Sunday, November 24, 2024
AIHealthTechNEWS

เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่มาพร้อม AI เครื่องมือสำคัญช่วยตรวจคัดกรองวัณโรค

FDR Xair System

FDR Xair System เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาจาก ฟูจิฟิล์ม ได้รับความไว้วางใจจากโครงการคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชน

ริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาจากฟูจิฟิล์ม ได้รับความไว้วางใจจากโครงการคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชน ดุสิตโมเดล ในภารกิจแผนการยุติวัณโรค YES! We Can End TB ยุติวัณโรค เราทำได้ ของกองวัณโรค กรมควบคุมโรค

ด้วยการผนึกกำลังกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและกรุงเทพมหานคร นำนวัตกรรม FDR_Xair System เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่มาพร้อม AI จากฟูจิฟิล์ม ไปใช้ในภารกิจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชนดุสิตโมเดล

เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงของการติดเชื้อวัณโรคในไทย พร้อมเน้นย้ำการตรวจคัดกรองเชิงรุกเป็นหัวใจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคของประเทศ

เครื่องเอกซเรย์ปอดแบบพกพา คือสิ่งสำคัญในการคัดกรองวัณโรค

พญ.ผลิน กมลวัทน์ แพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวว่า “การใช้เครื่องเอกซเรย์ปอดดูความผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็นในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หาย ถือเป็นหัวใจของการต่อสู้กับวัณโรค หากมีการใช้เครื่องเอกซเรย์พกพาในพื้นที่เสี่ยง ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองได้เป็นอย่างดี”

“ซึ่งล่าสุดกองวัณโรคได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการต่อสู้กับวัณโรค จึงได้จัดซื้อเครื่องเอกซ์เรย์แบบพกพาทั้งสิ้น 16 เครื่อง และได้ส่งมอบให้แก่หลายโรงพยาบาลเพื่อใช้การคัดกรองวัณโรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล”

“โดยระหว่างการออกตรวจในชุมชน เมื่อพบความผิดปกติที่ปอด จะส่งต่อไปตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลการติดเชื้อทันที จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการรับประทานยาทุกวันจนครบ 6-8 เดือนก็สามารถหายจากโรคได้ ถ้าทำให้การออกตรวจคัดกรองเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เราจะเจอผู้ป่วยได้อีกมากและขยับใกล้เป้าหมายการยุติวัณโรคมากขึ้น”

ตัวช่วยสำคัญ FDR Xair System เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่ประมวลผลด้วย AI

โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟูจิฟิล์ม ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค และได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก”

“เพื่อนำเสนอ FDR Xair System นวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาขนาดเล็กพร้อมระบบประมวลผล AI เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองวัณโรคได้อย่างสะดวก แม่นยำ รวดเร็ว”

“โดยทีมแพทย์สามารถพกไปออกตรวจในชุมชนได้ ใช้เวลาตรวจรวดเร็วเพียง 1 นาที ทั้งยังมีความแม่นยำเหมือนกับเครื่องเอกซเรย์ตัวใหญ่ในโรงพยาบาล นอกจากเครื่องเอกซเรย์ทรงพลังแล้ว เรายังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมดูแลช่วยเหลือด้านการใช้งานและติดตั้งอย่างต่อเนื่อง”

ดุสิตโมเดล โครงการชุมชนต้นแบบด้านบริการสุขภาพเขตเมือง

นายแพทย์พิภู ถาวรชีวิน อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวถึงที่มาของดุสิตโมเดลและการตรวจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเขตกทม.ว่า “ดุสิตโมเดล เป็นโครงการชุมชนต้นแบบด้านบริการสุขภาพเขตเมืองในโรคต่างๆ ที่เชื่อมต่อการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชนกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลโดยตรง”

“ชุมชนดุสิตโมเดล ดูแลประชากรในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 4 แห่งในพื้นที่ซึ่งมีประชากรที่ดูแลอยู่ประมาณ 180,000 ราย”

“หนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะชุมชนเขตเมืองที่มีความแออัดพบว่าวัณโรค เป็นภัยเงียบที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ผู้ป่วยจำนวนมากไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ การตั้งรับรอผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ”

“เราจึงริเริ่มโครงการคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชนดุสิตโมเดล (TB V Find) ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากกองวัณโรค และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่แออัดที่เข้าถึงได้ยาก ประชาชนสามารถเข้ารับการคัดกรองเอกซเรย์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล”

“อีกทั้งยังผสานปัญญาประดิษฐ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค เมื่อพบความผิดปกติของปอด เราได้มีระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เพื่อแนวทางการยุติวัณโรคในชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน เราจะเร่งเดินหน้าโครงการตรวจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในดุสิตโมเดล ด้วยเป้าหมายในการยุติการระบาดของวัณโรคในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด”

คนไทยเสียชีวิตด้วยวัณโรค 40 คนต่อวัน

สถานการณ์วัณโรคล่าสุดในไทย จากกองวัณโรค พบว่า ไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 155 คนต่อประชากรแสนคน และคาดว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในไทยปีละกว่า 111,000 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12,000-14,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 40 คนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก

โดยประเทศไทยมีแผนการยุติวัณโรค ซึ่งเป้าหมายคือการควบคุมตัวเลขผู้ป่วยให้เหลือต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2578 แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังน่ากังวลอยู่มาก ความท้าทายหลักที่ต้องสร้างความตระหนักรู้คือ โรคนี้ใช้เวลาฟักตัวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนอาจนานถึง 5-10 ปี หลายคนไม่แสดงอาการ