Friday, November 22, 2024
NEWS

สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย อยู่ระดับพื้นฐาน แต่ยังขาดทักษะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

AIS เปิดผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024 ชี้คนไทยขาดทักษะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ Digital Health Check

AIS รายงานการสำรวจ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness_Index 2024 ปีที่ 2 ภายใต้โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ผลการศึกษาพบว่า สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ปี 2567 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 

พร้อมกันนี้ได้พัฒนาเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์แบบรายบุคคล หรือ Digital Health Check เป็นครั้งแรกในไทยที่ทุกคนสามารถประเมินระดับความสามารถในการรับมือจากภัยไซเบอร์พร้อมศึกษาความรู้จากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง 

สายชล ทรัพย์มากอุดม สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย การป้องกันภัยไซเบอร์กลายเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้”

“ทำให้การทำงานของ AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น” 

“ทั้งในมุมของการสร้างภูมิปัญญาหรือ Wisdom ที่จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และในมุมของการใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาส่งมอบเครื่องมือปกป้องภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ”

สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย อยู่ระดับพื้นฐาน

ผลการศึกษาพบว่า สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ปี 2567 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ ระดับพื้นฐาน คือ ร้อยละ 46.01 รองลงมา มีสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 35.52 และยังมี สุขภาวะดิจิทัลที่อยู่ในระดับต้องพัฒนา ร้อยละ 18.47

แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับต้องพัฒนา เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการใช้ดิจิทัลได้อย่างไม่เหมาะสม

เมื่อพิจารณา ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในช่วงอายุต่างๆ พบว่า ทุกกลุ่มอายุอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ที่มีค่าเฉลี่ยระดับสุขภาวะดิจิทัลน้อยที่สุดคือกลุ่มเด็ก 10-12 ปี, 13-15 ปี และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ตามลำดับ

และเมื่อพิจารณา ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยกับอาชีพ พบว่า ทุกกลุ่มอายุอยู่ในระดับพื้นฐาน โดยผู้ที่มีอาชีพข้าราชการ และลูกจ้างหน่วยงานของรัฐมีระดับดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด รองลงมาคือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชน กลุ่มอาชีพที่ควรได้รับพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือ ข้าราชการบำนาญ/เกษียณจากงาน ซึ่งแม้จะอยู่ในสุขภาวะดิจิทัลในระดับพื้นฐาน แต่มีค่าดัชนีต่ำที่สุด

ทักษะดิจิทัลสำคัญ 7 ด้าน

ในการวัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยนั้น ได้ทำการวัดและประเมินทักษะดิจิทัลสำคัญ 7 ด้านด้วยกัน ซึ่งพบว่า 6 ด้านมีสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ พื้นฐาน คือ ด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์, ด้านการใช้ดิจิทัล, ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล, ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล, ด้านเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล และด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล ขณะที่สุขภาวะดิจิทัลด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ อยู่ในระดับ สูง

สำหรับปีนี้ผลการศึกษาก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) 

โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น

Thailand Cyber Wellness Index

ประเมินความรู้การป้องกันภัยไซเบอร์ตัวเองด้วย Digital Health Check

สายชล อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในการส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย ต้องอาศัยการทำงานควบคู่กันทั้งการส่งเสริมทักษะความรู้ และพัฒนาเครื่องมือปกป้องการใช้งาน จึงได้พัฒนาเครื่องมือ Digital Health Check เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าและคนไทย”

รวมถึง AIS ได้นำเสนอเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยบริการ AIS Secure Net ที่ได้เพิ่มการปกป้องที่ครอบคลุมมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองเว็บไซต์อันตรายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย โดยลูกค้า AIS สามารถใช้บริการ AIS Secure Net ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 12 เดือน

และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย บริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง อาทิ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และโจรกรรมเงิน หรือการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท

“AIS ยังคงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้คนไทยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาภัยไซเบอร์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งาน” 

“ทั้งมาตรการยืนยันตัวตน การควบคุมสัญญาณบริเวณรอยต่อชายแดน หรือ การสนับสนุนการทำงานของพี่ๆตำรวจโดยทีมวิศวกร ทั้งหมดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ AIS เพื่อให้ภัยไซเบอร์หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน” สายชล กล่าวทิ้งท้าย