Thursday, November 21, 2024
ArticlesCarTechTechnology

5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญใน อุตสาหกรรมยานยนต์ ของปี 2565

คาดการณ์ 5 แนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญในปี 2565 ที่ผู้บริหารด้านไอทีควรพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นใน อุตสาหกรรมยานยนต์

นช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องยนต์ โดยให้ผู้อื่นเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แทน ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างในรถยนต์ และซอฟต์แวร์จะกลายปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตหลักของกำไรให้กับผู้ผลิต โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะแปลงสภาพเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในที่สุด

เปโดร ปาเชโก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอาวุโสของการ์ทเนอร์ ได้คาดการณ์ถึง 5 แนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญในปี 2565 ที่ผู้บริหารด้านไอทีควรพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นใน อุตสาหกรรมยานยนต์

5 แนวโน้มเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ประจำปี 2565

1 ผู้ผลิตรถยนต์จะทบทวนแนวทางการจัดหาชิ้นส่วน

ผู้ผลิตรถยนต์กำลังพิจารณา กลยุทธ์จัดเก็บสินค้าคงคลังระยะยาว ที่ยึดตามหลักการจัดการสินค้าคงคลังแบบทันเวลาพอดีหรือ Just-In-Time ซึ่งส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงซัพพลายเออร์ ไม่มีสินค้าสำรอง โดยเฉพาะในช่วงภาวะการขาดแคลนชิปต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องทบทวนว่า จะจัดการกับผู้ผลิตชิปอย่างไร รวมถึงการพิจารณาพัฒนาชิปของตนเอง

การ์ทเนอร์คาดว่าในปี พ.ศ. 2568 50% ของ 10 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ชั้นนำ จะผลิตชิปของตนเอง และสร้างกลยุทธ์รวมถึงความสัมพันธ์ระยะยาวร่วมกับผู้ผลิตชิปต่างๆ โดยตรง พร้อมยกเลิกระบบการผลิตแบบ Just-In-Time

2 บริษัทเทคโนโลยีไอทีดิจิทัล จะมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์

ในปี พ.ศ.2565 นี้จะเห็นบริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ อาทิ AWS, Google, Alibaba หรือ Tencent ขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์อย่างต่อเนื่อง บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังนำรถยนต์เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเปิดเป็นบริการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับรถยนต์ในรูปแบบใหม่ๆ

การ์ทเนอร์คาดว่า ในปี พ.ศ.2571 70% ของยานพาหนะที่ขายออกไปจะใช้ระบบปฏิบัติการ Android ในรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่วันนี้มีไม่ถึง 1%

เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วยตนเองเป็นเรื่องยาก บริษัทรถยนต์จึงร่วมมือกับบริษัทดิจิทัลรายใหญ่เพื่อเปลี่ยนซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลัก หรือสร้างทรัพยากรภายในองค์กรจำนวนมากให้บรรลุเป้าหมายองค์กรได้ด้วยตนเอง

3 เกิดการบูรณาการด้านข้อมูล

เมื่อปีก่อนบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งได้สร้างระบบปฏิบัติการแบบโอเพนซอร์สและแพลตฟอร์ม รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แบบเปิด ซึ่งแนวทางนี้ได้กระตุ้นให้เกิดรูปแบบความร่วมมือใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มมากขึ้นในปีนี้

Global Electric Vehicle Shipments, 2021-2022 (Actual Units)

2021

Shipments

2021

Growth (%)

2022

Shipments

2022

Growth (%)

Car 4,473,907 38.3 6,022,147 34.6
Bus 165,551 18.1 198,353 19.8
Van 86,274 56.1 126,607 46.8
Heavy Truck 15,171 41.5 22,663 49.4
Total 4,740,903 37.7 6,369,769 34.4

Due to rounding, some figures may not add up to the totals shown. Source: Gartner (January 2022)

นอกจากนี้ บริษัทด้านยานยนต์ยังหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับที่โลกเทคโนโลยีมองมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่เพื่อขายข้อมูล แต่เพื่อนำข้อมูลมาสร้างหรือบูรณาการระบบนิเวศที่จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลหลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฟีเจอร์หรือบริการดิจิทัลที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

4 ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มระบบอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ OTA เป็นช่องทางสร้างรายได้

ปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ เมื่อผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเริ่มเสนอการอัปเดตซอฟต์แวร์ในรูปแบบ Over-The-Air (OTA) โดยผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้พัฒนาฮาร์ดแวร์ของตนเอง เพื่อเปิดรับวิธีการอัปเดตซอฟต์แวร์ ด้วยเหตุว่า พวกเขากำลังเริ่มเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการสร้างรายได้ ที่มาจากบริการมากกว่ายอดขายสินค้า

นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2566 ราว 50% ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 10 อันดับแรกจะนำเสนอความสามารถในการปลดล็อคและอัปเกรดผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่สามารถซื้อได้หลังการจำหน่ายรถยนต์

5 ยานยนต์ไร้คนขับ กับอุปสรรคหลายประการที่ยังอยู่

แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจจับ (Sensing Technology) จะพัฒนาดีขึ้น แต่อัลกอริธึมของการรับรู้ก็มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นตลอดจนกฎระเบียบและมาตรฐานการพัฒนาด้านต่างๆ ก็คืบหน้าไปเช่นกัน โดยที่ผู้พัฒนายานยนต์ไร้คนขับยังคงเผชิญความท้าทายในการขยายขอบเขตการดำเนินงานไปยังเมืองหรือพื้นที่ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ผู้ผลิตรถยนต์ได้เริ่มเปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 และกำลังดำเนินการติดตั้งใช้งานรถบรรทุกไร้คนขับในระดับ 4 รวมถึง ระบบการให้บริการรถรับส่งแบบ Taxi (หรือ Robotaxis) สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการทดสอบด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีอัตโนมัตินั้นยังคงต้องใช้เวลาและรูปแบบการจำลองการขับให้มีความครอบคลุมรวมถึงการทดสอบในท้องถนนจริงๆ

นั่นทำให้การผลิตเชิงพานิชย์เป็นไปได้ช้าและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นต่างๆ อาทิ การรับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อพิจารณาทางสังคม เช่น วิธีการสื่อสารโต้ตอบระหว่างรถที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์และรถที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่กำลังเพิ่มความท้าทายให้สูงขึ้น

ต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูงมากในระบบ Robotaxis หรือระบบอัตโนมัติระดับ 4 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ นอกจากเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเร็วของการนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ให้มีความแพร่หลายแล้ว ยังรวมถึงการส่งมอบผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) อีกด้วย ซึ่งมันดูย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากข้อดีหลักอย่างหนึ่งของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติก็คือการลดต้นทุนด้านการดำเนินงานของภาคการขนส่ง

นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ทั่วโลกจะมีจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ (Robotaxis) ระดับ 4 เปิดให้บริการสูงกว่ารถแท็กซี่ในปัจจุบันถึง 4 เท่า

ทำความรู้จัก The 5 Levels of Autonomous Vehicles

สมาคมวิศวกรยานยนต์นานาชาติ (SAE International) ได้จัดระดับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ออกเป็น 6 ระดับ นั่นคือ ระดับ 0 – ไม่มีการทำงานอัตโนมัติ (No Automation) ระดับ 1 – การช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driver Assistance) เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบการควบคุมเลนเพื่อช่วยในการขับขี่

ระดับ 2 – ระบบอัตโนมัติบางส่วน (Partial Automation) ที่สามารถช่วยในการควบคุมความเร็วและการบังคับเลี้ยวได้ ช่วยเรื่องการจราจรแบบหยุดและไปได้โดยการรักษาระยะห่างระหว่างคุณกับรถที่อยู่ข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ช่วยบังคับเลี้ยวด้วยการจัดตำแหน่งรถให้อยู่ตรงกลางเลน

Source: https://www.sae.org/blog/sae-j3016-update

ระดับ 3 – ระบบอัตโนมัติแบบมีเงื่อนไข (Conditional Automation) รถสามารถขับเองได้ แต่ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมและมีข้อ จำกัด เช่น บนทางหลวงที่จำกัดการเข้าออก มีการใช้ความเร็วที่แน่นอน คนขับไม่ต้องควบคุมพวงมาลัยแต่ก็ยังต้องอยู่หลังพวงมาลัย

ระดับ 4 – ยานยนต์อัตโนมัติที่มีระบบอัตโนมัติสูง (High Automation) สามารถขับเองได้โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (นอกเหนือจากการเข้าสู่จุดหมายปลายทางของคุณ) และ ระดับ 5 – ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full Automation)