
“ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำความพร้อมระบบแจ้งเตือนภัย ร่วมประชุมนายกฯ และทดสอบระบบ Virtual Cell Broadcast พร้อมเดินหน้าใช้ได้ทันที
31 มีนาคม 2568 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดย จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รวมถึง ศาสตราจารย์นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และ ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อหารือเรื่องการเร่งดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการส่งข้อมูลการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉิน และการใช้ระบบ Cell Broadcast ในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน
ทรู เสนอทางออกด้วย ระบบ Virtual Cell Broadcast
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังร่วมการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัยที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า
“ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยันความพร้อมในการใช้งานระบบ Cell Broadcast Service ได้ทันทีในวันนี้ โดยจะทำเป็นระบบ Virtual Cell Broadcast กล่าวคือ หากเกิดภัยพิบัติหรือมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องการส่งการแจ้งเตือนภัย ลูกค้าทรูและดีแทคสามารถได้รับการแจ้งเตือนผ่านระบบนี้ได้โดยทันที”
“โดยไม่ต้องรอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบให้พร้อมครบถ้วน เพราะเราตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และได้ติดตั้งระบบนี้เรียบร้อยแล้วในทุกสถานีฐานทั่วประเทศ ถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่มีความพร้อมให้บริการระบบนี้อย่างเต็มรูปแบบ”
ข้อจำกัด CBS เตือนโดยตรงได้แค่ระบบ Android
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบ Cell Broadcast Service ยังรองรับเฉพาะโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android เท่านั้น ยังไม่สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังผู้ใช้งาน iOS ได้โดยตรง ดังนั้นการแจ้งเตือนภัยสำหรับผู้ใช้มือถือ iOS ยังคงใช้วิธีส่งข้อความ SMS แทน สำนักงาน กสทช. กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท Apple เพื่อให้ระบบ Cell Broadcast สามารถรองรับบนอุปกรณ์ iOS ได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ระบบ Virtual Cell Broadcast Service ที่ทรูได้พัฒนาขึ้นนี้ ช่วยให้สามารถแจ้งเตือนฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว โดยจะมีทั้งเสียงและข้อความปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ทันที แม้อยู่ในโหมด sleep หรือ standby รองรับการแสดงผลได้ 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
การเข้าพบครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
ก่อนหน้านี้ ทรูได้ทดสอบและเร่งติดตั้งระบบเตือนภัย Cell Broadcast ให้ครบทุกสถานีฐานทั่วประเทศเรียบร้อยแล้วเป็นรายแรกในไทย โดยเร่งดำเนินการให้เร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจากความห่วงใยต่อประชาชนคนไทย และสถานการณ์ภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ไขข้อข้องใจ: ทำไมระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ยังไม่เกิด เพราะ “ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง”
เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไทย หลายๆ คนคงได้ยินคำว่า “Cell Broadcast Service” หรือ CBS วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่าทำไมระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านมือถือระบบนี้ คือ ระบบที่ทุกคนรอคอย แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศไทย แม้จะผ่านมากี่เหตุการณ์น้ำท่วม พายุ หรือภัยพิบัติมาแล้วก็ตาม
CBS คืออะไร ทำงานอย่างไร
Cell Broadcast Service คือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งข้อความเตือนตรงถึงหน้าจอมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เกิดเหตุ ผ่านเสาสัญญาณมือถือ โดยมีข้อดีแบบที่ SMS ธรรมดาทำไม่ได้
- ส่งข้อความถึงทุกเครื่องในพื้นที่พร้อมกันในครั้งเดียว (แบบ broadcast)
- มีเสียงเตือนดังพิเศษแม้เปิดโหมดเงียบ
- ข้อความจะ Pop-up ขึ้นมาบนหน้าจอทันที
- เจาะจงพื้นที่ได้ ส่งเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย
- ไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ทุกเครื่องรับได้เลย
- แม้เครือข่ายจะหนาแน่น ก็ส่งได้รู้พร้อมกันทันที
ทำไมต้อง สองฝ่ายร่วมกัน ถึงจะสำเร็จ? นี่คือหัวใจสำคัญ! ระบบ CBS จะทำงานได้ต้องมีสององค์ประกอบหลักทำงานร่วมกัน (เหมือนปรบมือสองข้างถึงจะดัง):
- CBC (Cell Broadcast Center) – ฝั่งผู้ให้บริการมือถือ เช่น ทรู ดีแทค
- CBE (Cell Broadcast Entity) – ฝั่งหน่วยงานรัฐที่ออกประกาศเตือน (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.)
สถานการณ์ปัจจุบัน:
- CBC – ค่ายมือถือ (ทรู คอร์ปอเรชั่น) ติดตั้งระบบและทดสอบเรียบร้อยแล้ว
- CBE – กรม ปภ. ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งระบบทำงานและทดสอบ นี่เป็นเหตุผลว่าจะให้ดังต้องปรบมือสองข้าง
กระบวนการทำงานของระบบ CBS ทำงานอย่างไร?
- เมื่อเกิดภัยพิบัติ – กรม ปภ. (CBE) วิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจส่งการแจ้งเตือน
- ส่งคำสั่งแจ้งเตือน – ข้อมูลถูกส่งไปยังศูนย์ CBC ของค่ายมือถือ
- กระจายสัญญาณ – CBC ส่งข้อมูลไปยังเสาสัญญาณในพื้นที่เป้าหมาย
- แจ้งเตือนผู้ใช้ – ข้อความพร้อมเสียงเตือนปรากฏบนมือถือทุกเครื่องในพื้นที่นั้นๆ
ทำไม SMS ถึงไม่เหมาะกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ? ปัจจุบันที่เราได้รับเป็นเพียง SMS ธรรมดา ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย:
- ส่งช้า เพราะต้องส่งทีละเบอร์ ไม่สามารถส่งพร้อมกันได้
- ต้องมีฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์
- ไม่มีเสียงเตือนพิเศษ อาจไม่ได้ยินหากเปิดโหมดเงียบ
- ระบบอาจต้องใช้เวลาเมื่อมีการส่งจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
สรุป: รอไปอีกนานไหม?
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน “ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง” ค่ายมือถือพร้อมแล้ว เพียงแค่รอภาครัฐพร้อมก็เปิดให้บริการได้ ในระหว่างนี้ ทรูยังคงให้ความร่วมมือกับ กสทช. และ ปภ. ในการส่ง SMS เตือนภัยตามที่ได้รับการร้องขอ ระหว่างที่กำลังดำเนินการเปิดให้บริการ Cell Broadcast Service