Friday, November 22, 2024
AINEWS

KBTG เผยวิสัยทัศน์และมุมมองด้าน AI

KBTG เผยวิสัยทัศน์และมุมมองด้าน AI “The Age of AI: Augmented Intelligence” พร้อมยกระดับผ่านความร่วมมือระดับชาติ

KBTG ร่วมกับพันธมิตร เร่งพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ ด้วยการทดลองพร้อมสาธิตให้เห็นว่า AI สามารถให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดียิ่งขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยในแง่มุมต่างๆ และเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศต่อไปในอนาคต เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจมองว่า AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายส่วนโดยเฉพาะ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่มาแรงอยู่ขณะนี้ จนเกิดเป็นกระแสว่าในอนาคตอันใกล้ AI อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ทุกอย่าง

แท้ที่จริงแล้วการที่จะใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือการที่ “มนุษย์” กับ “AI” ทำงานร่วมกัน กลายมาเป็นแนวคิด Augmented Intelligence หรือการใช้ AI ยกระดับการทำงานและความสามารถของมนุษย์ ที่ไม่ได้หมายความว่าทดแทน ผ่านการสร้างโมเดล Machine Learning ที่วางคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric)

โดย AI สามารถรับฟีดแบ็คและประสบการณ์ต่างๆ จากมนุษย์ พัฒนาข้อมูลออกมาเป็นแนวทางที่กลับมาช่วยให้มนุษย์สามารถทำการตัดสินใจและกระทำการบางอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

และจากแนวคิด Augmented Intelligence นี้ ทาง KBTG ได้นำมาพัฒนาต่อยอดสู่การวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการให้กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ที่เป็นกลไกเบื้องหลัง Chatbot ช่วยแนะนำการตอบปัญหาลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ จนปัจจุบันช่วยประหยัดเวลาของลูกค้าในการใช้งานจริงไปกว่า 300,000 ชั่วโมง หรือ Wealth PLUS ฟีเจอร์แนะนำการลงทุนบนแอป K PLUS เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานด้าน AI ที่ KBTG ทำร่วมกับ MIT Media Lab ก่อนหน้านี้เคยได้มีการเปิดตัวผลงาน “Future You” แพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสนทนากับ Digital Twin ของตัวเองในอนาคตผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (GPT) ที่ปรับให้เหมาะสมตามข้อมูลเป้าหมายในอนาคตและนิสัยส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพื่อให้การสนทนารู้สึกเหมือนจริงและเพิ่มความน่าเชื่อถือ ระบบจะสร้างความทรงจำสังเคราะห์เฉพาะบุคคลของผู้ใช้งานในอนาคตในวัย 60 ปี พร้อมปรับให้ภาพเหมือนของผู้ใช้เปลี่ยนไปตามอายุ

งานวิจัยชิ้นนี้พัฒนามาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ศึกษา “ความต่อเนื่องของตัวเองในอนาคต” หรือ “Future Self Continuity” ว่าด้วยความความเชื่อมโยงที่บุคคลรู้สึกกับตัวเองในอนาคต

ซึ่งจากผลจากการศึกษาเบื้องต้นกับผู้เข้าร่วม 188 คน ผู้ใช้ที่ได้สนทนากับตัวเองในอนาคตผ่านเทคโนโลยี Future You สามารถช่วยลดความรู้สึกด้านลบ เช่น ความวิตกกังวล และเพิ่มความการคิดเชิงบวกเเละเเรงจูงใจในการใช้ชีวิตได้ รวมถึงมีทัศนคติต่ออนาคตในทางบวกมากขึ้น มีเเรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายในอนาคตให้สำเร็จ

นอกจากนี้ KBTG และ MIT Media Lab ยังได้พัฒนาต่อยอด AI ไปสู่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง คือ K-GPT (Knowledge-GPT) ซึ่งเป็นการใช้ความสามารถของ ChatGPT ในการให้ความรู้เชิงลึกเฉพาะด้าน โดยปรับให้ใช้ภาษาในการสนทนาที่เป็นมนุษย์มากขึ้น

รวมถึงเสริมความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยให้มากยิ่งขึ้น สามารถตอบคำถามและแนะแนวทาง เสมือนเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ถามในแง่มุมที่แตกต่างกันพร้อมๆ กันได้ โดย KBTG Labs และนักศึกษาจาก MIT Media Lab ได้ร่วมกันสร้างงานวิจัย Proof of Concept ที่ชื่อว่า “คู่คิด” ผ่าน AI น้องคะน้าและคชาที่จะตอบคำถามในมุมที่ต่างกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้งาน

สำหรับสองงานวิจัยนี้ KBTG ต้องการที่จะทดลองและสาธิตเห็นว่า AI สามารถให้ข้อมูลที่ช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ภาษา ความลึกของความรู้ และอารมณ์

โดยล่าสุด KBTG ได้ร่วมมือกับ NECTEC และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาหารือความเป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศ โดยทั้งสามสถาบันกำลังร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นไกด์ไลน์เผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาในภาคธุรกิจแล้ว การพัฒนาคนด้าน AI ของประเทศไทยในมุมของภาครัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป ในการที่จะสร้างความตระหนักด้าน AI (AI Awareness) รวมถึงแนวทางให้กับคนไทย เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ