Thursday, November 21, 2024
AICloudCybersecurityNEWS

เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ แนะ CISO มองหาแพลตฟอร์มความปลอดภัยไซเบอร์ที่มี AI และระบบคลาวด์

CISO

ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ แนะนำ CISO มองหาแพลตฟอร์มความปลอดภัยไซเบอร์ที่มี AI และระบบคลาวด์ สถิติพบประเทศไทยเป็นเป้าถูกโจมตี หน่วยงานรัฐ การทหารเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตี

ริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยว่า องค์กรในประเทศไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์มากถึง 1,892 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (กรกฎาคม – ธันวาคม 2566) ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ระดับ 1,040 ครั้ง

โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจาก Threat Intelligence Report ล่าสุดของบริษัท เช็ค พอยท์ ซึ่งในรายงานได้พบว่า มัลแวร์แบบคริปโตไมเนอร์ (Cryptominer) และ บอตเน็ต (Botnet) เป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นแพร่หลายมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการโจมตีแบบฟิชชิ่ง (Phishing) การหลอกลวงรูปแบบต่างๆ และการปล้นทรัพยากร (Resource Hijacking)

นอกจากนี้ยังพบว่าการโจมตีเกิดขึ้นสูงสุดกับหน่วยงานภาครัฐ/ทหาร อุตสาหกรรมการผลิต และการเงิน/การธนาคาร ซึ่งมีการโจมตีมากถึง 5,789 ครั้งในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงกำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความถี่ของการโจมตีและลักษณะที่เปราะบางของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการโจมตีเหล่านี้อาจมุ่งเน้นไปที่การขโมยข้อมูลสำคัญ การรบกวนการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (CII) การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของ IoT รวมถึงการหลอกดูดเงินเป็นจำนวนมหาศาล และอื่นๆ อีกมากมาย

CISO ต้องมองหาการรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และระบบคลาวด์

ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า “องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย กำลังเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากลำบากอย่างมากในขณะนี้ โดยการโจมตีด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปริมาณการโจมตีกำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี”

“องค์กรต่างๆ จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อป้องกันการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น องค์กรต่างๆ จะต้องมีแพลตฟอร์มแบบบูรณาการที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างครอบคลุมเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย”

“โดยเฉพาะผู้บริหารในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทางด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับโครงสร้างเครือข่ายและความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (CISO) ต้องพยายามบริหารให้ผลิตภัณฑ์การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในองค์กร สามารถทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงภายในกลุ่มทั่วทั้งธุรกิจ ทุกผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่ายหลายราย นั่นคือแนวทางการป้องกัน ภัยคุกคามที่ดีที่สุดและเป็นวิธีเดียวที่จะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือผู้โจมตี”

“นอกจากนั้นแล้ว_CISO ต้องให้ความสำคัญกับ แพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และระบบคลาวด์ ที่สามารถป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ล่าสุด รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าของภัยคุกคามใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และต้องเป็นผู้นำในการสร้างความตระหนักเรื่องภัยไซเบอร์ในองค์กร”

“ทั้งหมดนั้น เป็นการช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยองค์กรของตนได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถปกป้องทรัพย์สินขององค์กรจากภัยคุกคามที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาได้ในปัจจุบัน”