Friday, November 22, 2024
AINEWS

ไทยคม ประกาศความสำเร็จ กับแพลตฟอร์ม CarbonWatch

ไทยคม ประกาศความสำเร็จ กับแพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองรายแรกในไทย จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  ตอกย้ำการเป็นองค์กร Space Tech ที่ช่วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ ได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) รายแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยคมภายใต้ Earth Insights ซึ่งเตรียมให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตแก่ลูกค้าในไทย พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)

พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในฐานะที่ อบก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER  ผู้ดำเนินโครงการต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของภาคป่าไม้  อบก. ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกใช้ วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องแม่นยำจาก อบก. ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการ T-VER

โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม

และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปฐมภพ สุวรรณศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคม มีความยินดีอย่างยิ่งที่ แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม

ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเรา ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของเราในหลายมิติ โดยที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด   ส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA .

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ของเราได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคสนามของเรา มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองในวันนี้ โดยเราได้นำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยคม จนได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำออกมา

นอกจากนี้ผมยังเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งให้เกิดการพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน