Sunday, November 24, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน

ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความแตกต่างของคำว่า ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ทุนมนุษย์ (Human Capital) และ ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) เพราะสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและให้คุณค่าในการพัฒนามนุษย์

นุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างชาติ มนุษย์ยิ่งมีคุณภาพ ชาติยิ่งพัฒนาก้าวหน้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกลไกสำคัญในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะช่วยสร้างสมรรถนะในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและมีการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมขอกล่าวถึงหลายคำที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ทุนมนุษย์ (Human Capital) และ ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) ซึ่งผมคิดว่ายังไม่เคยมีการนิยามความหมายที่ชัดเจนว่า แต่ละคำมีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดของผมเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความแตกต่างของแต่ละคำดังนี้

1. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ให้มุมมองต่อมนุษย์ในแง่ของ การเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป กล่าวคือ มองมนุษย์ในลักษณะของการใช้กำลังแรงงาน และมองในเชิงปริมาณของกำลังแรงงาน ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสังคมเกษตรกรรมต่อเนื่องมาสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรม

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ยุคเกษตรกรรม มนุษย์ถูกมองเป็นทรัพยากรแรงงาน โดยมีที่ดินเป็นทุนที่สำคัญ

โลกมีการพัฒนาและการเปลี่ยนยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มุมมองต่อมนุษย์ในแต่ละยุคเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เช่น ในยุคสังคมเกษตรกรรม ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เนื่องจากการทำเกษตรกรรม กสิกรรม ปศุสัตว์ ต้องใช้ที่ดินเป็นหลัก เพราะการทำเกษตรมีทุนธรรมชาติ คือ ที่ดินเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ มนุษย์จึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญรองลงมาในการทำให้เกิดผลผลิตการเกษตร ขณะที่ทุนหรือเครื่องจักรในยุคแรกยังไม่ค่อยมีความสำคัญ

เราอาจสังเกตเห็นประเด็นนี้จากมหาวิทยาลัยในอดีต เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ มีภาควิชาเศรษฐกิจที่ดิน (Land Economy) ซึ่งตั้งมาเป็นเวลายาวนานมาก ตั้งแต่ยุคสังคมเกษตรกรรม ในอดีตภาควิชานี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินเศรษฐกิจเพื่อทำการเกษตร รวมถึงผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และปริมาณมนุษย์ที่ใช้ประกอบกับที่ดิน เป็นต้น

ในยุคเกษตรกรรม ที่ดินจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยมีแรงงานเป็นคนและสัตว์ใช้ประกอบกับที่ดิน ซึ่งหากแรงงานคนหรือสัตว์ไม่เพียงพอ ประเทศที่มีอำนาจมากจะไปกวาดต้อนแรงงานจากแหล่งอื่นมาเป็นทาส เป็นแรงงานราคาถูก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้มากขึ้น

 ยุคอุตสาหกรรม มนุษย์ยังถูกมองเป็นทรัพยากรแรงงาน โดยมีเครื่องจักรเป็นทุนที่สำคัญ

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เจมส์ วัตต์ ให้กำเนิดเครื่องจักรไอน้ำ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีและกระบวนการผลิตในประเทศอังกฤษเมื่อ 400 ปีที่แล้ว ทำให้อังกฤษพัฒนาเป็นมหาอำนาจของโลกในเวลานั้น นักเศรษฐศาสตร์อย่าง อดัม สมิธ เพิ่มเติมองค์ประกอบที่สำคัญอีกตัวหนึ่งเข้าไปในการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือ ทุน หรือ เครื่องจักร โดยที่ยังคงมองมนุษย์เป็นเพียงทรัพยากรแรงงานเท่านั้น

ในยุคอุตสาหกรรม มนุษย์สู้เครื่องจักรไม่ได้ในเชิงพลังการผลิต เมื่อนำเครื่องจักรมาทำงาน ทำให้ได้ผลผลิตที่มากกว่า และคงเส้นคงวามากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้งานคน เราจึงเห็นว่าประเทศที่แปลงโฉมมาเป็นอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรในการผลิต จะร่ำรวยขึ้น และร่ำรวยกว่าประเทศที่เป็นเกษตรกรรม โดยแบบแผนนี้เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกก่อน และแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ โดยไทยก็เดินตามแบบแผนนี้ด้วยเช่นกัน

2. ทุนมนุษย์ (Human Capital)

คำว่า “ทุนมนุษย์” ให้มุมมองต่อมนุษย์ในแง่ของ การเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วไม่หมดไป กล่าวคือ มองมนุษย์ในเชิงคุณภาพ และการใช้สมรรถนะซึ่งมีพลังความเอกอุในเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหลังอุตสาหกรรม

นักเศรษฐศาสตร์ในยุคหลังอุตสาหกรรม เช่น Gregory MankiwDavid Romer และ David Weil ต่อยอด แบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจของ Robert Solow โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามเพิ่มเติมเรื่องทุนมนุษย์เข้าไปในแบบจำลอง เพื่ออธิบายว่า การลงทุนระหว่างประเทศไม่เคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่ยากจน เนื่องจากผลผลิตและผลผลิตส่วนเพิ่มจากทุน (marginal product of capital หรือ K) ในประเทศยากจนจะต่ำ เพราะ พวกเขามีทุนมนุษย์น้อยกว่าประเทศร่ำรวย

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องทุนของผมแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ หากเราพิจารณาคำในภาษาละติน คือ “Capitalis” ที่คนไทยมักจะแปลว่า “ทุน” นั้น ผมคิดว่ายังไม่ได้สะท้อนความหมายที่แท้จริงของรากศัพท์ในภาษาเดิม ในแนวคิดของผม “ทุน” หมายถึง ความเอกอุ ที่นำไปร่วมกับอะไรก็ตามในการผลิต แล้วทำให้เกิดพลัง ซึ่งทุนในที่นี้มีหลายประเภท

หากจัดตามประเภทคลื่นอารยะ (อ้างจากหนังสือ สยามอารยะ แมนนิเฟสโ: แถลงการณ์สยามอารยะ โดยผู้เขียน) เราอาจจำแนกงานหลักของคนในคลื่นแต่ละยุค ได้ดังต่อไปนี้

คลื่นลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน มนุษย์ทำงานที่ใช้เท้าเป็นหลัก (Foot Labour) เพราะในเศรษฐกิจจากป่า (Forest Economy) งานหลักของคน คือ การหาของป่าและล่าสัตว์

คลื่นลูกที่ 1 สังคมเกษตรกรรม มนุษย์ทำงานที่ใช้มือเป็นหลัก (Hand Labour) โดยในเศรษฐกิจการเกษตร (Agricultural Economy) ปัจจัยการผลิตที่สำคัญในยุคนี้ คือ ที่ดิน

คลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม มนุษย์ทำงานที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก (Body Labour) โดยในเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีอำนาจในยุคนี้ คือ ทุน

คลื่นลูกที่ 3 สังคมข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ทำงานที่ใช้หัวใจเป็นหลัก (Emotion Labour) เพราะในเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร (Information Economy) ปัจจัยสำคัญแห่งยุคนี้ คือ การสัมผัสข้อมูลข่าวสารด้วยใจ

คลื่นลูกที่ 4 สังคมความรู้ มนุษย์ทำงานที่ใช้สมองเป็นหลัก (Mind Labour) เพราะในเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) เน้นงานที่ใช้ความคิดนำหรือใช้สมองเป็นหลัก

คลื่นลูกที่ 5 สังคมปัญญา มนุษย์ทำงานที่ใช้เจตน์เป็นหลัก (Volition Labour) เพราะในเศรษฐกิจปัญญา (Wisdom Economy) มุ่งเน้นการทำงานที่มีเจตนาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและทุกกลุ่มคนในสังคม ทั้งทางด้านวัตถุ ด้านกายภาพและจิตใจ

คลื่นลูกที่ 6 สังคมความดี มนุษย์ทำงานที่ใช้จิตเป็นหลัก (Spirit Labour) ในเศรษฐกิจความดี หรือ เศรษฐกิจอารยะ หรือ เศรษฐกิจคุณธรรม (Virtuous Economy or Araya Economy or Virtue Economy) ซึ่งจิตในที่นี้ ผมหมายถึง จิตวิญญาณหรืออุดมการณ์ อาชีพที่เกิดขึ้นในสังคมคลื่นลูกที่ 6 เช่น นักสร้างชาติ (Nation-Builder) ผู้นำขับเคลื่อนในการสร้างชาติ นักธุรกิจสร้างชาติ (Corporate Nation-Builder) และที่ปรึกษาด้านธรรมาภิบาล (Governance Consultant) เป็นต้น

ดังนั้น ทรัพยากรมนุษย์ และ ทุนมนุษย์จึงแตกต่างกันตรงที่ ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) คือ คนที่ใช้แรง ส่วนทุนมนุษย์ (Human Capital) คือ คนที่ใช้สมอง

ในความเห็นของผม มนุษย์จะเปลี่ยนจากทรัพยากรเป็นทุนที่มีความเอกอุ หากพัฒนาให้ใช้สมองมากขึ้น หรือเปลี่ยนจากการใช้ แรงควาย มาเป็นแรงขวิด มนุษย์เมื่อใช้สมองจะทำให้เกิดพลังความเอกอุมากกว่าใช้แรงงาน มนุษย์จึงแตกต่างจากสัตว์ตรงที่คิดได้ หาความรู้ได้ หาความรู้เป็น ทำให้มนุษย์มีความสามารถสูงกว่าสัตว์

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนมนุษย์ให้ทรงพลัง ต้องเปลี่ยนให้มนุษย์ใช้ความคิด เพราะความคิดเป็นรากเหง้าของความรู้และปัญญา ทำให้มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้เป็นเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นนวัตกรรม เป็นต้น

Image by Freepik
3. ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality)

คำว่า “ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์” (Human Potentiality) หมายถึง สภาพสูงสุดของสมรรถนะและความสามารถ ที่มนุษย์จะพัฒนาไปถึงได้ในตลอดช่วงชีวิตแต่ละคน ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์เป็นเหมือนพลังเอกอุที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งหากได้รับการพัฒนาและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ จะทำให้มนุษย์ได้รับการเติมเต็มในชีวิต และทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้อย่างสูงสุด

ผมเชื่อว่า มนุษย์มีพลังมากกว่าสิ่งใด และสิ่งอื่นทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ เราจึงต้องให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ซึ่งจากสถิติของประเทศไทยมีจำนวนแรงงาน 40 ล้านคน ประกอบด้วย แรงงานกรรมาชีพ 20 ล้านคน ได้แก่ เกษตรกร พนักงานในโรงงาน และเป็นแรงงานวิทยาชีพ 18 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานที่ใช้ความคิดมากกว่าใช้แรง เช่น พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ เจ้าของกิจการ แพทย์ ฯลฯ และแรงงานธนาชีพ 2 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของกิจการ

มนุษย์จะทรงพลังอย่างที่ควรจะเป็น ต้องขยับลำดับขั้นขึ้นมา โดยการขยับเป็นลำดับขั้น จากทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) และจนถึงการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) ในที่สุด ซึ่ง การจะบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ต้องเริ่มจากการสอนคนให้คิด เช่น การสอนคนให้คิดเป็น คิดบวก คิดคิดครบ และคิดดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดพลังการคิดยิ่งใหญ่ และสามารถเอาพลังการคิดไปใส่ในสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นต้น

ผมคิดว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและให้คุณค่าในการพัฒนามนุษย์ เพื่อที่จะสามารถทำให้มนุษย์บรรลุถึงศักยภาพสูงสุด และนำมาประยุกต์บูรณาการต่อยอด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของคนไทยในเวทีระดับอาเซียนและระดับโลกได้ ซึ่งผมจะขอเสนอแนวทางในการพัฒนาคนไทยให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดในบทความต่อๆ ไปครับ

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by benzoix on Freepik