Sunday, November 24, 2024
InfrastructureNEWS

คาดปี 66 มูลค่าใช้จ่ายไอทีทั่วโลก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์

Gartner คาดการณ์มูลค่าใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2566 โตขึ้น 2.4% แม้เงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อในฝั่งผู้บริโภคลดลง แต่การใช้จ่ายไอทีในองค์กรยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประเทศไทย คาดมูลค่าใช้จ่ายไอที 9.3 แสนล้านบาท

าร์ทเนอร์ อิงค์ เผยคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโตเพิ่ม 2.4% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่ารวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 5.1% เมื่อเทียบกับ การคาดการณ์ของไตรมาสที่แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อยังตัดกำลังซื้อของผู้บริโภคและส่งผลให้การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีเติบโตลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายไอทีขององค์กรในภาพรวมจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

คาดปี 66 มูลค่าใช้จ่ายไอทีทั่วโลก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ โตขึ้น 2.4% 

การ์ทเนอร์คาดว่าในปีนี้ (2566) กลุ่มซอฟต์แวร์ (Software) และบริการไอที (IT Services) จะเติบโตสูงสุดที่ 9.3% และ 5.5% ตามลำดับ โดยกลุ่มอุปกรณ์ไอที (Devices) คาดว่าจะเติบโตลดลงถึง 5.1% เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจขยายรอบอายุการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ ออกไป

“ช่วงการระบาดใหญ่ พนักงานและผู้บริโภคต่างเปลี่ยนอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานและการศึกษาแบบรีโมทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแท็บเล็ต แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากไม่มีเหตุผลอันจำเป็นในการอัปเกรด ผู้บริโภคจะยังใช้อุปกรณ์เดิมต่อไปเป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าและอุปกรณ์ไอที” เลิฟล็อค กล่าวเสริม

ประเทศไทย คาดมูลค่าใช้จ่ายไอที 9.3 แสนล้านบาท โต 4.2%

สำหรับยอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปี 2566 คาดว่าจะสูงแตะ 9.35 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 4.2% จากปี 2565 โดยในกลุ่มซอฟต์แวร์และกลุ่มบริการด้านไอทีจะเติบโตระดับเลขสองหลัก เนื่องจากองค์กรต่างๆ เพิ่มการใช้จ่ายกับโครงการดิจิทัล

“ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนทักษะ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ทำให้ผู้บริหารด้านไอทีเกิดการลังเล ชะลอการตัดสินใจ และต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เรายังเห็นองค์กรท้องถิ่นมียอดการใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น” เลิฟล็อค กล่าวถึงตลาดไทย

จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย Gartner

จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย Gartner กล่าวว่า “ทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลร้ายแรงต่อตลาดผู้บริโภค

และมีส่วนทำให้ธุรกิจแบบ B2C จำนวนมากเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ภาคองค์กรจะมียอดการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้นกับโครงการดิจิทัลต่างๆ แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม”

“เศรษฐกิจที่ผันผวนได้เปลี่ยนบริบทการตัดสินใจของธุรกิจและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารไอทีเกิดความลังเลมากขึ้นและตัดสินใจล่าช้า หรือต้อง จัดลำดับความสำคัญของงานกันใหม่ ซึ่งเราได้เห็นธุรกิจแบบ B2B ได้ดำเนินการทำนองนี้ไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นลงทุนเกินตัวไปกับการสร้างการเติบโต”

“อย่างไรก็ตามงบประมาณด้านไอทีไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และการใช้จ่ายด้านไอทียังไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะถดถอย”

ในการสำรวจ CIOs and technology executives ของการ์ทเนอร์ ให้รายละเอียดการ จัดลำดับความสำคัญของ CIO ใหม่นั้น แผนงานด้านเทคโนโลยีในอนาคตของ CIO ยังคงมุ่งเน้นไปที่ การเพิ่มประสิทธิภาพ มากกว่าการเติบโต

โดย การลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดของ CIO ในปี 2566 ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูล (66%) ระบบธุรกิจอัจฉริยะ/การวิเคราะห์ข้อมูล (55%) และแพลตฟอร์มคลาวด์ (50%) อย่างไรก็ตาม มีเพียง 32% เท่านั้นที่เพิ่มการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 24% ในไฮเปอร์ออโตเมชัน

ตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งผลกระทบต่อยอดใช้จ่ายบริการทางด้านไอที

ตำแหน่งงานว่างมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส และในหลายประเทศมีอัตราตำแหน่งงานที่เปิดรับต่ออัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยภาวะการแข่งขันแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของผู้บริหารไอที สำหรับการว่าจ้างพนักงานไอทีที่มีทักษะ และยังจำกัดการเติบโตของบริษัทที่พยายามขยายขนาดโดยปราศจากทีมงานที่มีทักษะที่จำเป็น

การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ยังเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดบริการด้านไอที เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต้องการดึงพนักงานที่มีทักษะด้านไอทีจากภายนอกเพื่องานวางระบบและสนับสนุนการทำงานในองค์กร ตัวอย่างเช่น มูลค่าใช้จ่ายด้านบริการให้คำปรึกษาคาดว่าจะสูงแตะระดับ 264.9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2565

“ผู้บริหารไอทีกำลังประสบความล้มเหลวในด้านการแข่งขันชิงตัวพนักงานที่มีทักษะ โดยยอดการใช้จ่ายบริการทางด้านไอทีนั้นกำลังเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าบริการภายในอื่นๆ ขององค์กรในทุกอุตสาหกรรม พนักงานไอทีระดับหัวกะทิกำลังโยกย้ายจากการเป็นผู้บริหารไอทีขององค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยี (Technology and Service Providers หรือ TSPs) พร้อมมีความต้องการค่าจ้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ก็มองหาโอกาสในการทำงานและพัฒนาทักษะใหม่ๆ” เลิฟล็อค กล่าวสรุป

Featured Image: Image by rawpixel.com on Freepik