รับกับเมตาเวิร์ส

ปฐมา ให้ความเห็นว่า “ที่ผ่านมาเราเห็นองค์กรที่สามารถผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ คือองค์กรที่เปิดรับเทคโนโลยีมาใช้งาน เช่น คลาวด์ AI Blockchain สำหรับโลกเมตาเวิร์ส เทคโนโลยีที่มีความจำเป็นและจะสามารถทำงานสอดรับกับความต้องการได้นั้นประกอบด้วย”

“ประการแรก ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความชาญฉลาดมากขึ้น (Advanced AI) ที่จะต้องสามารถประมวลผลและทำงานด้วยอัลกอริธึมที่จัดการกับข้อมูลไร้รูปแบบ (Unmanage) ได้ ประการที่สอง อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices) ที่หลากหลายมากขึ้น จะเข้าผสมผสานกับเทคโนโลยีรอบๆ ตัว ทั้งการใช้ชีวิต การผลิต ตลอดจนการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบที่เชื่อมกับอินเทอร์เน็ต”

“ประการที่สาม เทคโนโลยีเพื่อการประมวลผลปลายทาง (Edge Technology) เพื่อรองรับการประมวลผลและตัดสินใจแบบ near realtime ข้อมูลต้องถูกประมวลผลใกล้แหล่งกำเนิด และประการที่สี่ การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง (Security) ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับข้อมูล และต้องคำนึงถึงความเสียหายจากโอกาสที่เสียไป หรือระบบที่ล้มเหลว มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อป้องกัน” ปฐมา สรุป

Featured Image: Virtual photo created by rawpixel.com – www.freepik.com