Friday, November 22, 2024
AINEWS

การพยากรณ์อากาศที่จะเร็วขึ้น 10,000 เท่าด้วยเทคโนโลยี AI

Pangu-Weather

Pangu-Weather แบบจำลองสภาพอากาศพลังเอไอ (AI) ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ซึ่งจะเข้ามาพลิกวิธีการพยากรณ์อากาศ ด้วยความเร็วมากกว่าการทำนายโดยใช้เทคโนโลยีเดิม 10,000 เท่า พยากรณ์ได้ในไม่กี่วินาที

ดือนกรกฎาคมปี 2566 น่าจะทำสถิติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว และอาจอบอุ่นที่สุดในรอบ 120,000 ปีด้วย โดยเมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามด้วย

การพยากรณ์อากาศแบบดั้งเดิมต้องใช้พลังการประมวลผลจำนวนมาก แต่ขณะนี้แบบจำลองสภาพอากาศพลัง AI แบบใหม่ ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ซึ่งจะเข้ามาพลิกวิธีการพยากรณ์อากาศไปเลย

โมเดลเอไอพยากรณ์อากาศ ผานกู่ เวเธอร์

ผานกู่ เวเธอร์ (Pangu-Weather) เป็นโมเดลเอไอพยากรณ์อากาศที่หัวเว่ย คลาวด์ พัฒนาขึ้น เพื่อให้พยากรณ์อากาศได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงความเร็วในการทำนายได้ถึง 10,000 เท่า ลดเวลาในการพยากรณ์อากาศทั่วโลกเหลือเพียงไม่กี่วินาที ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำนายล่วงหน้าและเตรียมการรับมือสภาพอากาศที่รุนแรง ผลลัพธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่าง เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566

ผานกู่ เวเธอร์ เป็นแบบจำลองการพยากรณ์ด้วยเอไอแบบแรก ที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการพยากรณ์อากาศด้วยตัวเลขแบบเดิม และเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกให้ใช้ได้ฟรีบนเว็บไซต์ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (European Center for Medium-Range Weather Forecasts หรือ ECMWF) เปิดโอกาสให้นักพยากรณ์อากาศ นักอุตุนิยมวิทยา ผู้ที่ชื่นชอบสภาพอากาศ และประชาชนทั่วโลก มีแพลตฟอร์มไว้ดูการพยากรณ์อากาศทั่วโลกตลอด 10 วันจากแบบจำลองผานกู่

การพยากรณ์อากาศที่จะเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี AI

นอกเหนือจากการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 10 วันแล้ว ทางศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรปยังเผยแพร่รายงาน  The rise of data-driven weather forecasting ที่เปรียบเทียบผลการพยากรณ์อากาศโดยผานกู่ เวเธอร์ กับระบบพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (NWP) ชั้นนำระดับโลกอย่างอีซีเอ็มดับเบิลยู ไอเอฟเอส (ECMWF IFS) ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2566 ด้วย

รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า การนำวิธีการเรียนรู้ของเครื่อง (ML) เช่น ผานกู่ เวเธอร์ มาใช้ อาจเป็น ตัวเปลี่ยนเกมสำหรับการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (NWP) แบบดั้งเดิมที่มีความก้าวหน้าค่อนข้างช้า ซึ่งทักษะในการพยากรณ์ได้เพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งวันต่อทศวรรษ (อ้างอิงจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO)

ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการประมวลผลที่สูงในการพยากรณ์ด้วยระบบพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขมาตรฐาน โดยแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องพร้อมเข้ามาปฏิวัติการพยากรณ์อากาศ ด้วยการพยากรณ์ที่ใช้ต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่ามากและมีการแข่งขันสูงในแง่ของความแม่นยำ

ดร.เทียน ฉี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สายเอไอของหัวเว่ย คลาวด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของ IEEE และเป็นนักวิชาการของสถาบันวิทยาศาสตร์ยูเรเชียนนานาชาติ (International Eurasian Academy of Sciences) อธิบายว่า “การพยากรณ์อากาศเป็นสถานการณ์ที่สำคัญที่สุดสถานการณ์หนึ่งของการคำนวณทางวิทยาศาสตร์

เพราะการพยากรณ์ทางอุตุนิยมวิทยาเป็นระบบที่ซับซ้อนมาก ยากที่จะพยากรณ์ให้ได้อย่างครอบคลุม แม้จะใช้คณิตศาสตร์และความรู้ทางกายภาพทุกด้าน โดยผานกู่ เวเธอร์ ทำระบบพยากรณ์หลักเสร็จแล้ว และมีศักยภาพหลักในการพยากรณ์วิวัฒนาการของสภาวะบรรยากาศ”

ความแม่นยำที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในการพยากรณ์อากาศที่รุนแรง

ความสามารถในการทำนายของแบบจำลองผานกู่ เวเธอร์ ได้รับการทดสอบในสถานการณ์ที่รุนแรง เช่น พายุยูนิซซึ่งพัดถล่มยุโรปฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และตอนที่สหราชอาณาจักรมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกในช่วงฤดูร้อนปี 2565 สองตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้น พยากรณ์สถานการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและให้คำแนะนำสำหรับการพยากรณ์ระยะกลางได้

การพยากรณ์อากาศจาก Pangu Weather ครอบคลุมศักยภาพทางภูมิศาสตร์ ความชื้นเฉพาะ ความเร็วลม และอุณหภูมิ ข้อมูลทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อการทำนายการพัฒนาระบบสภาพอากาศ เส้นทางพายุ คุณภาพอากาศ และรูปแบบของสภาพอากาศ โดยยังมีการนำผานกู่ เวเธอร์ ไปใช้ในการพยากรณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของไต้ฝุ่นขนุน ซึ่งเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 6 ในปีนี้ด้วย

ทางศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป ได้เรียกร้องให้แวดวงการพยากรณ์อากาศทั่วโลกนำแบบจำลองเอไอมาใช้เสริมระบบพยากรณ์มานานแล้ว และสำรวจจุดแข็งและจุดอ่อนของแบบจำลองดังกล่าว เพื่อช่วยในการจัดการสภาพอากาศ

ดร. เทียน ฉี กล่าวว่า “เรามีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างกรอบการพยากรณ์อากาศแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการพยากรณ์ที่มีอยู่”