LINE FOR ELECTION งานสัมมนาพิเศษเฉพาะภาคการเมืองไทย ระดมผู้รู้ในเรื่องของการเลือกตั้ง และผู้เชี่ยวชาญในการใช้สื่อเทคโนโลยี มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดการทำแคมเปญหาเสียงของพรรคการเมืองในยุคดิจิทัล
พฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากทีวีที่เป็นสื่อหลักมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่เพียงทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ภาคของการเมืองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
การปรับรูปแบบและวิธีการทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ แต่ควรปรับกลยุทธ์การสื่อสารขนานใหญ่ ด้วยการใช้ช่องทางและเครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเร็วๆ นี้ LINE ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลที่คนไทยนิยมใช้งานในปัจจุบัน
จึงได้จัดงาน LINE FOR ELECTION งานสัมมนาพิเศษเฉพาะภาคการเมืองไทย ระดมผู้รู้ในเรื่องของการเลือกตั้ง และผู้เชี่ยวชาญในการใช้สื่อเทคโนโลยี มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดการทำแคมเปญหาเสียงของพรรคการเมืองในยุคดิจิทัล
เปิดอินไซต์คนไทย ปัจจัยสำคัญต่อพรรคการเมือง
เมื่อพูดถึงอินไซต์และเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์อันส่งผลต่อการเลือกตั้ง ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Media Intelligence Group ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อเพื่อทำแคมเปญการเมือง ได้แบ่งปันข้อมูลในงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประมาณ 52 ล้านคน ในกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 14 ล้านคนที่เป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z
ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสพสื่อดิจิทัลเป็นหลักในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อดิจิทัลจะมีความสำคัญมาก นี่ยังไม่รวมถึงประชากรในกลุ่มอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้สูงวัย ที่เข้าถึงออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อการเข้าถึงสื่อออนไลน์ของคนไทยมีความหลากหลายและกระจายตัวมากขึ้น
ดังนั้น วิธีการประชาสัมพันธ์ของภาคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้จึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิม โดยควรต้องมีการผสมผสานแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด
ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพฤติกรรมและความสนใจของคนไทยต่อการเมืองว่า คนไทยแต่ละช่วงวัยมีความสนใจและคาดหวังในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกัน คน Gen Y อาจไม่ได้มองนโยบายภาพรวม แต่มองหากลุ่มการเมืองที่มีจุดยืนเดียวกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง LGBTQ กัญชา สภาพแวดล้อม PM 2.5 การขนส่ง เทคโนโลยี หรือความเท่าเทียม
ในขณะที่เยาวชน Gen Z ที่เพิ่งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก อาจให้ความสำคัญในเรื่องของนโยบายในการต่อสู้กับโควิด เพราะประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่คน Gen X ที่แป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์สูงกว่าเพราะผ่านการเลือกตั้งมาอย่างโชกโชน อาจต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ จากพรรคการเมือง จากความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้การสื่อสารต้องมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เนื้อหาที่จะส่งถึงพวกเขาจะต้องตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ถึงจะสามารถดึงดูดความสนใจได้
ภวัต ยังกล่าวเสริมอีกว่า ความน่าสนใจของการใช้สื่อออนไลน์ในการสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการสร้างการรับรู้ เกิดการมองเห็นในระดับวงกว้างเท่านั้น แต่จะเป็นการใช้งานสื่อออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาปรับการประชาสัมพันธ์ในแต่ละเฟสของการทำแคมเปญให้มีความเข้มข้น นำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น ซึ่ง LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมและน่าสนใจ ด้วยความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มคนหลากหลายเพศและวัยได้เป็นอย่างดี
กลยุทธ์การใช้งาน LINE ปูความสำเร็จแคมเปญหาเสียงยุคใหม่
ด้าน LINE ประเทศไทย ผู้นำในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่คนไทยใช้งานเป็นอันดับต้นๆ ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูง ที่พรรคการเมืองสามารถนำไปใช้เพื่อเข้าถึงประชาชนในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ฤทธิชัย วานิชย์หานนท์ หัวหน้าที่ปรึกษา หน่วยงานภาครัฐ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE มีจุดเด่นมากมายที่เหมาะเป็นสื่อออนไลน์สำหรับพรรคการเมืองเพื่อใช้ในการหาเสียงในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนที่มากถึง 53 ล้านคน การเป็นช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนของพรรคหรือผู้สมัครได้จริง
โดยพรรคหรือผู้สมัครสามารถควบคุมเนื้อหา และรูปแบบการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ติดตามได้โดยตรง บุคลากรของพรรคการเมืองสามารถเรียนรู้การใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การอบรมและเป็นที่ปรึกษา ทำให้พรรคหรือนักการเมืองสามารถนำข้อมูลที่ได้จากแพลตฟอร์มมาวิเคราะห์ สร้างกลยุทธ์การสื่อสารนโยบายของพรรคได้อย่างตรงกลุ่มความสนใจ รวมถึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่ประชาสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม LINE ในการสร้างหรือเพิ่มการมองเห็นให้กับสื่อของพรรคเป็นหลักสิบล้านวิวต่อวัน
เพื่อที่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครจะสามารถเข้าถึงประชาชนคนไทยผ่าน LINE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าเครื่องมือหลักที่สำคัญคงหนีไม่พ้นบัญชีทางการ หรือ LINE Official Account (LINE OA) โดยภายในงาน ฤทธิชัย ได้นำเสนอ “5 เทคนิค ใช้ LINE OA มัดใจประชาชน” เพื่อให้พรรคการเมืองใช้ LINE OA ได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้
(1) ใช้สร้างฐานผู้ติดตาม ฐานเสียงในวงกว้าง โดยพรรคสามารถเชิญชวนหรือกระตุ้นการเพิ่มเพื่อนหรือเพิ่มผู้ติดตามได้หลากหลายวิธี อาทิ การทำสติกเกอร์ทางการให้ประชาชนที่เพิ่มเพื่อน สร้าง QR เพิ่มเพื่อนไปวางในสื่อประชาสัมพันธ์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือเมื่อผู้สมัครลงพื้นที่ สามารถชวนประชาชนเพิ่มเพื่อนเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารได้ เป็นต้น
(2) ใช้อัปเดตข้อมูลข่าวสารโดยตรง ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์ ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลความเคลื่อนไหวและข่าวสารโดยตรงจากพรรคอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยพรรคสามารถเลือกบรอดแคสต์ข้อความหาผู้ติดตามจำนวนมากในครั้งเดียว โดยสามารถหรือจะโต้ตอบกับประชาชนผู้ติดตามผ่านแชท 1:1 ได้เช่นเดียวกัน
(3) ใช้นำเสนอผลงานและนโยบายแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดย LINE OA สามารถจำแนกกลุ่มเป้าหมายในการบรอดแคสต์ข้อความได้ ดังนั้น พรรคฯ หรือผู้สมัครสามารถสื่อสารถึงทุกคนหรือจำแนกเป็นกลุ่มได้ตามต้องการ อาทิ การบรอดแคสต์นโยบายให้ตรงกับความสนใจตามแต่ละช่วงอายุ หรือการบรอดแคสต์นโยบายให้ฐานผู้ติดตามในแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น
(4) ใช้เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ต่อยอด สร้างการมีส่วนร่วมได้โดยตรงจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของผู้ติดตาม อาทิ เพศ อายุ พื้นที่อยู่อาศัย ข้อมูลพฤติกรรมการเปิดอ่านข้อความ ข้อมูลความสนใจในเนื้อหาต่างๆ และข้อมูลการเข้าถึงริชเมนู ที่จะนำไปสู่เว็บไซต์หรือการมีส่วนร่วมอื่นๆ รวมถึงข้อมูลการคลิกเนื้อหาที่สนใจในหน้า LINE VOOM ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ นอกจากเหนือจากฐานผู้ติดตามเดิม โดยพรรคการเมืองสามารถนำเอาข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวเหล่านี้ไปจัดกลุ่มจำแนก เพื่อเป็นกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารครั้งต่อไปได้อย่างแม่นยำ ตรงกลุ่มและตรงความสนใจมากขึ้น
(5) สร้าง Group OA เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรค ทั้งนี้ พรรคสามารถสร้าง LINE OA หลายบัญชี เพื่อให้ผู้สมัครในสังกัดได้กระจายการสื่อสารกับฐานผู้ติดตามตามแต่ละพื้นที่แยกกันได้ โดยผู้สมัครในแต่ละภาคสามารถอัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวโดยตรงกับผู้ติดตามเฉพาะเขตพื้นที่ของตนเอง
ในขณะเดียวกัน พรรคสามารถช่วยบรอดแคสต์นโยบายกลางไปยัง LINE OA ของผู้สมัครในสังกัด และช่วยตั้งค่าต่างๆ ให้กับบัญชี LINE OA ของผู้สมัครได้ เช่น การตั้งค่าริชเมนู ตั้งค่าข้อความทักทายเพื่อนใหม่ ข้อความตอบกลับอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อความสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ พรรคยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องของจำนวนเพื่อน เนื้อหาบรอดแคสต์ และการแชทของกลุ่มบัญชี LINE OA ของผู้สมัครในสังกัดได้อย่างใกล้ชิด
นอกจากการใช้ประโยชน์ LINE OA แล้ว อริสา ศิริวินิจ ที่ปรึกษาธุรกิจหน่วยงานภาครัฐ LINE ประเทศไทย ได้กล่าวเสริมถึงการลงสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม LINE หรือ LINE Ads ที่ทาง LINE เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและผู้สมัครสามารถใช้งานได้แล้ว
โดยถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง สู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เป็นเทคนิคในการสื่อสารถึงนโยบายและภาพลักษณ์ของผู้สมัครหรือของพรรคไปยังกลุ่มเป้าหมายได้แบบเฉพาะเจาะจง เช่น การลงสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่วงอายุ หรือแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
ซึ่งทุกตำแหน่งของสื่อประชาสัมพันธ์ผ่าน LINE Ads ล้วนดึงดูดความสนใจผู้ใช้งาน LINE ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Smart Channel ที่อยู่ด้านบนสุดของหน้ารายการแชท ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้คนไทยกว่า 53 ล้านคน Desktop Ads ตำแหน่งโฆษณาบน LINE ในคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงหน้า LINE TODAY ที่พรรคการเมืองสามารถลงแบนเนอร์โฆษณาและบทความเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งาน LINE ที่นิยมเข้ามาอ่านคอนเทนต์ข่าวและบทความต่างๆ เป็นต้น
เมื่อการเลือกตั้งถูกคาดหวังว่ากำลังใกล้เข้ามา พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจมีเวลาไม่มากนักสำหรับการทำแคมเปญหาเสียงครั้งใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูง มีความสามารถทั้งเข้าถึงคนจำนวนมาก และช่วยสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างฉพาะเจาะจง
รวมถึงใช้งานง่าย สามารถเรียนรู้และรันแคมเปญได้อย่างรวดเร็ว LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ได้ครบทุกข้อสำหรับการทำแคมเปญหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ อยู่ที่พรรคใดจะมีกลยุทธ์การสื่อสารและนโยบายที่จะซื้อใจประชาชนได้มากที่สุด