Saturday, November 23, 2024
5GArticlesCase StudyHealthTechTechnology

กรณีศึกษา: Smart Hospital ของโรงพยาบาลวิมุต บนหลักการ Available Accessible Assured และ Affordable

Smart Hospital

ศึกษาความสำเร็จวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่โรงพยาบาลวิมุต ประสบความสำเร็จในการเป็น Smart Hospital บนความร่วมมือ กับ AIS Business ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบจากศักยภาพโครงข่าย 5G และดิจิทัล เซอร์วิส

รงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลเอกชนภายใต้การตัดสินใจลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกของกลุ่มธุรกิจของ บริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินก่อนใกล้แยกสะพานควาย บนพื้นที่ราว 7 ไร่เศษ เปิดให้บริการเมื่อเดือน 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 236 เตียง โดยเน้นเรื่อง กระดูก หัวใจ และเบาหวาน ให้ความเชี่ยวชาญเทียบเท่า Excellence Center รวมถึงแผนกการรักษาที่สร้างความแตกต่าง อาทิ ศูนย์ผู้สูงอายุ (Geriatric Center) การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมเชื่อมโยงสู่บ้าน (Transitional care ward)

บริหารและดำเนินการดูแลด้านรักษาผู้ป่วยและการพยาบาลด้วยหลักการ 4A ที่ประกอบด้วย Available Accessible Assured และ Affordable

ในช่วงปีแรก เปิดบริการห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั้งหมด 120 ห้อง และเปิดให้บริการผู้ป่วยใน 100 เตียง มีสถิติผู้ป่วยนอกเข้าทำการรักษาประมาณ 300 รายต่อวัน และมีจำนวนคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอกราว 6 หมื่นราย

โรงพยาบาลวิมุตกับความท้าทาย Smart Hospital

นายแพทย์สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “หนึ่งในเป้าหมายการทำงานของโรงพยาบาลวิมุตคือ Smart_Hospital หรือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงาน ตั้งแต่การรักษาที่ตรงจุดด้วยเทคโนโลยี และเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงขั้นตอนการทำงานภายในและบริการการรักษาที่จะทำให้ผู้รับบริการเกิดประสบการณ์ที่ดีมีความพึงพอใจสูงสุด”

“การให้คำนิยามหรือการตีความของคำว่า Smart Hospital ของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันตามวิสัยทัศน์ แต่สำหรับที่โรงพยาบาลวิมุต มองว่า Smart Hospital จะต้องบริหารและดำเนินการดูแลด้านรักษาผู้ป่วยและการพยาบาลด้วยหลักการ 4A ที่ประกอบด้วย Available Accessible Assured และ Affordable”

“โดยมีแนวทางปฏิบัติหรือเป้าหมายที่ชัดเจนว่า Smart_Hospital จะต้องสามารถตอบโจทย์ 3 ประการคือ ประการแรก ต้องสามารถลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และพนักงาน ประการที่สอง การเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย และประการที่สาม สร้างประสบการณ์ที่ดีให้การเข้ารับบริการของผู้ป่วย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าว

“เรามองหา Service Provider ที่จะมาทำงานร่วมกันที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องของเครือข่ายสัญญาณที่มีประสิทธิภาพ การมีโซลูชันที่ช่วยเรื่องการจัดการฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการกับระบบการทำงานภายในที่สามารถเชื่อมต่อส่วนงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำและปลอดภัย รวมถึงการมีบริการที่ตอบโจทย์คนไข้ในยุคดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชัน ที่จะมาช่วยเรื่องการนัดหมาย การแจ้งผลตรวจ หรือแม้แต่การปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์”

AIS Business ผู้ให้บริการไอซีที ดิจิทัลโซลูชันที่ตอบโจทย์ Smart Hospital

โจทย์การสร้าง Smart_Hospital ครั้งนี้ โรงพยาบาลวิมุต ได้ร่วมกับ AIS Business ฐานะผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัลสำหรับองค์กร ซึ่ง AIS Business ได้ขยายความสามารถต่อยอดออกมาจากเพียงแค่ผู้ให้บริการการสื่อสาร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เตรียมความพร้อมด้าน Digital Business Ecosystem จนมีความสมบูรณ์แบบพร้อมให้บริการสำหรับภาคธุรกิจ

ทั้งบริการโซลูชันแบบครบวงจร, งานบริหารจัดการระบบ ICT, การจัดการข้อมูลและศูนย์ Data Center, การสื่อสารเชื่อมต่อการทำงานด้วย Cloud Contact Center รวมถึงบริการดิจิทัลที่มาช่วยอำนวยความสะดวก และเสริมประสบการณ์ในการใช้บริการรักษาพยาบาลของคนไข้ อาทิ แอปพลิเคชัน บริการเทเลเมดดิซีน (Telemedicine)

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า “เราได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลวิมุต ในการยกระดับศักยภาพสู่การเป็น Smart Healthcare ด้วยการเข้าไปทำงานแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกในธุรกิจโรงพยาบาล ที่ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงานของโรงพยาบาล”

“ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเน็ตเวิร์คเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดด้านไอซีที (ICT) ทั้งระบบและทีมงานที่พร้อมแก้ไขปัญหา ตลอดจน บริการดิจิทัลสำหรับคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเข้าถึงบริการทางการแพทย์”

“ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญของ AIS ที่สามารถนำศักยภาพของเครือข่ายอัจฉริยะ 5G และพลังของพาร์ทเนอร์มาให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรทำให้องค์กรธุรกิจมีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีทัดเทียมนานาชาติ พร้อมรับมือทุกโอกาส ความท้าทาย และการแข่งขัน” ธนพงษ์ กล่าว

โครงการสร้าง Smart Hospital นับเป็นหลักหมุดสำคัญ ที่ย้ำว่า AIS ได้ขยายบทบาทตัวเองสู่การให้บริการไอซีทีแบบครบวงจร และก้าวสู่อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและโรงพยาบาลด้วยการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลวิมุต ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีเต็มรูปแบบจาก AIS 5G

ปูพรมทุกเทคโนโลยีเพื่อความสำเร็จของ Smart Hospital

สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลวิมุต และ AIS Business เพื่อยกระดับการโรงพยาบาลให้ก้าวสู่การเป็น Smart_Hospital แบบเต็มรูปแบบ อาศัยการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีโครงข่าย เพื่อใช้ในการออกแบบบริการและโซลูชันการทำงานภายในตามโจทย์ข้างต้นของโรงพยาบาลวิมุต อาทิ

  • Turnkey IT Solutions นับเป็นครั้งแรกที่ AIS Business ใช้ศักยภาพด้านโครงข่ายและผสานความสามารถร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเข้าไปให้บริการได้แบบครบวงจร
  • ทั้งการวางระบบงานด้าน ICT การจัดการฐานข้อมูลหรือ Data Center ระบบสื่อสารและอุปกรณ์ไอที
  • Managed IT Services การให้บริการอย่างครบวงจรด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปสนับสนุน พร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือ และดูแลระบบการใช้งานตลอดเวลา
  • Digital Services การออกแบบแอพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาลวิมุต รวมถึงระบบเพื่อให้บริการวัคซีน และบริการที่ช่วยยกระดับการทำงานทางการแพทย์ อย่างระบบเทเลเมดดิซีน เพื่อให้คนไข้หรือผู้รับบริการได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ในการรักษา
  • Cloud Contact Center ระบบการสื่อสารภายในที่ช่วยเชื่อมต่อการทำงานของส่วนต่างๆ ทั้งในแง่ของการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการบริหารจัดการ
ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ตอบโจทย์ 3 ประการ

อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า Smart_Hospital ของโรงพยาบาลวิมุต จะต้องสามารถตอบโจทย์ 3 ประการคือ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และพนักงาน, การเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย และ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้การเข้ารับบริการของผู้ป่วย

พีระพงศ์ เจริญพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายไอที อธิบายว่า “โรงพยาบาลวิมุต เห็นผลลัพธ์ตามที่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน เริ่มจาก การลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และพนักงาน สามารถลดการใช้เวลาเรื่องการโทรติดต่อนัดหมายกับผู้ป่วยลงได้ถึง 1 พันนาทีต่อวัน โดยเฉพาะกรณีการนัดหมายเรื่องการตรวจ COVID-19 แบบ RT-PCR”

“ผลที่ได้รับในเป้าหมายต่อมาเป็นเรื่อง การเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย คือ การใช้เทคโนลยีดิจิทัลในการระบุตัวตน ผ่านแอพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาลวิมุต ที่สามารถระบุคนไข้กับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลได้อย่างแม่นยำ ลดข้อผิดพลาดของการรกอกข้อมูล”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะต้องมีการโอนย้ายผู้ป่วยไปต่างโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ส่วนตัว ข้อมูลการรักษา ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ฯ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลปลายทาง”

“ส่วนต่อมาคือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้การเข้ารับบริการของผู้ป่วย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในกรณีระบบการนัด การจอง และการเข้ารับคำปรึกษาวินิจฉัยจากแพทย์ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)”

“ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้จากหลากหลายช่องทางที่มีการผนวกเข้าถึงกัน เชื่อมโยงฐานข้อมูล ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาและประสบการณ์ที่ดีที่สุดกับผู้เข้ารับบริการ” พีระพงศ์ อธิบาย

นายแพทย์สันติ กล่าวในช่วงท้ายว่า “วันนี้เราได้ AIS เข้ามาทำงานร่วมกัน ตามแนวทางและเป้าหมายด้านการยกระดับมาตรฐานการแพทย์ระดับสากลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่ง AIS สามารถส่งมอบบริการด้านดิจิทัล รวมถึงระบบการทำงานต่างๆ ที่ช่วยเสริมขีดความสามารถของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมาก”

“สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลวิมุตก้าวสู่ Smart_Hospital ที่มีความสมบูรณ์แบบ และสามารถเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมด้านสุขภาพประเทศได้อย่างดี”