สปสช. ผนึก NT พร้อมทีม Bitkub ผุดโครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) แก่คนทั้งประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแบบครบวงจร
3 พันธมิตรเดินหน้าประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบูรณาการด้านสาธารณสุข พร้อมนำศักยภาพสร้างความร่วมมือผลักดันโครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) มุ่งเป้าส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมต่อยอดนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Digital Health เพื่อให้บริการในทุกมิติ
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดทำระบบนำรองเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform)”
โดยมี นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการ-ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT วิชัย ทองแตง ประธาน บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด และ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมพิธีลงนาม ณ ห้อง NT Auditorium อาคารสโมสร NT สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ
โครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด (Bitkub World Tech) เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกันศึกษา ทดสอบ
และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบูรณาการด้านบริการสาธารณสุขและที่บริการเกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเบื้องต้น 3 หน่วยงานได้นำศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมกันจัดทำ Digital Health ID เพื่อให้บริการสาธารณสุขและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแก่ประชาชน
โดย สปสช. ให้การสนับสนุนข้อมูล นโยบาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ส่วน NT ให้การสนับสนุนการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การให้บริการเครือข่าย Internet, 4G/5G, LoRa, Cloud Computing, Cyber Security และ Data Center รวมถึงเทคโนโลยีด้านดิจิทัล โดยได้ร่วมกับ Bitkub World Tech พัฒนา Digital Health ID และระบบนำร่อง Health Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันการใช้ระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านสาธารณสุขให้ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการร่วมกัน
ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีบทบาทในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับประชาชน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่มีบทบาทในการดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนด้านการสื่อสารและบริการดิจิทัลให้กับประเทศ และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก หนึ่งในกลุ่มบริษัทบิทคับ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain แถวหน้าของประเทศไทย
โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการจัดการฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือผู้ให้ข้อมูลได้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณูปการในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคม และจิตใจของประชาชนให้เกิดขึ้น
“ผมขอชื่นชมทั้ง 3 หน่วยงานที่จะได้ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุขของประเทศเพื่อขยายสู่การบริการแก่ประชาชนแบบครบวงจรในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต”
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ผ่านมา สปสช. ได้นำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานบริการให้กับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่าย เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันเข้ารับบริการ เป็นต้น การลงนามความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภายใต้โครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform)
ในวันนี้ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ Health Digital ID ที่มีความแม่นยำ เกิดการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพประชาชนและการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ อันเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวางโยบายด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบบริการต่าง ๆ ด้านการแพทย์ในอนาคต อย่าง Telehealth, Telemedicine ที่ตอบโจทย์ผู้รับบริการ โดย สปสช. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อความร่วมมือในครั้งนี้