“เปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย ผลิตภัณฑ์ Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ รับมือชีวิตวิถีใหม่ ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้สูงถึง 99 % ในระยะเวลาเพียง 18 วินาที
เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป เปิดสุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC ผลงานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน คณะวิศวกรรมศาสตร์และสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูการออกแบบที่ทันสมัยทลายกำแพงข้อจำกัดนวัตกรรมไทย ประยุกต์ใช้กับกระบวนการคัดกรองเชื้อโรค
น.ส.จิรัฏฐ์ณิชชา กิติยาณัณท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า “Smart Handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี และคณะสหเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา ในการพัฒนานวัตกรรม Smart_handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ด้วยรังสี UVC สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้สูงถึง 99 % ในระยะเวลาเพียง 18 วินาที”
ผลงานความร่วมมือของคนไทย
ผศ.ดร. ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “Smart_handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากการระดมความรู้ในการออกแบบและวิจัย โดยทีมวิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญ ทดลองใช้รังสี UVC ความยาวคลื่น 253.7 นาโนเมตร จากการวิจัยและทดสอบผลพบว่า รังสี UVC สามารถเข้าไปทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ และก่อให้เกิดโรคได้อีก”
“ซึ่งเท่ากับมีศักยภาพสูงในการทำลาย DNA และ RNA ของเชื้อโรคและฆ่าเชื้อโรคได้ ที่สำคัญความเข้มข้นของรังสียูวีซี สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย จากนั้นได้คัดเลือกอุปกรณ์คุณภาพสูงจากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำ ที่ไม่ก่อให้เกิดสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน”
“Smart_handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ได้ขึ้นทะเบียนจดสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการออกแบบตัวเครื่องให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้นวัตกรรมและสร้างจุดขายที่สำคัญทำให้นวัตกรรมไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
รศ.ดร.วรดา สโมสรสุข คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “นวัตกรรม “Smart_handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา จากการวิจัยและทดสอบผลร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า
สามารถฆ่าเชื้อ บาซิลลัส อะโทรเฟียส (Bacillus atrophaeus) เป็นเชื้อที่สร้างสปอร์ได้ นั่นหมายถึงสามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรียได้เช่นกัน และมีประสิทธิภาพในการหยุดเชื้อได้ถึง 10,000 เซลล์ และได้ทดสอบด้วยการหยอดเชื้อบาซิลลัส อะโทรเฟียส ลงบนพื้นผิวหลายชนิด เช่น กระเป๋าหนัง กระเป๋าเดินทาง วัสดุที่เป็นพลาสติก กล่องพัสดุไปรษณีย์ ฯลฯ และนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค”
“พบว่าภายในระยะเวลา 15 วินาที สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 95% หากเพิ่มเวลาในกระบวนการฆ่าเชื้อโรคเป็น 18 วินาที พบว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับวัตถุได้สูงถึง 99 % นวัตกรรมนี้นับเป็นความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชื้อโรค
ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนให้มั่นใจในการออกไปใช้ชีวิตในยุคที่เชื้อโรคต่างๆ มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างรวดเร็วทั้งของเชื้อโรคต่างรวมไปถึงโรคอุบัติใหม่”