The Digital Futurist (ตอนที่ 583) Data-Driven Economy in the Pandemic
“การก้าวสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันของทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเพื่อตอบสนองในสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ บทความนี้ได้เกริ่นถึง ความสามารถทางดิจิทัล บางส่วนที่จำเป็นเมื่อต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังมีส่วนช่วยด้านสังคมได้อีกมาก เราจะมาศึกษาร่วมกัน
โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล จำนวนข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกเสี้ยววินาที ร้อยละ 90 ของข้อมูลทั้งหมดบนโลกเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังมีลักษณะเป็น Silo กล่าวคือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลระหว่างกันยังอยู่ในวงที่จำกัด
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเสริมศักยภาพของประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของหน่วยงาน จำเป็นต้องปรับนโยบาย การบริหารจัดการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อดึงศักยภาพที่มีในข้อมูลนำมาเสริมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ผู้นำยุคดิจิทัลภายใต้ภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business landscape) ใหม่ ต้องพัฒนาความสามารถทางดิจิทัลขององค์กร วางกลยุทธ์การใช้ระบบอัตโนมัติสำหรับหน่วยงานเสริมการทำงานทั้งภายในและการประสานกับหน่วยงานภายนอก การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าหรือประชาชน เพื่อทราบความต้องการ รับเสียงสะท้อนจากภายนอกเพื่อการปรับปรุงพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกต่างปรับกระบวนการทำงานโดยนำ ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data and Data analytics) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) บล็อกเชน (Blockchain) การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud computing) และเทคโนโลยี 5G เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในภาวะระบาดทั่ว (pandemic) หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้อย่างมาก การดำเนินธุรกิจ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เคยมีก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน วิกฤตครั้งนี้บังคับให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งระดับจุลภาคและมหภาค
ความท้าทายในการบริหารจัดการการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home: WFH) ให้มีประสิทธิภาพ ความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนของระบบดิจิทัล พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการสนับสนุนโดยนโยบายจากภาครัฐ ทำให้เราต้องคำนึงถึง ความสามารถทางดิจิทัล (Digital capabilities) ที่จำเป็นสำหรับหน่วยงาน
DIGITAL EXPERIENCE
การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ประชาชน จากเดิมที่มีความสำคัญอยู่แล้ว ในยุคที่ทุกคนอยู่บนโลกออนไลน์ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีก การที่จะส่งเสริมประสบการณ์ที่ดีได้จำเป็นต้องเข้าใจ เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) จึงขาดไม่ได้
การนำเครื่องมือดิจิทัลมาวิเคราะห์ข้อมูลดิบ (data) สู่ สารสนเทศ (Information) เป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อการพัฒนา ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning: ML) มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องปรับปรุงโมเดลจากข้อมูลที่วิเคราะห์
ทำให้คาดการณ์ความต้องการของลูกค้า ประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทราบความต้องการจากเครื่องมือดิจิทัลทำให้การวางกลยุทธ์ การกำหนดนโยบาย สอดคล้องตอบสนองได้ตรงประเด็น เสริมประสบการณ์บนโลกความจริงได้ผ่านทางโลกดิจิทัล
DATA-DRIVEN DECISION
เนื่องจากการทำงานจำเป็นต้องการความเชื่อมโยง ความยืดหยุ่นกันมากขึ้น การตัดสินใจจากข้อมูลสนับสนุนรอบด้านเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การนำข้อเท็จจริง ตัวเลขทางสถิติ และข้อมูลเชิงลึกมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงธุรกิจ หรือการกำหนดนโยบาย ที่สอดคล้องกับเป้าหมายมีความสำคัญยิ่ง
หน่วยงานที่ตระหนักถึงคุณค่าของการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล กำหนดแนวทางการดำเนินงานไปสู่ทุกหน่วยย่อยภายในองค์กร ย่อมเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับโลกดิจิทัล
แม้ว่าแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด อย่างไรก็ตามแนวทางการตัดสินใจด้วยข้อมูล (Data-Driven Decision) มีกรอบที่สามารถนำไปประยุกต์ได้คล้ายคลึงกันดังนี้
Priority: การจัดลำดับความสำคัญว่าประเด็นใดในองค์กรควรจะได้รับการปรับด้วยดิจิทัล การหาเป้าหมายที่จะทำสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักกันว่า low-hanging fruit ควรได้รับความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
Data Gap Analysis: กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อหาว่าหน่วยงานยังขาดข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน จุดประสงค์หลักเพื่อเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและทราบถึงส่วนที่จำเป็นต้องเพิ่มเติม
ยูนิเซฟ (UNICEF) องค์กรที่เป็นผู้นำในด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็ก มีการศึกษา Data Gap Analysis เพื่อเด็กทุพพลภาพในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อเสริมการดำเนินงานได้ตรงตามจุดประสงค์ขององค์กร
สำหรับภาคธุรกิจ ข้อมูลรอบด้านของการซื้อขายเช่น ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนปิดการขาย ลักษณะเฉพาะของการซื้อขายที่ประสบความสำเร็จ สาเหตุที่ทำให้การขายล้มเหลว คำถามสำคัญเหล่านี้ต้องมีคำตอบ ประเด็นใดยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสิ่งเหล่านั่นคือ Gaps ที่จำเป็นต้องจัดการ โดยช่องว่างที่ขาดหายไปอาจเกิดจากความไม่พร้อมของเครื่องมือดิจิทัล หรือ ทักษะของผู้ปฏิบัติงาน
Tool Selection: หลายหน่วยงานมีเครื่องมือที่ใช้งานอยู่ การทดสอบว่าเครื่องมือที่ใช้อยู่นั้น สร้างรายงานได้ตรงตามความต้องการหรือไม่ การตั้งคำถามถึงเครื่องมือช่วยติดตามข้อมูลที่ดีกว่านี้มีหรือไม่ เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความแม่นยำและต้องรวดเร็ว Economy of speed การวิเคราะห์หาส่วนที่เป็นคอขวดและจัดการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
Upskill and Reskill: การที่จะก้าวสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Economy) นั้น จำเป็นต้องผสมผสานการทำงานที่สอดรับกันทั้งส่วนที่เป็นเครื่องมือดิจิทัล ทุนมนุษย์ (Human Capital) ภาครัฐและเอกชน
ดังนั้นเมื่อพบช่องว่างทางทักษะของบุคลากรจำเป็นต้องอาศัย กระบวนการการเรียนรู้ทักษะใหม่ การเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับผู้ปฏิบัติงาน หรือที่รู้จักกันว่า Upskill รวมถึงกระบวนการการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่สร้างกลุ่มผู้ที่ต้องไปทำงานในอีกหน้าที่ที่แตกต่างจากเดิมที่เคยปฏิบัติมา หรือ Reskill โดยทั้งสองส่วนนี้จะต้องเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามธรรมชาติของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
การก้าวสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Economy) นั้น จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันของทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อตอบสนองในสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ บทความนี้ได้เกริ่นถึง ความสามารถทางดิจิทัล (Digital capabilities) บางส่วนที่จำเป็นเมื่อต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังมีส่วนช่วยด้านสังคมได้อีกมาก เราจะมาศึกษาร่วมกันต่อในโอกาสต่อไป
References:
[1] MIT, “4 Digital Transformation Insights from MIT Sloan Management Review,” July 2021.
[2] MIT, “Digital Transformation after the Pandemic,” July 2021.
[3] OECD, “Data-driven innovation for growth and well-being,”.
[4] UNICEF, “Data Gap Analysis: Availability and Cross-Sectoral Exchange of Data on Children with Disabilities in Armenia,” Jan. 2019.