กระทรวงดิจิทัลฯ มอบนโยบายไปรษณีย์ไทย ขับเคลื่อนดิจิทัลเข้าถึงผู้ประกอบการระดับชุมชนและเกษตรกร สร้างช่องทางเข้าถึงพื้นที่การตลาด และลูกค้ากลุ่มใหม่ทั่วไทย หนุนยกระดับรายได้เต็มรูปแบบ
เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ภายใต้กรอบนโนบายของรัฐบาลภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการเพิ่มรายได้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการวางแนวทางใช้ดิจิทัล เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้กับประชาชนในระดับชุมชน โดยการนำดิจิทัลไปใช้ให้ตรงกับบริบททางพื้นที่ ผ่านทางหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงฯ
ล่าสุด ได้นำศักยภาพของไปรษณีย์ไทย ในฐานะผู้นำด้านการสื่อสารและขนส่งหลักของชาติ ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต ระนอง กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล สนับสนุนผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ การช่วยยกระดับสินค้าให้พร้อมต่อการทำตลาดที่เปลี่ยนแปลง เข้าถึงโอกาสทางการตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั่วประเทศไทย โดยสามารถคงคุณภาพของสินค้าที่ฝากส่งได้ตั้งแต่ต้นทาง–ปลายทาง
เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอส และไปรษณีย์ไทย ร่วมกันจัดหาโซลูชั่น และเทคโนโลยีช่วยยกระดับการขนส่งให้กับพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดข้างต้น โดยจัดระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ภายใต้ชื่อบริการ “ฟิ้วซ์ โพสต์ (Fuze Post) ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างไปรษณีย์ไทย และเอกชนผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่อีก 2 ราย เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งอาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป อาหารแช่แข็ง
“กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศทั้งด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นผู้ประกอบการชุมชน และตลาดประมงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จะมีช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มธุรกิจอาหารต่างๆ และผู้บริโภคมากขึ้น มีความรวดเร็วในการจัดส่งระยะเวลา 1 วันทำการ นับถัดจากวันที่ฝากส่งสำหรับปลายทางกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 2 วันสำหรับปลายทางต่างจังหวัด” เอกสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางอีมาร์เก็ตเพลสเว็บไซต์ Thailandpostmart.com อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางการขายสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้บริโภคในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางนี้จำนวน 1,281 ราย มีสินค้าประเภทต่างๆ กว่า 817 รายการ เช่น อาหารแปรรูป สินค้าทางการเกษตร ฯลฯ โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามียอดสั่งซื้อสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวรวมมูลค่ากว่า 11.33 ล้านบาท