“ตามต่อกับโครงการเรือธงที่ สสว. วางไว้เป็นหมุดหมายหลักสำคัญการพัฒนา ที่จะนำความสำเร็จมาสู่เอสเอ็มอี (MSME) ในสถานการณ์แห่งการฟื้นฟู พลวัตรความก้าวหน้าของธุรกิจ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และแรงขับเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ในบทความ สสว. กับโครงการ Flagships สร้างการเติบโตให้ MSME ตอนที่ 2 จะได้อธิบายเพิ่มเติมถึงโครงการเรือธงที่ สสว.ตั้งขึ้นมาเพื่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการมองยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างรอบด้าน ทั้งมิติของโอกาสทางการตลาดและการขาย การสนับสนุนการเงิน การให้องค์ความรู้ การเข้าถึงแหล่งข้อมูล ผ่านเครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัล
รวมถึงข้อชี้แนะจาก ดร.อภิรดี ขาวเธียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสว. ถึงตัวแปรความสำเร็จของเอสเอ็มอี ในสถานการณ์แห่งการฟื้นฟู พลวัตรความก้าวหน้าของพฤติกรรม ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และแรงขับเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยข้อมูล
ดร.อภิรดี กล่าวถึง วิสัยทัศน์ของการพัฒนา SME ด้วยข้อมูลว่า “สสว. เป็นคนรวบรวมข้อมูลกลางทางด้าน SME เป็น SME Dashboard Big Data ที่ตั้งธงไว้ว่าอยากจะให้ SME ได้มาใช้ประโยชน์ รวมถึงอยากจะให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SME ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้”
“เป็นฐานข้อมูลเชิงโครงสร้างที่ได้ว่ามีความสมบูรณ์ พร้อมรองรับการใช่งาน เพราะว่า ได้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งที่เป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ ทุกหน่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลของผู้ประกอบการที่จดทะเบียน, ข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน ที่ผ่านการเก็บ สำรวจอย่างเป็นระบบและเชื่อถือได้”
” เรื่องการสร้างฐานข้อมูล มีความสำคัญอย่างแท้จริง เพราะเป็นการรู้จักตัวตน SME สามาารถวางแนวการสนับสนุนและพัฒนาได้อย่างตรงประเด็น มองเห็นพัฒนาการของ SME เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้วย Data ของประเทศไทย”
เร่งสปีดกระบวนการทางธุรกิจด้วย SME One ID
หนึ่งในความต้องการวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กก็คือ ความเชื่อมั่นกับลูกค้าที่หมายถึงตัวตนบนโลกธุรกิจ ที่ต้องอาศัยกระบวนการ เอกสาร ในการพิสูจน์และยืนยันสถานภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น หลักฐานการจดทะเบียนธุรกิจ ประกาศนียบัตร ใบรับรองความสามารถ หรือประสบการณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการติดต่อเสนองาน เจรจาธุรกิจ ตลอดจนการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ
“หนึ่งในความตั้งใจหนึ่งของ สสว. ที่พร้อมสร้างกระบวนการยืนยันตัวตนให้กับผู้ประกอบการ เพราะนั้นหมายถึงโอกาส ความน่าเชื่อถือ และกระบวนการธุรกิจที่รวดเร็ว”
“เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด SME One ID ขึ้นมา ซึ่งเป็นบริการออกเลขประจำตัวทางธุรกิจ (ID) สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจให้เร็วขึ้น ลดขั้นตอน และเอกสารต่างๆ”
“เมื่อผู้ประกอบการมี ID แล้ว ข้อมูลของท่านจะถูกส่งผ่านยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแค่ใส่เลขประจำตัว ข้อมูลที่เป็นพื้นฐานก็จะถูกดึงขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และต้นทุน”
กรณีที่ผู้ประกอบการต้องการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ เพื่อรับบริการต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน SME One ID แล้ว กระบวนการดังกล่าวจะรวดเร็วมาก ซึ่งในอนาคตคาดว่าบริการต่างๆ จะผูกโยงกับ SME One ID เกิดการยกระดับการบริการทั้งระบบ
“เรื่องนี้เป็นความพยายามของสสว. ที่มาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการพัฒนา SME One ID คล้ายกับการมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ความพยายามที่อยากจะผลักดันให้เกิดกระบวนการการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ เวิร์คโฟลว์ และรัฐบาลดิจิทัล” ดร.อภิรดี กล่าว
อยากเห็น SME เติบโตไปเป็นระดับใหญ่
“ตลอดระยะเวลาของการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ SME สสว. พยายามที่จะเก็บข้อมูลแล้วก็อยากดูว่ามี SME ที่เติบโตจากขนาดย่อย (Micro) ไปเป็นขนาด เล็ก (Small) เป็นขนาดกลาง (Medium) และก้าวไปสู่ขนาดใหญ่ (Large) ได้มากน้อยเท่าใด ปัจจุบัน เราเห็นผู้ประกอบการ SME ก้าวไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพันราย”
“ในขณะที่ ความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นพัฒนาการของผู้ประกอบการก็คือ ความตื่นตัวในเรื่องของการใช้ดิจิทัลมากขึ้น จริงอยู่ที่ระดับของการใช้ระบบดิจิทัลจะต่างกัน SME หลายๆ มีความคุ้นชินกับการใช้ระบบอีคอมเมิร์ซ”
“เราเห็นความตื่นตัวค่ะเรื่องของการใช้ดิจิทัลง่ายๆ เลยก็อย่างน้อยก็ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการค้าขาย เรื่องของอีคอมเมิร์ซอันนี้ก็ทุกคนก็เก่ง แต่เราอยากจะเห็นพัฒนาการในขั้นต่อไปคือ การใช้ดิจิทัลมาใช้ในการทำระบบหลังบ้าน เช่น บัญชี เวิร์กโฟลว์ ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบและอื่นๆ”
“เรื่องของการบริหารธุรกิจมันไม่ได้มีแค่ขาย มันมีเรื่องของการบริหารต้นทุน การบริหารคน การบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ ดิฉันอยากจะเห็นผู้ประกอบการนำเรื่องระบบมาใช้ เพื่อทำให้ธุรกิจของคุณพร้อม แล้วก็สามารถนำข้อมูลเชิงธุรกิจมากต่อยอดในการทำธุรกิจของเรา” ดร.อภิรดี กล่าว
อย่ามองข้ามเทรนด์เรื่องความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม
ในยุคที่ต้องการการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งต้องรู้จักการใช้งานเทคโนโลยี เข้าถึงข้อมูล และตามทันทิศทางหรือกระแสต่างๆ ที่จะกลายเป็นดีมานด์ของโลกธุรกิจ
“อีกเรื่องอยากจะฝากไว้ด้วยก็คือประเด็นเกี่ยวข้องกับ สถานการณ์ด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ต้องคิดไว้เสมอว่าเอสเอ็มอีของไทยอยู่ในห่วงโซ่การค้าอุปทานของผู้ประกอบการรายใหญ่”
“เรื่อง Sustainability มาแรงจริงๆ และมาเร็วกว่าที่เราคิด เพราะฉะนั้นอยากจะฝาก SME ไว้ว่า อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวตอนนี้มันใกล้ตัวมาก เพราะว่าต่างประเทศตื่นตัวมาก หากธุรกิจของท่านสามารถปรับตัวสอดรับกับทิศทางของตลาดโลกและทิศทางของผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศได้ ก็จะสามารถสร้างโอกาสบนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้”
การที่ SME ไทยนั้นจะเติบโต พัฒนา ย่อมต้องมีตัวช่วย โดยเฉพาะภาครัฐที่สามารถสนับสนุนด้วยนโยบายและแผนการต่างๆ แน่นอนผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่นั้นเก่งในเรื่องการผลิตแต่ส่วนใหญ่แล้วขาดในทักษะบางอย่าง แน่นอน สสว. เป็นคนยื่นมือเข้ามาช่วย ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งผลัก ดัน สร้างความสำเร็จด้วยเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนในทุกๆ มิติ
ในปีพ.ศ.2566 และในอนาคต ผู้ประกอบการต้องปรับแนวคิดเก่าๆ เกี่ยวกับบริการภาครัฐ ที่เป็นอนาล็อก เชื่องช้า ทำงานไม่ตอบโจทย์ โลกและธุรกิจ เพราะวันนี้ หน่วยงานอย่างสสว. และโครงการต่างๆ ที่ได้ไล่เรียงมาล้วนสะท้อนได้ถึงวิสัยทัศน์และตอกย้ำความตั้งใจจริงที่จะเห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนของผู้ประกอบการ
อ่าน สสว. กับ กับโครงการ Flagships สร้างการเติบโตให้ MSME (ตอนที่ 1)