Saturday, November 23, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

แก้ยากจนอย่างได้ผลด้วย ตาข่าย 3 ชั้น

ผมปรารถนาจะเห็นประเทศไทย มีนโยบายและแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ประชานิยม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ให้คนยากจนหมดไปจากประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอ โมเดลตาข่าย 3 ชั้น (Poverty Solution Model) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ประเทศไทยอยู่ในช่วงทศวรรษแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก จนเกือบจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ทำให้ปัญหาความยากจนมีแนวโน้มดีขึ้น คนยากจนมีจำนวนลดลงอย่างมาก

แต่หนึ่งทศวรรษแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จบลงในที่สุด เนื่องจากฟองสบู่แตกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2540 และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น แม้ไม่ได้มีอัตราการขยายตัวที่ร้อนแรงเหมือนในช่วงก่อนวิกฤต แต่ก็ทำให้คนยากจนในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีคนยากจนอยู่ที่ 4.4 ล้านคน คิดเป็นร้อย 6.32 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลงจากปี พ.ศ.2555 ซึ่งมีคนยากจนอยู่ที่ 8.4 ล้านคน

แม้คนยากจนจะมีจำนวนลดลงไปมาก แต่ปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่ภาครัฐยังต้องพยายามแก้ไข โดยการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ผ่านมานั้น

นโยบายของรัฐและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ มักเน้นการแก้ไขแบบรวดเร็วด้วยการแจกเงินให้ประชาชนโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยม เพื่อสร้างคะแนนเสียงและบุญคุณให้กับประชาชน โดยหวังว่าประชาชนจะกลับมาลงคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

นโยบายแจกเงินทำให้คนยากจนพึ่งพารัฐมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงถึงร้อยละ 60 ของรายได้ต่อเดือน

นอกจากนี้คนที่เกือบจนบางครั้งอาจไม่ได้อยู่ในเป้าหมายความสนใจของผู้ออกนโยบาย ทำให้การแก้ไขความยากจนไม่ครอบคลุมทั้งระบบ และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น คนเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจนกลายเป็นคนยากจนที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เสมอไป

ปัจจุบันที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ละพรรคการเมืองล้วนแข่งขันกันนำเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อล่อใจให้ประชาชนเลือกพรรคของตน เช่น นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรโดยผลักดันราคาพืชผลการเกษตรให้สูงขึ้น นโยบายลดรายจ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่าเล่าเรียน หรือนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

ซึ่งนโยบายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนโยบายแบบประชานิยม ที่เน้นการแจกเงินเหมือนเดิม ซึ่งผมคิดว่า ไม่สามารถช่วยให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน

ผมปรารถนาจะเห็นประเทศไทย มีนโยบายและแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ประชานิยม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ให้คนยากจนหมดไปจากประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอ “โมเดลตาข่าย 3 ชั้น” (Poverty Solution Model) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป ประกอบด้วย

1. ตาข่ายชั้นที่ 1 การลดความยากจน (Poverty Reduction)

การลดความยากจนเป็นตาข่ายชั้นที่หยาบที่สุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงปริมาณ โดยเน้นมาตรการในระดับมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะมีผลทำให้คนจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจน ผ่านการได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ การไม่ถูกกีดกันทางสังคม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยนโยบายที่ช่วยลดความยากจน อาทิ

  1. การเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นแนวทางที่ช่วยลดความยากจนได้อย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนระดับน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้เรือทุกลำถูกยกสูงขึ้นด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กจำเป็นต้องพัฒนาแบบมียุทธศาสตร์เจาะจง ไม่ใช่ทำทุกเรื่อง ผมจึงเสนอแนวคิดการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเมืองหลวงโลกเฉพาะใน 4 จุดแกร่ง ประกอบด้วย เมืองหลวงอาหารโลก เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก เมืองหลวงสุขสภาพ (wellness) โลก และเมืองหลวงการอภิบาลคนชราโลก
  2. การปฏิรูปกลไกการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างกลไกการกำหนดนโยบายที่เป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ และอยู่บนฐานหลักวิชาการ ทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สร้างผลดีต่อการลดความยากจนอย่างยั่งยืน และป้องกันมิให้เกิดนโยบายที่ถูกชี้นำโดยชนชั้นนำ หรือนักการเมือง ซึ่งเน้นการกำหนดนโยบายที่เน้นประชานิยม
  3. การพัฒนานโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนยากจน เช่น นโยบายภาษีติดลบ (อ่านเพิ่ม การจัดเก็บภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative Tax) ในอิสราเอล) โดยการอุดหนุนรายได้เพื่อจูงใจให้คนยากจนทำงานมากขึ้น ซึ่งนโยบายนี้จะครอบคลุมประชากรที่ทำงานได้เกือบทุกคน จึงช่วยกระจายรายได้ไปสู่คนจนได้ดียิ่งขึ้น และยังจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น
  4. การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้คนยากจนสามารถนำใบเสร็จรับเงินที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาขอคืนภาษีได้ เป็นต้น นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่จำเป็นสำหรับคนยากจน เช่น การร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อวิจัยยาที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาราคาถูกลง เป็นต้
  5. การลงทุนในทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการสร้างระบบพัฒนาสมรรถนะพื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Competency: UBC) เพื่อรับประกันให้คนทุกคนมีสมรรถนะที่จำเป็นในการทำงานและใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับโลกในอนาคต โดยส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรมและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และสร้างกลไกที่จูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู ตลอดจนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
  6. การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยพัฒนากลไกสถาบันในการกำกับดูแลการผูกขาดทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการแข่งขัน และสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งโอกาสที่คนที่มีความสามารถและขยัน สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองขึ้นมาได้
  7. การกระจายความมั่งคั่ง โดยไม่เสียแรงจูงใจในการผลิต โดยสร้างกลไกการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องตามผลิตภาพแรงงาน และการรณรงค์ให้คน “ตัวใหญ่โต” ช่วยคน “ตัวเล็กน้อย” ตลอดจนการสร้างกลไกที่จูงใจให้คนรวยเกลี่ยความมั่งคั่ง เช่น การส่งเสริมกิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคมของคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น
  8. การจัดการที่สาเหตุของปัญหาความยากจน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความไม่สงบ การเมืองที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน การเข้าไม่ถึงทุน โดยการพัฒนานโยบายต่างๆ เช่น การจัดตั้ง “บรรษัทส่งเสริมการแปลงทรัพยากรให้เป็นทุน” ทำหน้าที่ช่วยแปลงสิ่งต่างๆ ที่บุคคลหรือชุมชมมี ให้เป็นทุนทางการเงิน เช่น ทุนวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ (ทักษะ ความรู้ ความดี) การปฏิรูประบบการเข้าถึงแหล่งทุนโดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของ และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อจัดหาที่ดินให้คนจน เป็นต้น
2. ตาข่ายชั้นที่ 2 การบรรเทาความยากจน (Poverty Alleviation)

การบรรเทาความยากจนเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ การลดความรุนแรงและความยากลำบากของกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะความยากจน โดยเน้นมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม หรือตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net)

ด้วยการจัดบริการสาธารณะ ทั้งในแบบถ้วนหน้า การประกัน และการสงเคราะห์ เช่น การนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าในระบบเพื่อให้เข้ามารับการดูแลจากภาครัฐ การจูงใจและบังคับออม เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมเพียงพอในยามเกษียณอายุ การจัดระบบสวัสดิการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายและให้ประชาชนร่วมจ่าย และการพัฒนาระบบสวัสดิการแบบมีเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้คนยากจนทำงานเพิ่มขึ้น หรือให้ครอบครัวยากจนที่ส่งลูกเรียนหนังสือ

3. ตาข่ายชั้นที่ 3 การขจัดความยากจน (Poverty Eradication)

การขจัดความยากจนเป็นการกำจัดความยากจนในเชิงรุกและเชิงลึก เพื่อทำให้ความยากจนหมดไป หรือทำให้ความยากจนอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในแง่จำนวนคนยากจนและความรุนแรงของความยากจน โดยเน้นมาตรการแบบเจาะจงไปยังกลุ่มคนยากจน หรือมาตรการแบบตัดเสื้อพอดีตัว (tailor-made)

เช่น สร้างงานให้ผู้พิการ การช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสเพื่อให้พึ่งตนเองได้ การจัดหางานพิเศษให้กับนักเรียนนักศึกษา เพื่อหารายได้พิเศษ และการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเจาะจงกลุ่มที่ยากจนหรือสร้างเงื่อนไขทำให้คนแก่ที่มีฐานะดีไม่มารับเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

ความยากจนเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายและต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา แต่ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลและบุคลากรภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์และกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ครอบคลุมคนจนทุกระดับ และเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งร่วมมือกับภาคธุรกิจและประชากิจในการพัฒนาประเทศ คนยากจนจะหมดไปจากประเทศไทยในไม่ช้าอย่างแน่นอน

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by jcomp on Freepik