Saturday, November 23, 2024
Special Report

กทปส. ตรวจการบ้านทุนวิจัย บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ตอบโจทย์นโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ

กทปส. นำคณะผู้บริหารติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลโครงการ บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการไฟฟ้า เยี่ยมชมหน่วยงานผู้ใช้งานจริง พันทิปดอทคอมและโรงงานพลาสติกกับ สอบผ่านได้ประโยชน์สาธารณะ

องทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเยี่ยมชม เพื่อติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลโครงการ บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย ด้วยระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud (Home Managed Electricity in the Cloud) ณ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พันทิปดอทคอม) กรุงเทพฯ และบริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด โรงงานพลาสติก จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการดังกล่าว โดย บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้วิจัยและพัฒนา ได้รับการจัดสรรทุนในประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ตามวัตถุประสงค์มาตรา 52 (2) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ด้วย วงเงินที่ได้รับการจัดสรร 11.47 ล้านบาท

กทปส.พอใจผลงาน สอดคล้องนโยบายของกองทุนฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา กทปส.

ชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า “กทปส. ให้ทุนสนับสนุนโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย ซึ่งได้รับการจัดสรรทุนประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ตามวัตถุประสงค์มาตรา 52 (2) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง”

“โดยผู้รับการจัดสรรได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้วยระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมเบรคเกอร์ 4.0 ของนักวิศวกรไทย เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง”

“ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การจัดการองค์รวมของระบบ IoT โดยอาศัยตู้รวมไฟฟ้าเป็น GATEWAY เปลี่ยนระบบป้องกันไฟฟ้าแบบเก่าเป็นเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าดิจิทัลเพื่อการป้องกันภัยจากไฟฟ้า และได้มีการติดตั้งใช้งานจริงของระบบเบรกเกอร์ 4.0 ให้กับองค์กรสาธารณะของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เยาว์และผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังติดตั้งและใช้งานในองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมกว่า 50 แห่ง”

“โดยได้นำคณะจาก กทปส.และสื่อมวลชนเข้ามาเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินการติดตั้งและใช้งานระบบ ณ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พันทิปดอทคอม) กรุงเทพฯ และบริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด โรงงานพลาสติก จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 แห่งซึ่งรูปแบบารใช้งานจะแตกต่างกันทำให้เห็นความสามารถของการบริหารจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพที่รองรับการใช้งานได้ทั้งองค์กรขนาดเล็กจนถึงใหญ่”

“สำหรับนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาต่อยอดสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับธุรกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยอาศัยจุดเริ่มต้นของการมีไฟฟ้าใช้ ที่ตู้รวมไฟฟ้า หัวใจสำคัญของระบบจึงจำเป็นที่จะต้องมั่นใจในการป้องกันความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในระบบเดียวและในความเป็นดิจิทัลยังทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาไฟฟ้าขัดข้องที่เกิดขึ้นได้”

“และสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการใช้พลังงานเป็นวัน สัปดาห์ เดือน ปี รวมทั้งแจ้งเตือนความผิดปกติของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการประหยัด นำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศที่มีมาตรฐานเดียวทั่วกัน ทั้งนี้การดำเนินการมอบทุนและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ นับเป็นการแสดงศักยภาพของนักวิศวกรไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 จุดเชื่อมโยงเมืองอัจฉริยะ
ชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0

ชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ได้เปิดเผยว่า “การได้รับทุนจาก กทปส. ในครั้งนี้เป็นการได้โอกาสที่จะเริ่มต้นวางมาตรฐานด้านดิจิทัลแบบองค์รวมอีกด้านหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลทั้งหมดของเมืองอัจฉริยะที่จะมีมาในอนาคต โดยอาศัยจุดที่เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งคือไฟฟ้า”

“ซึ่งในโครงการนี้เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ขั้นต้นก่อนคือ การป้องกันภัยและการจัดการพลังงานพร้อมมี Gateway เพื่อรองรับ IoT นับเป็นการหลอมรวมกันของระบบสารสนเทศและไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องว่างของการมาทดแทนระบบเบรกเกอร์เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการเริ่มต้นมีไฟฟ้าใช้ให้กับอุปกรณ์ภายในบ้าน”

สมองกลที่พัฒนาโดยคนไทย

“ซึ่งโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 นี้ได้สร้างระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ที่เป็น Cloud Platform ทำงานร่วมกับสมองกล REM101 ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คอยตรวจจับคลื่นไฟฟ้าและตัดสินใจตัดต่อวงจรไฟฟ้าก่อนเกิดภัยทางไฟฟ้าทุกชนิด ให้เกิดความสะดวกสบาย อุ่นใจและควบคุมได้ต่อผู้ใช้”

“พร้อมส่งผ่านข้อมูลพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าไปยัง HoME@Cloud Cloud Platform ที่จะมีระบบบริหารจัดการให้เกิด Self-Thinking Home ให้บ้านเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นองค์ประกอบในการทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารได้อย่างแท้จริงบนระบบเดียว ไม่ต้องพึ่ง Home HUB เช่น Google อีกต่อไปและยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต”

“โครงการฯ ได้พัฒนานวัตกรรมโดยตั้งเป้าที่จะสร้างผลลัพธ์ผลักดันให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจบนแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริงที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่าน Single Channel ตรงตู้รวมไฟฟ้า และเน้นการนำผลผลิตที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้จริงโดยการส่งเสริมการปรับปรุงบ้านด้วยตู้รวมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากงานวิจัยนี้” ชัชชม กล่าว

Home@Cloud ช่วยพันทิปวางแผนปรับปรุงระบบความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้า
วันฉัตร ผดุงรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

วันฉัตร ผดุงรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com เปิดเผยว่า “ประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจากการติดตั้ง Home@Cloud นั้น หลังจากทำการติดตั้งและศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลักๆ ของบริษัทฯ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงเห็นจุดที่อาจเป็นปัญหา ซึ่งช่วยในการวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี”

“แม้ปัจจุบันทางบริษัทฯทำงานในลักษณะ Work from Home ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่สูงนัก แต่เชื่อว่าเมื่อทีมงานเริ่มเข้าปฏิบัติงานในที่ตั้ง ข้อมูลที่ได้รับจาก Home@Cloud จะช่วยให้การบริหารการใช้พลังงานภายในองค์กรทำได้ดีขึ้นมาก และคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็นลงได้ไม่น้อยกว่า 15%

และยังมีแผนที่จะนำ Home@Cloud ไปต่อยอดเพื่อบริหารการใช้พลังงานของระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์เพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งสร้างประโยชน์ในด้านการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก”

นอกจากนี้แล้ว_Home@Cloud ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองโดยวิศวกรชาวไทย เมื่อมองในภาพรวมด้านสังคมแล้ว เป็นสิ่งที่ Pantip.com รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสให้การสนับสนุน โดยแนวคิดที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า นวัตกรรมที่สร้างและพัฒนาโดยคนไทยเหล่านี้ คือพื้นฐานที่แท้จริงของการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติต่อไปในอนาคต

สิงโตพลาสติก ลดค่าไฟ 30%

ระบบ Home@Cloud_ยังได้ติดตั้งที่ บริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานรับจ้างผลิตพลาสติกในจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งวัตถุประสงค์เพื่อก้าวสู่การนำระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการไฟฟ้าของเครื่องจักร โดยผู้บริหารได้อธิบายว่า “ลักษณะของการใช้งานและความต้อการไฟฟ้าของโรงงานผลิตจะมีความแตกต่างจากการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ที่ต้องการเสถียรภาพของกำลังไฟ รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญด้าน ค่าใช้จ่ายของโรงงาน”

“การติดตั้งระบบ_Home@Cloud เข้ามาตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประการสำคัญคือ เรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้า ที่จากเดิมอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาทต่อเดือน หลังจากที่โรงงานได้รับการติดตั้งสามารถลดค่าไฟลงเหลือราว 5 หมื่นบาทต่อเดือนหรือราว 30% ต่อปี”

“นอกจากนั้นแล้ว ตัวผู้บริหารเองยังสามารถบริหารการใช้งานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถรับรู้สถานะข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้ทุกหน่วยของการใช้ไฟผ่านระบบมือถือ ทั้งการใช้ไฟสำหรับเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ไฟในตัวอาคาร หรือเครื่องปรับอากาศ ทำให้ลดการใช้งานที่ไม่จำเป็นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน เราสามารถเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนระบบ ระบบ_Home@Cloud”

กทปส.ติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลโครงการ บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0