วิศวะ จุฬาฯ จับมือหน่วยงานรัฐฯ ทดสอบระบบ 5G เชื่อมต่อเทคโนโลยีรถรับส่งผู้โดยสาร ไร้คนขับ ยานยนต์แห่งอนาคต พร้อมเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยในการเดินทาง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดแพลทฟอร์มวิจัยและทดสอบระบบรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) โดยนำเทคโนโลยี CAV (Connected and Autonomous Vehicle) มาพัฒนาและทดสอบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการเปิดตัวรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปิดตัวรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับว่า ได้ร่วมกับหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พร้อมตัวแทนจากกรรมการบริหารของคณะฯ ดำเนินการทดสอบความสามารถของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ขณะขับขี่แบบไร้คนขับ เพื่อนำไปพัฒนาการควบคุมรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในอนาคต
ซึ่งรถประเภทนี้จะใช้รับส่งผู้โดยสารในช่วงต้นและท้ายของการเดินทาง (First-last mile) โดยเชื่อมต่อกับการเดินทางโหมดอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถเมล์และการเดินทางอื่นๆ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาและนำรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับมาให้บริการรับส่ง หรือเปิดให้บริการเรียกผ่านแอปไร้คนขับเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต
เทคโนโลยีรถไร้คนขับ ยานยนต์แห่งอนาคต เป็นหนึ่งใน 4 ส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ ที่ประกอบด้วย C-A-S-E กล่าวคือ Connected, Automated, Shared และ Electric vehicle ซึ่งถ้าเทียบกับส่วนประกอบอื่นแล้ว รถไร้คนขับต้องการความพร้อมและการผนวกรวมในระดับสูงสุด ของทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟ์ทแวร์และโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารและคมนาคม
ดังนั้นภายใต้โครงการการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถรับส่งโดยสารไร้คนขับนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อมาร่วมวิจัยและทดสอบระบบรถไร้คนขับในระดับต่างๆ
โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และ กทปส. ซึ่งในจุดเริ่มต้นนี้ทีมงานของโครงการเกิดจากความร่วมมือของคณาจารย์ภายในคณะวิศวฯจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของคณะ
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวต่อว่า อุบัติเหตุทางถนนมีโอกาสลดลงได้หากการพัฒนาเทคโนโลยีรถไร้คนขับประสบผลสำเร็จ การจัดทำการทดลองไม่ได้ช่วยแค่ควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่การทดสอบนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยในการเดินทางด้วย ซึ่งการทดลองนี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOB) เป็นศูนย์วิจัยบูรณาการแห่งแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีการศึกษาและพัฒนาด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยทางถนน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางขนส่งของสังคมผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการทดลองครั้งนี้ว่า ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility Research Center) มุ่งหวังให้แพลทฟอร์มรถไร้คนขับที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้เป็นแพลทฟอร์มกลางเพื่อให้นักวิจัยจากภาควิชาต่างๆ หรือแม้แต่จากคณะต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ อันจะเป็นการขยายผลการทดสอบ use case ของรถไร้คนขับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ท้องถนนในอนาคตต่อไป
ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ยังได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการทดสอบระบบรถไร้คนขับที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีหลายส่วน ให้สามาถใช้ได้จริงในอนาคต โดยใช้ระบบสื่อสาร 5G มาใช้งานระหว่างรถไร้คนขับกับระบบอื่นๆ ด้วย