Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ถอดรหัส เมืองพึ่งพาตนเอง (ตอนที่ 1)

Self Sufficient Cities

ในบทความชุดนี้ จะชวนท่านผู้อ่านคิดตามเรื่องการพึ่งพาตนเองของชุมชน Self Sufficient Cities อีกหน่วยเศรษฐกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนความอยู่รอดยั่งยืนของประเทศ โดยตอนนี้จะอธิบายถึงคำถามว่า เมืองควรพึ่งพาตนเองหรือไม่? ควรพึ่งพาตนเองเมื่อใด? และควรพึ่งพาตนเองในเรื่องอะไร?

มื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก ซึ่งจัดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในหัวข้อเรื่อง Decoding the Future of Self – Sufficient Cities: ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง ผมได้กล่าวถึงแนวคิดที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์เพื่อตอบคำถามการเป็นเมืองพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทั้งชุมชน เมือง และประเทศ

แนวคิดหลักสำหรับการเป็นเมืองพึ่งพาตนเอง ควรเน้นทำให้ชุมชนภายใต้ความเป็นเมืองนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งผมเรียกว่า Self-Sustained Communities หรือ ชุมชนยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้การเป็นเมืองพึ่งพาตนเองนั้นมีหลายประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณา โดยในความชุด การถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง Self Sufficient Cities ใน ตอนที่ 1 นี้ ผมขออธิบาย 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

เมืองควรพึ่งพาตนเองหรือไม่?

การตอบคำถามในประเด็นนี้ สามารถพิจารณาจาก ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเปิดเสรีและการพึ่งตนเอง

1) กรณีการเปิดเสรี จะส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจของทั้งชุมชน เมือง และประเทศขยายตัว เพราะการเปิดเสรีทำให้ผู้เล่นทุกคนต่างผลิตในสิ่งที่เป็นจุดแกร่ง หรือผลิตตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แล้วนำผลผลิตไปค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ ทักษะ ความชำนาญเป็นพิเศษ (specialization) และการจัดสรรทรัพยากรไปในกิจกรรมที่มีผลิตภาพสูงสุด ส่งผลให้ชุมชน เมือง และประเทศได้ประโยชน์ มากกว่า การผลิตด้วยตัวเองทั้งหมด

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

แต่การเปิดเสรีมีข้อเสียคือ ขาดการกระจายความเสี่ยงเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นไปตามกลไกตลาดหรือการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีความเสี่ยงจากการต้องพึ่งพาชุมชน เมือง หรือประเทศอื่นค่อนข้างสูง

2) กรณีการพึ่งตนเอง จะส่งผลดีทำให้ชุมชน เมือง หรือประเทศ มีความเสี่ยงต่ำ เพราะเน้นการผลิตเพื่อบริโภคเองทั้งหมด แต่มีข้อเสียคือ เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำ ประชาชนยากจนลง รวมไปถึงเกิดความขาดแคลนสินค้าและบริการ หรือมีราคาแพง เพราะไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ หรือไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นความต้องการของประชาชน

ในความเห็นของผม ชุมชน เมือง และประเทศ ควรผลิตตามจุดแกร่ง ตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่ละชุมชนหรือเมืองควรพัฒนาฉลักษณ์ของเมือง (ลักษณะเฉพาะของเมืองที่สำคัญ 6 ด้าน) และใช้ฉลักษณ์ที่ไม่เหมือนเมืองอื่น เพื่อสร้างจุดขายของเมืองเพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิสภาพ การผลิตมีผลิตภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง ทำให้เมืองมีเศรษฐกิจที่ดี และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ดี การที่ชุมชน เมือง และประเทศมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ทำให้เกิดการพึ่งพิงอิงกัน (dependency) ชุมชน เมือง และประเทศจึงเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หรือผลกระทบจากวิกฤตภายนอก ชุมชนหรือเมืองจึงต้องป้องกันความเสี่ยง เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง

แต่กระนั้น การป้องกันความเสี่ยงมีต้นทุนที่ต้องจ่าย การสร้างชุมชนหรือเมืองพึ่งพาตนเองทั้งหมดมีต้นทุนสูง เพราะอาจต้องแลกมาด้วยความขาดแคลน และเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลง กล่าวโดยสรุป ชุมชนหรือเมืองจึงควรพึ่งพาตนเองบางระดับ ควรพึ่งพาตนเองแบบมีเงื่อนไข และควรพึ่งพาตนเองแบบมียุทธศาสตร์

เมืองควรพึ่งพาตนเองเมื่อใด?

เกือบทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะมีการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจกระแสรอง กล่าวคือ การสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง บางแนวคิดเสนอให้พึ่งตนเองแบบสุดโต่ง ต่อต้านโลกาภิวัตน์และระบบเศรษฐกิจเสรี โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ และพึ่งตนเองตลอดเวลา

คำถามสำคัญคือ ชุมชนหรือเมืองควรพึ่งพาตัวเองตลอดเวลาหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่า ชุมชนหรือเมืองไม่ควรพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์ ตลอดเวลา เนื่องจากการพยายามพึ่งพาตนเอง มีต้นทุนดังที่กล่าวแล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ประชาชนอยู่ในภาวะขาดแคลน เสียโอกาสในการได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจเสรี

การใช้ทรัพยากรไปผลิตเพื่อบริโภคเองมีต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ทำให้เสียโอกาสใช้ทรัพยากรในการผลิตสิ่งที่มีผลิตภาพมากกว่า และยังขัดแย้งกับธรรมชาติและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของมนุษย์โดยทั่วไป

ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ยินดีที่จะอยู่อย่างสมถะหรือบริโภคเท่าที่ผลิตเองได้ เพราะความพึงพอใจของมนุษย์มักเป็นการเปรียบเทียบกับคนอื่น คนจึงแสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น ผมจึงมีความเห็นดังนี้

1) ชุมชน เมือง และประเทศ ควรพึ่งพาตนเองได้เฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนประสบความยากลำบาก อาจมีความจำกัดด้านการค้าขาย การประกอบอาชีพ การเดินทางและขนส่ง ทำให้ค่าเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจเสรีลดลง ชุมชน เมือง และประเทศจึงควรนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิต เพื่อให้คนในชุมชนหรือเมืองอยู่รอดและผ่านวิกฤตไปได้

2) ชุมชนหรือเมืองควรเข้าสู่โหมดการพึ่งพาตนเองเมื่อเกิดวิกฤตระดับใด เราอาจเข้าใจว่า วิกฤตที่ยังซื้อขายกับภายนอก ขนส่ง เดินทางระหว่างกันได้ ยังไม่ต้องเข้าสู่โหมดการพึ่งพาตนเอง แต่ความจริงแล้วเมื่อเกิดวิกฤตจะมีคนในชุมชนหรือเมืองบางส่วนที่เริ่มมีปัญหา เช่น รายได้ตกต่ำ ขายผลผลิตได้น้อยลง ตกงาน คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ และชุมชนหรือเมืองต้องออกแบบให้มีระบบการช่วยเหลือกันและกัน

ดังนั้น ชุมชนหรือเมืองควรเข้าสู่โหมดการพึ่งพาตนเองทันทีเมื่อเกิดวิกฤต แต่เป็นการพึ่งตนเองบางระดับ ตามความรุนแรงของวิกฤต และพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์เมื่อวิกฤตรุนแรงจนไม่สามารถซื้อขายกับภายนอกได้

เมืองควรพึ่งพาตนเองในเรื่องอะไร?

คำถามแรก ชุมชนหรือเมืองควรพึ่งพาตนเองทุกเรื่องหรือไม่ ผมเห็นว่า ชุมชนหรือเมืองไม่ควรพยายามพึ่งพาตนเองทุกเรื่อง เพราะชุมชนมีทรัพยากรจำกัด มีความเชี่ยวชาญที่จำกัด หรือแม้แต่ระดับประเทศยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทุกเรื่อง

คำถามที่สอง ในช่วงวิกฤตชุมชนหรือเมืองควรพึ่งพาตนเองในเรื่องอะไร ผมเห็นว่า ชุมชนหรือเมืองควรสามารถพึ่งตนเองได้ในปัจจัยอยู่รอดเป็นอย่างน้อย แต่ควรพยายามพึ่งพาตนเองในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้คนในชุมชนหรือเมืองมีความปกติสุขมากขึ้นในยามวิกฤต

ปัจจัยอยู่รอดในที่นี้ ไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่หมายถึง ปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้คนมีชีวิตอยู่รอดได้ ประกอบด้วย อาหาร น้ำ และพลังงาน อาหารจำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ น้ำจำเป็นสำหรับการบริโภคและชำระล้างเพื่อรักษาสุขอนามัย พลังงานจำเป็นสำหรับการผลิต ปรุง ถนอมอาหาร กรองน้ำ และการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

ขณะที่การไม่มีปัจจัย 4 บางประเภท คนก็ยังมีชีวิตได้ เช่น ไม่มีบ้าน ไม่มีเสื้อผ้า ก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้ ไม่มียาก็มีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่ป่วยหนัก และในบางวิกฤต บ้าน เสื้อผ้า และยา อาจไม่เสียหายยังสามารถเก็บรักษาไว้ใช้ได้นาน

ผมขอจบด้วยตัวอย่างของเมืองมินามิซันริกุ (Minamisanriku) ในญี่ปุ่น เป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อวันที่ 3 พฤจิกายน พ.ศ.2554 มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคพังเสียหายจำนวนมาก ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงของชุมชน

จากนั้นวันรุ่งขึ้นชาวบ้านในชุมชนมารวมตัวกันที่ศูนย์พักพิงชุมชน โดยนำข้าวสารที่มีเก็บในแต่ละบ้าน (อาหาร) นำน้ำจากบ่อน้ำที่ไหล่เขา (น้ำ) และนำฟืนจากกิ่งไม้ในป่า (พลังงาน) มาหุงข้าวและทำข้าวปั้นได้ถึง 10,000 ชิ้นต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ทำให้มีชีวิตรอดได้

เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นกับเมืองมินามิซันริกุนี้ ได้สะท้อนถึงความจำเป็นของปัจจัยอยู่รอด คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน รวมถึง ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรมในชุมชน ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ที่ได้ช่วยให้ชุมชนหรือเมืองแห่งนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ยามวิกฤต

อ่าน >> ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง (ตอนที่ 2)

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by Freepik