Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

นวัตกรรมยุทธศาสตร์การ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นชาติ ผ่านวิกฤต

ผู้เขียนขอเสนอแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่านี่คือ นวัตกรรมยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 ประการเพื่อจะนำพาชาติให้ฟื้นจากวิกฤตครั้งนี้

ศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 ติดลบร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 2 คาดว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวลงจากการระบาดระลอกที่ 3 สถานการณ์เช่นนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องกระตุ้นอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อฟื้นชาติผ่านวิกฤตไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา ยังมีปัญหาบางประการ ได้แก่

1) ใช้บางเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เน้นนโยบายใช้จ่ายของรัฐ แต่นโยบายการเงินไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก เน้นกระตุ้นการบริโภคประชาชน แต่ขาดมาตรการกระตุ้นการลงทุน หรือเน้นนโยบายสาธารณสุข แต่เพื่อแก้ปัญหาการระบาด ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เป็นต้น

2) เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเฉพาะการแจกเงินให้กับประชาชน เช่น โครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน และการเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงาน หรือการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น

3) ไม่เพียงพอชดเชยรายได้ที่หายไป หากนับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนเงินรวม 1.12 ล้านล้านบาท ประกอบกับมาตรการจูงใจให้คนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ซึ่งสมมุติว่าบรรลุผลตามเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ ไทยจะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจรวมเป็นเงิน 1.353 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.45 ของ GDP แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน และน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งคาดการณ์ว่า วิกฤตโควิดจะทำให้ GDP หายไปประมาณร้อยละ 11.9

4) ขาดพลังทวีคูณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดการหดตัวของอุปสงค์ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามแก้ปัญหาโดยกระตุ้นกำลังซื้อ ผ่านการใช้งบประมาณอัดฉีดให้ประชาชนโดยตรงเพื่อทดแทนกำลังซื้อที่หายไป และเมื่องบประมาณไม่พอ

รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่ทำให้เกิด “ผลคูณ” หรือ ทำให้เงินหมุนหลายรอบ (multiplier effect) โดยพยายามแจกเงินให้คนที่ประสบความเดือดร้อน เพราะคนเหล่านี้มักจะใช้จ่ายเงินเกือบทั้งหมด ไม่มีการออม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการบริโภคมีผลทวีคูณน้อยกว่าการลงทุน

5) ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือเท่าที่ควร นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเน้นบทบาทของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ยังไม่เห็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือจากภาคีอื่นๆ ที่ชัดเจน เช่น บทบาทรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากการลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือบทบาทขององค์กรภาคประชาชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้านอกเหนือจากการทำงานด้านอาสา เป็นต้น

ด้วยปัญหาดังกล่าวที่ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ผมจึงขอเสนอแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อจะนำพาชาติให้ฟื้นจากวิกฤตครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน แทน การบริโภค

การใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ควรเปลี่ยนจากการกระตุ้นการบริโภค เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน อาทิ

1) เปลี่ยนวิธีช่วยเหลือจาก welfare เป็น workfare ผมได้เสนอตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่ารัฐบาลควรเปลี่ยนจากการแจกเงิน เป็นการให้เงินโดยแลกกับการทำงาน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์มากขึ้น

โดยเฉพาะงานที่ในอดีตไม่สามารถทำได้ เพราะคนไม่พอ ไม่สะดวก หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำในขณะนั้นๆ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ เช่น ปลูกต้นไม้เพื่อให้เมืองสวยงาม ปรับภูมิทัศน์ถนน คูคลอง ให้สะอาดและสวยงาม การจัดระเบียบที่ทิ้งขยะให้เมืองปลอดโรค เพื่อให้ไทยสามารถเผชิญกับ “Pandemic New Normal” ได้

2) จ้างเด็กจบใหม่ทำงานพัฒนาตามประเด็น พื้นที่ และกลุ่มคน ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้เด็กจบใหม่มีแนวโน้มตกงานเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้ที่จะบริโภค ภาครัฐจึงต้องยื่นมือมาช่วยโดยจ้างเด็กจบใหม่ไปทำงานพัฒนาตามประเด็น พื้นที่ และกลุ่มคน (AIP Model – Area-based, Issue-based และ People-based) เพื่อพัฒนาประเทศ

3) อุดหนุนเอกชนจ้างงาน รัฐบาลอาจช่วยออกเงินเดือนส่วนหนึ่งให้ภาคธุรกิจและประชากิจ เพื่อลดภาระของภาคเอกชน รักษาความอยู่รอดของกิจการ และรักษาการจ้างงาน รวมทั้งยังอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ให้ได้ผลระยะสั้น กลาง ยาว

การกระตุ้นเศรษฐกิจควรมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับโลกที่กำลังเผชิญการกระชากเปลี่ยน (disruption) ครั้งใหญ่ อาทิ

1) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต ดังที่ผมได้เสนอให้ไทยเป็นเมืองหลวงโลก 4 ด้าน คือ เมืองหลวงด้านอาหารโลก (Food Capital) เมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวโลก (Tourism Capital) เมืองหลวงด้านสุขสภาพโลก (Wellness Capital) และเมืองหลวงด้านอภิบาลคนชราโลก (Elderly Healthcare Capital)

2) พัฒนาทักษะ (reskill) แรงงานไปในทิศทางที่ต้องการ โดยสนับสนุนให้ประชาชนฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตัวเองแลกการรับเงินช่วยเหลือ โดยภาครัฐจัดหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับการสร้างชาติในอนาคต หากประชาชนต้องการเงินช่วยเหลือต้องเข้ารับการฝึกอบรมจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองก่อน เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้และทักษะใหม่ระหว่างตกงานหรือทำงานที่บ้าน

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “เงินออมของประชาชน”

เมื่อประชาชนอยู่ในสภาวะที่ต้องการออมมากกว่าใช้จ่าย ขณะที่ธนาคารก็เน้นรักษาสภาพคล่องมากกว่าปล่อยสินเชื่อ ภาครัฐจึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำเงินออมมาลงทุน เช่น การออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากประชาชน จัดตั้งกองทุนหรือโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะ แล้วขายหุ้นให้ประชาชน

ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินก็ควรสนับสนุนการใช้จ่ายหรือลงทุนด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และจูงใจให้คนนำเงินออมมาใช้หรือลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “ทรัพยากรอื่นที่มีอยู่”

ในภาวะวิกฤต รัฐบาลไม่ควรพึ่งพางบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อสร้างเป็นรายได้ด้วย อาทิ

1) พื้นที่รกร้างและพื้นที่ป่าไม้ โดยนำที่รกร้างมาสร้างอาชีพ และอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้เพื่อสร้างรายได้โดยไม่ทำลายป่า เช่น สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน แล้วอนุญาตให้คนว่างงานเก็บซากใบไม้ในป่ามาขายแก่โรงไฟฟ้าในปริมาณที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ ซึ่งช่วยลดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าได้ด้วย เป็นต้น

2) ชุดความรู้ ชุดทักษะ เครื่องจักรของภาคเอกชน โดยรัฐบาลอาจสนับสนุนด้านที่ภาคเอกชนขาดแคลน เช่น การสนับสนุนที่ปรึกษาด้านการตลาดแก่ภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยี หรือการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เอกชนที่ขาดเงินทุนแต่มีนวัตกรรม เป็นต้น

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ในระดับกลุ่มคน แทน บุคคล

ที่ผ่านมาเงินอุดหนุนรัฐอาจไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีคนทำงานเพียงคนเดียว หรืออาจให้กับคนที่ไม่เหมาะสม เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลไม่ครบถ้วน ผมจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหน่วยการช่วยเหลือเป็นครอบครัวเพื่อให้ความช่วยเหลือเพียงพอสำหรับทุกคน

นอกจากนั้นในภาวะที่คนว่างงานอพยพกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก การสนับสนุนการสร้างงานและการสร้างระบบสวัสดิการโดยชุมชนน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า เช่น การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเอง (self-sustained community) โดยสร้างงาน หรือกิจกรรมการผลิตที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบจนถึงการตลาดในชุมชนสมบูรณ์มากขึ้น

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือระดับนานาชาติ

การกระตุ้นเศรษฐกิจลำพังประเทศเดียวอาจได้ผลจำกัด วิธีที่ดีที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวได้รวดเร็ว คือ การร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก โดยไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างเป็นแกนนำผลักดันในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) ร่วมมือกับรัฐบาลทุกชาติอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการฟื้นฟูธุรกิจโดยการกระตุ้นกำลังซื้อทั่วโลกพร้อมๆ กัน

2) จัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เงินช่วยเหลือ และเงินกู้แก่ประเทศต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

3) เปิดเสรีการค้าและการลงทุน โดยการยกเลิกการจำกัดการส่งออกอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ (เพื่อประเทศยากจน) เพื่อเปิดเสรีให้มีเงินลงทุนเข้ามาซื้อหรือเพิ่มทุนให้กิจการที่มีปัญหา

ประการที่ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริหารมีประสิทธิสภาพ โปร่งใส อาทิ

1) บูรณาการแผนงาน ประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อบูรณาการแผนงานบนยุทธศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ และครอบคลุมผลกระทบทุกมิติ

2) พัฒนา Big data และ AI เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ดำเนินนโยบาย เพราะการแก้ปัญหาที่ผ่านมา มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ทำให้ช่วยไม่ถูกคน

3) เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดแผนงานให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ เพื่อแก้ปัญหาการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจนขาดความโปร่งใส โดยกำหนดให้เปิดเผยรายละเอียดทุกแผนงาน ทุกกระบวนการบนอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนตรวจสอบได้ 

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหลากหลาย ทั้งที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้วิกฤติการณ์โควิดในครั้งนี้กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่า ไทยจะรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งหากไทยไม่ปรับยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นวิกฤตอาจเป็นไปได้อย่างล่าช้า