“ศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ บนโครงข่ายที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ประสานศักยภาพของ 5G ร่วมกับ cloud computing และการประมวลผลที่ปลายทางเครือข่าย Edge เพื่อรองรับ real-time enterprise ที่จะเปิดโลกของบริการ โมเดลธุรกิจ และการสร้างรายได้แบบใหม่
5G ที่เปิดให้บริการไปในหลายประเทศ นับเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเรา มีส่วนเสริมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2021 จะมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟน ทั่วโลกมากถึง 1 พัน 5 ร้อยล้านเครื่อง คิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 11.4 ต่อปี โดยจะมีร้อยละ 35 เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G
สำหรับโครงข่าย 5G มีการคาดการณ์ว่า การลงทุนในโครงข่าย 5G ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 67 จาก 784 ล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2019 เพิ่มเป็น 4.78 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี ค.ศ. 2027
จากการเติบโตทั้งจำนวนผู้ใช้บริการและการลงทุนในโครงข่าย 5G ประกอบกับความคาดหวังของผู้ใช้บริการทั่วไปและองค์กรที่ต้องการบริการ real-time ที่มี latency ต่ำเพื่อการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น
องค์กรสามารถใช้งานธุรกิจเชิงลึก การประมวลผลทางภาพความละเอียดสูง ตอบสนองการใช้งานสำหรับรถยนต์อัจฉริยะ รองรับภารกิจที่สำคัญของประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
จึงมีความจำเป็นต้องมีโครงข่ายที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ประสานศักยภาพของ 5G ร่วมกับ คลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) ที่นำทรัพยากรไปใกล้ผู้ใช้บริการ เพื่อรองรับ real-time enterprise
CLOUD COMPUTING
คลาวด์ (cloud) เป็นเทคโนโลยีที่เสริมศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางธุรกิจ ด้วยการส่งหน้าที่การจัดการบริหารเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูล (storage) ให้กับผู้เชี่ยวชาญดูแล ทำให้ธุรกิจสามารถจัดการกับธุรกิจหลักของตนได้อย่างเต็มที่ สามารถเพิ่มลดความต้องการทางด้านเครือข่ายดิจิทัลได้โดยไม่ได้ต้องลงทุนเองเหมือนแต่ก่อน
เพิ่มความคล่องตัวด้วยต้นลงทุนที่บริหารได้ตามความต้องการการใช้งาน แอปพลิเคชันสำหรับ 5G จำเป็นต้องมีการปรับสถาปัตยกรรมของ คลาวด์ เพื่อรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
LATENCY
Network latency คือเวลาที่ข้อมูลชุดหนึ่งใช้ในการเดินทางไปกลับระหว่างสองจุด กล่าวได้ง่ายๆ คือเวลาที่เราต้องรอระหว่างตั้งแต่กดเข้าเว็บไซต์ถึงเวลาที่มีการตอบสนองนั่นเอง ซึ่งโดยหลักการเราทราบกันดีว่าขึ้นกับหลายปัจจัย ตั้งแต่ความเร็วของเครือข่าย ปริมาณทราฟิกที่ใช้งานอยู่ ขนาดของข้อมูลที่รับส่ง จำนวนและการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ระหว่างช่องทางการสื่อสาร และที่สำคัญคือระยะทางระหว่างสมาร์ตดีไวซ์ (smart device) กับ เซิร์ฟเวอร์
โดยปกติแล้วเดต้าเซ็นเตอร์ (data center) มักตั้งในพื้นที่ที่มีราคาที่ดิน และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าถูก จึงมักจะเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมืองซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานแอปพลิเคชันสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ
เนื่องจาก latency มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ ผู้ใช้ไม่ต้องการรอคอย ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเกินกว่า 100 msจะถือว่าเป็นการตอบสนองที่ช้าเกินไปสำหรับผู้ใช้บริการ แม้จะขึ้นกับแอปพลิเคชันที่ใช้งานอยู่ก็ตาม
สำหรับการรับส่งอีเมล์ความเร็วประมาณนี้อาจจะไม่ถือว่าช้า แต่จะเป็นปัญหาสำหรับการใช้งานระบบเสมือนจริง (virtual reality) การใช้งานทางการแพทย์ระยะไกลการควบคุมอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมจากนอกสถานที่การใช้งานอุปกรณ์อัตโนมัติในอุตสาหกรรมกิจการที่สนับสนุนความปลอดภัยสาธารณะ การใช้งานได้อย่าง real-time มีความสำคัญกระทบต่อความปลอดภัย ความมั่นคง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการดำเนินการ
MOBILE EDGE COMPUTING
Edge จึงมีความสำคัญอย่างมาก เป็นการปรับสถาปัตยกรรมเครือข่ายให้ทรัพยากรในการประมวลผลอยู่ใกล้กับผู้ใช้งาน หรือ ใกล้กับแหล่งของข้อมูลมากที่สุด นับเป็นการกระจายความอัจฉริยะความสามารถในการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ไปสู่ Edge และจะมีเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นบางส่วนเท่านั้นที่ถูกส่งมาที่ศูนย์กลาง
เป็นการปรับสถาปัตยกรรมให้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับระหว่างสมาร์ตดีไวซ์ (smart device) กับ เซิร์ฟเวอร์เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีเพื่อการเสริมประสบการณ์การใช้งานบนโครงข่าย 5G ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
References
Gartner Says Worldwide Smartphone Sales to Grow 11% in 2021.
Verizon, “5G and edge computing,”.