“ซีเคียวอินโฟ จับมือ 2 พันธมิตรชั้นนำ ชูเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ และโซลูชันด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน เน้นเสริมประสิทธิภาพการป้องกันภัยไซเบอร์รอบด้านให้กับองค์กร
บริษัท ซีเคียวอินโฟ จำกัด ผู้ให้บริการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ครบวงจร ในเครือบริษัทสามารถเทลคอม จับมือ 2 พันธมิตรชั้นนำ ARCTIC Security และ SecIron นำเสนอโซลูชันเครื่องมือป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Arctic Hub/EWS) และโซลูชันรักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชันบนมือถือ มุ่งเน้นช่วยเสริมประสิทธิภาพการป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อให้บริการที่ครอบคลุม รอบด้านกับองค์กร
โชติกา กำลูนเวสารัช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจเทคโนโลยีประยุกต์ด้าน ICT บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ซีเคียวอินโฟ_ได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตรชั้นนำ ARCTIC Security และ SecIron ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน”
“เพื่อเสริมประสิทธิภาพการให้บริการที่ครอบคลุมทุกความเสี่ยงของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยโซลูชันจาก ARCTIC Security จะเป็นบริการเครื่องมือป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Arctic Hub/EWS) ให้กับองค์กร”
“โดยสามารถให้ข้อมูล แจ้งเตือน และรายงานความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ขององค์กรได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจ และหาวิธีรับมือได้ก่อนที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ
สำหรับโซลูชันด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile Application Protection Solution) ของ SecIron จะช่วยให้การบริหารจัดการกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ในองค์กรเป็นไปอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถประเมินความเสี่ยงแบบอัตโนมัติสำหรับแอปพลิเคชันบนมือถือ
เพื่อสร้างรายงานพร้อมให้คำแนะนำในการแก้ไข สามารถป้องกันการทำวิศวกรรมย้อนกลับโดยไม่ต้องแก้ไขโค้ดหรือเพิ่มเติมโค้ดสำหรับแอปพลิเคชันบนมือถือ และมีโซลูชันการยืนยันและตรวจสอบตัวตนดิจิทัล ช่วยรักษาความปลอดภัยข้อมูลระบุตัวตนของผู้ใช้บริการ
จากโซลูชันดังกล่าวเมื่อให้บริการร่วมกับบริการหลักของซีเคียวอินโฟ เช่น บริการศูนย์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (CSOC) 24 ชั่วโมง หรือ บริการตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยง Cyber Security Risk Assessment (CSRA) ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง และป้องกันภัยไซเบอร์ได้ครอบคลุมครบวงจรมากขึ้น ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้”
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นเรื่องสำคัญต่อธุรกิจ
จากข้อมูล สถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ ของสกมช.ระบุว่า สามารถตรวจพบ หน่วยงานที่ถูกภัยคุกคามทางไซเบอร์โจมตีในปี พ.ศ. 2566 ทั้งสิ้น 1401 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 (ตุลาคม – ธันวาคม) ที่ตรวจพบ 61 เหตุการณ์ และในปี 2565 ตรวจพบ 835 เหตุการณ์
โดยในปี 2566 ตรวจพบรูปแบบการโจมตี 5 อันดับแรก คือ Hacked Website (Gambling), Hacked Website (Defacement), Fake Website, จุดอ่อนช่องโหว่ และ Finance Scam – หลอกลวงการเงิน Online
สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันภัยไซเบอร์ที่องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงอันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และผลประโยชน์ทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้
สอดคล้องกับผลสำรวจของ การ์เนอร์ ที่กล่าวถึงแนวโน้มภายในปี 2568 ว่า องค์กรชั้นนำกว่า 60% จะใช้เกณฑ์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกบริษัทคู่ค้า หรือพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจ ดังนั้นการมีเครื่องมือ และโซลูชันที่ช่วยเฝ้าระวัง และป้องกันภัยไซเบอร์ในทุกช่องทางจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งคู่ค้า และผู้ใช้บริการขององค์กร
Featured Image: Image by Freepik