กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อม GBDi ขับเคลื่อนการพยากรณ์ เชิงผลกระทบ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วย ธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร นำคณะทำงานคลังสมอง (Think Tank) ร่วมหารือกับ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.หรือ GBDi : Government Big Data Institute) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่มีปริมาณมากและมีขนาดใหญ่ (Big Data) ของกรมฯ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI) เพื่อให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นจะเชื่อมต่อกับการประยุกต์ใช้ที่มีประโยชน์ เข้าถึงตามกลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร ทั้งนี้ GBDi สามารถให้การสนับสนุนกรมอุตุนิยมวิทยาในด้านการทำ Data Visualization, Data Analytics และ AI
เดินหน้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ดร.ชมภารี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อการให้บริการประชาชนในภาพรวม ตลอดจนภารกิจที่เอื้อต่อความปลอดภัยของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทะเล ทางอากาศยาน และพัฒนาสถาปัตยกรรมการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ Open data เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม
และในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะเน้นภารกิจในการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เราจะไม่เพียงพยากรณ์สภาพอากาศ แต่จะพยากรณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสภาพอากาศ หรือที่เรียกว่า Impact-based forecasting เพื่อให้เข้าถึงประชาชน อุตสาหกรรม สังคม ที่แตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น การหารือร่วมกันกับ GBDi ในวันนี้เป็นการเปิดเวทีทำให้นักอุตุนิยมวิทยา วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้ความคิดที่สามารถเริ่มการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
เตรียมโชว์โครงการระยะสั้น
รศ.ดร.ธีรณี กล่าวถึงบทบาทและความพร้อมของ GBDi ที่จะนำข้อมูลขนาดใหญ่ของกรมอุตุนิยมวิทยามาใช้ประโยชน์ ว่า GBDi เห็นศักยภาพของข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในหลากหลายด้าน อย่างไรก็ตาม GBDi ต้องการที่จะขับเคลื่อนโครงการในระยะสั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเชื่อมโยงและการวิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าว
ซึ่งมีการสำรวจ ศึกษาสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ และการรันแบบจำลอง เพื่อมุ่งเน้นการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรและลดผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนที่ไม่อาจคาดเดาได้ และอุตุนิยมวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว
โดยจะใช้ความสามารถของกรมอุตุนิยมวิทยาที่สามารถพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงในพื้นที่ระดับตำบล ที่ละเอียดถึง 2 x 2 ตารางกิโลเมตร และพร้อมเปิดระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ผู้พัฒนาโปรแกรม และเว็บไซต์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพ
“นอกจากกลไกการนำข้อมูลขนาดใหญ่ของกรมอุตุนิยมวิทยามาใช้ประโยชน์แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ โอกาสที่จะได้ทำงานที่สอดคล้องกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถนำเอาศักยภาพที่ทั้งกรม และ GBDi มีไปร่วมขับเคลื่อน และเรามั่นใจว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด” ดร.ชมภารี กล่าวสรุป