Thursday, November 21, 2024
CIO TalkFinTech

สยาม ประสิทธิศิริกุล กับยุทธศาสตร์การพัฒนาไอที-ดิจิทัล เดินหน้ากรุงศรีสู่ Banking as a Service

สยาม ประสิทธิศิริกุล กับการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาไอที-ดิจิทัลของธนาคารกรุงศรี ในยุคที่อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเต็มรูปแบบ และกำลังทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ธุรกิจที่เน้นสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า หรือ Banking as a Service

สัมภาษณ์พิเศษ สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กับวิสัยทัศน์และการประเมินถึงความเปลี่ยนแปลง ก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในประเทศไทย ในยุคการเงินดิจิทัล

รวมถึงประเด็นสำคัญ ยุทธศาสตร์การพัฒนาไอที-ดิจิทัลของกรุงศรี บนถนนของการทรานส์ฟอร์มไปสู่ การเป็น Banking as a Service โดยมีเทคโนโลยีไอที ดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน สร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างประสบการณ์ครั้งใหม่ให้กับลูกค้า

อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

สยาม ในฐานะหัวเรือใหญ่ ด้านไอทีดิจิทัลของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้แสดงวิสัยทัศน์และประเมินถึงความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในประเทศไทย ในยุคการเงินดิจิทัล โดยกล่าวว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจ ความคาดหวังของลูกค้าและความต้องการใช้บริการทางการเงินในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก พลวัตไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวัน”

“อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เปลี่ยนจากการทำธุรกรรม (Transaction Business) กลายเป็นธุรกิจที่เน้นสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Experience Business) หรือการที่ Banking จะเปลี่ยนไปเป็น Banking as a Service โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

ธนาคารกรุงศรี ผู้ร่วมผลักดันอนาคตของสกุลเงินดิจิทัล

“อย่างกรุงศรีเองก็มีการเรียนรู้และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำงานของธนาคาร อาทิ CBDC กรุงศรีเป็นหนึ่งในสองธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกที่จะนำร่อง โครงการที่เปลี่ยนรูปแบบเงินบาทจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์ออกมาเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) เพื่อใช้งานในภาคประชาชน”

“โดยกรุงศรีได้มีการพัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน CBDC Krungsri เพื่อเป็นแอปพลิเคชันสำหรับทดสอบการใช้งาน สกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน (Pilot Test Retail CBDC) ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากร้านค้าที่เข้าร่วมทดสอบโครงการ Retail CBDC และปัจจุบันอยู่ในช่วงลงสนามทดลองใช้จริงในวงจำกัด”

“ซึ่งหลังจากช่วงทดลองสิ้นสุดลง ประมาณช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ทาง ธปท. จะมีการประเมินผลทุกด้าน เช่น เทคโนโลยี ความจำเป็นในการออกใช้งาน ความเสี่ยงและผลกระทบต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องรอฟังแผนจากทาง ธปท. อีกครั้ง”

“สำหรับกรุงศรีก็มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ธปท. ในเรื่อง CBDC อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในภาคการเงินในระดับประเทศ” สยาม กล่าว

เดินหน้า AI เสริมประสิทธิภาพกระบวนการทบทวนราคาสินทรัพย์

ขณะที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่อง (AI/ML) กำลังกลายเป็นความท้าทายของหลายๆ ธุรกิจ ข้อนี้ สยามอธิบายว่า “กรุงศรี มีการปรับตัวได้สอดรับกับเทคโนโลยีและความต้องการทางธุรกิจ โดยนำ AI มาใช้ คือ การทำ Model ในการประเมินทบทวนราคาสินทรัพย์ เช่น คอนโด หรือ บ้าน ซึ่งในแต่ละปี ธนาคารมีหน้าที่ที่จะต้องทบทวนราคาสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก”

“การนำ AI มาใช้ จะทำให้การทบทวนราคาสินทรัพย์เป็นไปอย่างรวดเร็วและลดภาระนักประเมินราคาด้วยเช่นกัน ซึ่งในอนาคตอาจมีการขยายจากการทบทวนสินทรัพย์ ไปยังการประเมินสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ หรือเพื่อการปล่อยกู้ ก็มีความเป็นไปได้”

“นอกจากนี้ กรุงศรี ยังมีแนวคิดในการนำ AI/ML ไปใช้ในอีกหลายๆ ส่วน เพื่อการบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า เช่น การ Verify รายได้ลูกค้าในการปล่อยกู้ หรือการทำ Digital Lending ต่างๆ เป็นต้น”

“การทำ AI/ML ต่างๆ เราทำบน Cloud Platform ทั้งหมด โดยมีการนำกระบวนการ Machine Learning Operations (MLOps) มาใช้ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการทำ Model Development ไปจนถึงการนำ Model ขึ้นไปใช้จริง รวมถึงการดูแลและบริหารจัดการ Model ให้เป็นระบบ อธิบายได้ มีการวัดผล และมีการปรับปรุงความแม่นยำอยู่ตลอด”

“ทั้งนี้ ในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของธนาคารไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศ แต่เรายังมองไปถึง Cross Border ด้วย ซึ่งการที่กรุงศรีเป็นพันธมิตรภายใต้เครือข่าย MUFG กลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีเครือข่ายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้หรือนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแต่ละประเทศ และส่งเสริมซึ่งกันและกัน” สยาม กล่าว

วาง 3 กลยุทธ์ไอทีดิจิทัล สนับสนุนภาพใหญ่ของธนาคาร

หากเราย้อนดูกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาสำหรับปีนี้ ที่วางไว้ 3 ด้าน คือ หนึ่ง การทำธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน สอง การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG และ สาม การพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม

คำถามสำคัญที่ตรงไปยัง ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีไอทีของกรุงศรี ว่า งานด้านไอทีและดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแผนธุรกิจของธนาคาร จะต้องทำอะไร บนยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์หลักในการพัฒนาอย่างไร ประเด็นนี้ สยามอธิบายว่า

“ในปีนี้กลยุทธ์ของงานไอทีมี 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย หนึ่ง Future ซึ่งก็คือ การเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการพัฒนางานด้านไอทีและดิจิทัล ให้เป็นมากกว่าเทคโนโลยี ธนาคารปัจจุบันต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถให้บริการในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปได้”

“ปรับ Business Model เป็น Banking-as-a-service (BaaS) ให้บริการโซลูชันและเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการทำธุรกรรมระหว่างกัน และการมีส่วนร่วมหรือทดสอบโครงการนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ๆ”

“กลยุทธ์ที่สอง Foundation ซึ่งหมายถึงพื้นฐานของงานด้านไอทีและดิจิทัล ทั้งในด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า การมีโครงสร้างระบบ Core Banking ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุด คือ พนักงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ต้องมีการพัฒนาพนักงานให้เรียนรู้ เข้าใจในด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”

“และกลยุทธ์ที่สาม Innovation Culture หรือวัฒนธรรมนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้น วัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนวัตกรรมให้กับพนักงานกรุงศรี โดยไม่ได้เฉพาะกับพนักงานสายงานด้านไอทีและดิจิทัลเท่านั้น”

“นอกจากนี้กรุงศรียังมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ ทีมงานที่มีศักยภาพให้อยากร่วมงานกับกรุงศรี เช่น การเปิด Innovation Center ศูนย์กลางนวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชนสายเทคฯ นำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น”

สำรวจความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการพัฒนา

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้กลยุทธ์, สินค้า และบริการของกรุงศรีเดินหน้าตามเป้าหมายได้นั้น คงไม่พ้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ตลอดจนระบบหลักของธนาคาร (Core Banking) ที่ต้องมีความสามารถเพียงพอ รองรับกระบวนการทางธุรกิจและความต้องการลูกค้าได้

สยาม อธิบายว่า “สำหรับ Data Center เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญของกรุงศรีในการตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการข้อมูล และสนับสนุนการส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า”

“โดยในช่วงปีที่ผ่านมาเรามีโครงการ DC Relocation หรือการย้ายศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก ไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งใหม่ (New Data Center) ซึ่ง New Data Center นี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่หนึ่งของปี โดยมาพร้อมกับระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย สามารถรองรับและตอบโจทย์การพัฒนาระบบต่างๆ ในธนาคาร และบริการต่างๆ สำหรับลูกค้าได้ในอนาคต”

“ในส่วนของการพัฒนาระบบงานหลักของธนาคาร หรือ Core Banking อยู่ในช่วงการปรับปรุงให้ทันสมัย ให้สามารถตอบสนองต่อธุรกิจและลดต้นทุนในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่อไปในอนาคต”

ถนนที่มุ่งหน้าไปสู่ Banking as a Service

“ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นสิ่งที่กรุงศรีโฟกัส การเปลี่ยนแปลงไปสู่ Banking as a Service เราเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในด้านต่างๆ ผ่านการเชื่อมต่อกับระบบภายในธนาคารและพาร์ตเนอร์ได้อย่างไร้รอยต่อ”

“มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือมี Features ใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น”

“อย่างไรก็ดี ในส่วนของการพัฒนาระบบงานหลักของธนาคารนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงคาดว่าจะต้องใช้เวลาต่อเนื่องสักระยะหนึ่งในช่วง 3-5 ปีนี้ ซึ่งนอกจากเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีแล้วยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการทำงานของธนาคารอีกด้วย”

“ซึ่งหลังจากแล้วเสร็จสมบูรณ์จะทำให้ธนาคารสามารถยกระดับความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและประสบการณ์ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี”

ย้ำความเชื่อมั่นลูกค้าด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

“Cyber Security เป็นหนึ่งในความท้าทายของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในปัจจุบัน สำหรับธนาคารนั้น ความปลอดภัยในการใช้บริการหรือการทำธุรกรรมเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังเป็นอย่างมากอยู่แล้ว”

“ซึ่งกรุงศรีก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบันตามมาตรฐานสากลอยู่ และมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ”

“รวมทั้งมีการเพิ่มความสามารถในด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงขององค์กรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับลูกค้า ขณะเดียวกัน การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Cyber Security กับทั้งพนักงานของเรา และลูกค้าก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น และเราได้มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง” สยาม กล่าวปิดท้าย