Saturday, November 23, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

มหานครแห่งโลจิสติกส์ Logistopolis ของอาเซียน: การพัฒนาโลจิสติกส์ใน EEC เพื่อนำไทยฝ่าวิกฤต

Transportation and logistics of Container Cargo ship and Cargo plane. 3d rendering and illustration.

เราจะพัฒนาโลจิสติกส์อย่างไรที่จะสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไทยและอีอีซีได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะทำให้ฝ่าวิกฤตไปได้ เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนขอวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ของอีอีซีที่จะช่วยประเทศไทยฝ่าวิกฤตไว้ในบทความนี้

มื่อมองไปข้างหน้าถึง การฟื้นเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19 ไทย และอีอีซีจะฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบได้มีองค์ประกอบหลายประการ หากดูจากงานศึกษาเชิงประจักษ์จำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีการศึกษา เช่น ในเมืองใหญ่ของจีนหลายสิบเมือง ในตุรกี และบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างในอินโดนีเซีย จะพบว่าประสิทธิภาพของ โลจิสติกส์ มีศักยภาพทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญ

ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและช่วยจ้างงานจำนวนมากธุรกิจบริการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศเฉลี่ย 2.7 – 3.1 แสนล้านบาทต่อปีคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพี และก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 3.5 ล้านตำแหน่ง

ฉะนั้นหากพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้ดี จะช่วยสร้างรายได้ให้คนจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ และประการสำคัญ คือ โลจิสติกส์เป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเภทอื่น ได้ง่ายอีกด้วย

คำถาม คือ เราจะพัฒนาโลจิสติกส์อย่างไรที่จะสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไทยและอีอีซีได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะทำให้ฝ่าวิกฤตไปได้ ให้กลายเป็น มหานครแห่งโลจิสติกส์ หรือ Logistopolis เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ผมได้วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ของอีอีซีที่จะช่วยประเทศไทยฝ่าวิกฤตไว้ดังนี้

การสร้างมหานครแห่งโลจิสติกส์ หรือ LOGISTOPOLIS
ประการที่ 1 โลจิสติกส์ที่ขยายขอบเขตความเข้าใจให้ครอบคลุม
ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

เดิมนั้นโลจิสติกส์ในทางธุรกิจนั้นหมายถึง การจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่นจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งในความเห็นผมแล้วเป็นความหมายที่แคบเกินไป ทำให้ไทยไม่สามารถเล่นบทบาทสำคัญในภูมิภาคได้มากเท่าที่ควร

โลจิสติกส์นี้ไม่ควรจำกัดเพียงกิจกรรมการขนส่งเดินทางหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้นแต่ควรใช้ในความหมายที่ครอบคลุมในทุกเรื่องเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ได้อย่างแท้จริงผมจึงเสนอให้ไทยขยายความหมายโลจิสติกส์ใหม่ และใช้กลยุทธ์ทางโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมขึ้น อาทิ

โลจิสติกส์ในทางภาษา (linguistic logistics) เช่น ประเทศในกลุ่ม CLMV นิยมละครไทยและเข้าใจภาษาไทยอยู่แล้ว ไทยจึงควรตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนในประเทศเหล่านี้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น

ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการตั้งศูนย์ภาษาไทยในมหาวิทยาลัยประเทศต่างๆมาตลอดหลายสิบปี เพราะนอกจากจะทำให้คนในประเทศดังกล่าวใช้ภาษาไทยติดต่อสื่อสารมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดอำนาจอ่อน (soft power) ในด้านอื่นตามมาด้วย

โลจิสติกส์ทางการเงิน (currency logistics) เช่น ปัจจุบันประเทศใน CLMV นิยมใช้เงินบาท การส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้เงินบาทอันจะเป็นประโยชน์กับไทย เป็นต้น

ประการที่ 2 โลจิสติกส์ที่ถูกสร้างบนวิสัยทัศน์โลก

การยกระดับโลจิสติกส์ไทยให้ได้ในเวลารวดเร็ว ต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ผมเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศไทย จึงมองว่าไทยต้องมีวิสัยทัศน์แข่งกับโลก แม้ว่าปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของไทยเปรียบเทียบกับทุกประเทศจะอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนจาก Logistics Performance Index ปี 2018 ให้ไทยอยู่อันดับที่ 32

ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมูลค่ามหาศาลกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอยู่แล้วเช่นสนามบินรถไฟความเร็วสูงท่าเรือน้ำลึกมอเตอร์เวย์รถไฟรางคู่ระบบจัดการน้ำ และการพัฒนาพื้นที่ผลิตและที่อยู่อาศัยเช่นเขตอุตสาหกรรมเมืองใหม่อัจฉริยะระบบจัดการน้ำขยะ

ดังนั้นโอกาสจึงอยู่ที่การสร้างระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพมารองรับ โดยผมมองว่าภาคตะวันออกควรมีการพัฒนาระบบการจัดการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกวางแผนและออกแบบตั้งแต่ต้นเช่นการออกแบบสนามบินอู่ตะเภาให้ผู้โดยสารสามารถออกจากสนามบินเร็วที่สุดในโลก เช่น 15 นาที นับตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน หรือการออกแบบท่าเรือน้ำลึก ให้สามารถนำสินค้าออกได้เร็วที่สุดในโลก (นับตั้งแต่สินค้ามาถึงท่าเรือ) เป็นต้น

ประการที่ 3 โลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั้ง 3 มิติ

โลจิสติกส์ในภาพรวมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสูงสุดหากมีความเชื่อมโยงกัน โดย

มิติที่ 1 เชื่อมโยงบก-น้ำ-อากาศ จัดระเบียบโลจิสติกส์ใหม่ พัฒนาระยองให้ไม่เป็นแค่มหานครการบิน (Aerotropolis) เท่านั้น แต่ต้องสามารถเป็นมหานครแห่งโลจิสติกส์ (Logistopolis) ของอาเซียนให้ได้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และเวลา คือ เป็นทั้งมหานครทางทะเล (Marinopolis) และมหานครการภาคพื้นทวีป (Landscopolis) ด้วย

มิติที่ 2 เชื่อมทุกจังหวัดในภาคตะวันออก เพราะปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานอยู่เลียบชายฝั่งทะเลและโครงการพัฒนาต่างๆอยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตรจากสนามบินวิกฤตที่ไทยเผชิญไม่สามารถแก้ได้ด้วยการพัฒนาที่กระจุกตัว แต่ต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่อีอีซีให้มากที่สุด โดยสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดโดยรอบให้มากขึ้นและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงทั้งภายในและระหว่างเมืองทั้งภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่างๆ

มิติที่ 3 เชื่อมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ผมเสนอ Dr.Dan Can Do’s Economic Integration Model โมเดลเศรษฐกิจเชื่อมวงจรเพื่อทำให้ธุรกิจเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้มีพลังมากกว่าการแยกส่วน เกิดความยืดหยุ่นต่อวิกฤต โดยเชื่อมต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งในรายภาคธุรกิจ และระหว่างภาคธุรกิจ

ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เช่นในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกลุ่มซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนย่อย, หรือวัตถุดิบต่างๆเพื่อส่งป้อนทางโรงงานผลิตซึ่งเป็นกลางน้ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการการจัดการและแปรรูปภายในโรงงานเพื่อให้กลายเป็นสินค้าที่ต้องการ และส่งไปยังปลายน้ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บขนส่งและส่งมอบสินค้าหรือบริการนั้นให้ไปถึงมือลูกค้าที่ต้องใช้สินค้าของเรา

ส่วนการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ คือ เชื่อมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและบริการเข้าด้วยกัน เช่นการทำสวนเกษตรให้เป็นภาคบริการ การท่องเที่ยวพร้อมกับเป็นโฮมสเตย์มีการฝึกทำอาหาร เปิดโอกาสในการทำกิจกรรมท้องถิ่นเช่นการทำศิลปะ หรือการเกษตรเพื่อให้มีประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ เป็นต้น

การจะนำอีอีซีและประเทศไทยให้พ้นวิกฤตนั้นมีปัจจัยเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่เพียงแต่เรื่องคมนาคมและโลจิสติกส์เท่านั้นสิ่งสำคัญนอกเหนือจากยุทธศาสตร์ คือ ภาวะผู้นำเพราะภาวะผู้นำ คือ ความสามารถในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้เป็นความจริง หากขาดซึ่งภาวะผู้นำ การผลักดันวิสัยทัศน์ใดให้สำเร็จคงจะเป็นไปได้ยาก