“5 เทรนด์สำหรับอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ในปี 2566 จะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจดิจิทัล องค์กรต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ในปี 2566 จะมีการเพิ่มกฎระเบียบและการกำกับดูแลสำหรับการใช้งานดาต้า เซ็นเตอร์ มากขึ้น เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการใช้พลังงานและน้ำในอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์มากกว่าเดิม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
เวอร์ทีฟ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ได้ให้ความเห็นว่า การให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเนื่องมาจากการทำงานของดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นสิ่งที่วงการอุตสาหกรรมกำลังให้ความสนใจกันอย่างมาก ซึ่งถือเป็นเทรนด์หนึ่งจากทั้งหมด 5 เทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566
จิออร์ดาโน อัลเบอร์ทาซซิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและประธานเวอร์ทีฟแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “อุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแอปพลิเคชันจำนวนมหาศาลต้องการการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูล โดยต้องเร่งใช้พลังงานและน้ำในดาต้า เซ็นเตอร์ปริมาณมากกว่าเดิม”
“การใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประสิทธิภาพการทำงานของดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กระบวนการทางธุรกิจประสบความสำเร็จ ดังนั้นการมีกฎระเบียบเพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดนวัตกรรมไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม”
“การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรที่ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงนวัตกรรมด้านโซลูชันที่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมทั้งยังต้องตอบสนองความต้องการใช้แอปพลิเคชันดาต้า เซ็นเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย”
หนึ่งในนวัตกรรมคือ การออกแบบและการผลิต ชิป ที่ช่วยจำกัดการใช้พลังงานของเซิร์ฟเวอร์ในทศวรรษแรกของยุคมิลเลนเนียม จนมาถึงราวช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนามาถึงขีดจำกัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีปริมาณการใช้พลังงานของเซิร์ฟเวอร์ที่พุ่งสูงขึ้น
ในรายงานล่าสุด Silicon heatwave: The looming change in data center climates ของสถาบัน Uptime Institute ได้อ้างถึงข้อมูลจาก Standard Performance Evaluation Corporation (SPEC) โดยระบุว่าการใช้พลังงานของเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นสูงถึง 266% ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจดิจิทัล ส่งผลให้องค์กรต้องตระหนักรู้ถึงประเด็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในปี 2566 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของเวอร์ทีฟได้อธิบายไว้หลายประเด็นดังต่อไปนี้
กฎระเบียบเรื่องการใช้พลังงานและน้ำที่เข้มงวดมากขึ้น
จากสถานการณ์ความต้องการของผู้บริโภคในด้านพลังงานและน้ำ ได้บีบบังคับให้ภาครัฐต้องพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการ ดาต้า เซ็นเตอร์ ให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรในปริมาณที่มากเกินปกติ
มีการคาดการณ์ว่า ดาต้า เซ็นเตอร์จะใช้ไฟฟ้าสูงถึง 3% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกในปัจจุบัน และคาดว่าจะแตะ 4% ภายในปี 2573 โรงงานระดับไฮเปอร์สเกลโดยเฉลี่ยใช้ไฟฟ้า 20-50 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งในทางทฤษฎีจะมีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนได้ถึง 37,000 หลัง ผู้เชี่ยวชาญของเวอร์ทีฟคาดว่า ภาครัฐจะเร่งพิจารณาในประเด็นปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนในปี 2566
บางเมืองก็ได้ใช้มาตรการบางอย่างไปบ้างแล้ว เช่นที่ ดับลิน ไอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ได้เริ่มใช้มาตรการควบคุมการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการใช้น้ำปริมาณมหาศาลของดาต้า เซ็นเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยแล้ง
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (WUE) ของ ดาต้า เซ็นเตอร์ โดยเฉลี่ยที่ใช้ระบบทำความเย็นแบบระเหยคือ 1.8 ลิตรต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ดาต้า เซ็นเตอร์ประเภทนี้ใช้น้ำ 3-5 ล้านแกลลอนต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาตรน้ำที่ใช้ในเมืองที่มีประชากร 30,000-50,000 คน
อุตสาหกรรมนี้จะยังคงดำเนินการตรวจสอบตนเองต่อไป ซึ่งรวมถึงการมุ่งออกแบบระบบระบายความร้อนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงกระนั้นในปี 2566 ก็จะมีการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ดี
ผู้ให้บริการระบบคลาวด์เอาท์ซอร์สไปที่ผู้บริการโคโลเคชัน
จากการสำรวจของ Omdia เมื่อเร็วๆ นี้ 99% ของผู้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์สำหรับองค์กรกล่าวว่า การออกแบบดาต้า เซ็นเตอร์สำเร็จรูปแบบแยกส่วนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ในอนาคต ซึ่งเป็นมากกว่าแค่เทรนด์และจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญของเวอร์ทีฟคาดว่าในปีพ.ศ. 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มธุรกิจไฮเปอร์สเกลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มธุรกิจต้องการความเร็วและประสิทธิภาพที่ได้มาตรฐาน
คือ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ชั้นนำของโลก กำลังหันไปหาผู้ให้บริการโคโลเคชัน เพื่อเอาท์ซอร์สให้ผู้บริการโคโลเคชัน (ที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ) เป็นผู้ดูแลโครงสร้างใหม่ๆ ซึ่งเพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญในตลาด ความสามารถและความเร็วในการให้บริการระบบ
อธิบายได้ว่า การกำหนดมาตรฐานในหลายๆ ระบบของดาต้า เซ็นเตอร์ เช่น ระบบพลังงาน ระบบการความเย็น ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำเร็จรูปต่างๆ จะกลายเป็นแนวปฏิบัติสากล ไม่เพียงแต่สำหรับองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงไฮเปอร์สเกลและเอดจ์ของเครือข่ายด้วย
เครื่องสำรองไฟฟ้าดีเซลที่ลดบทบาทลง
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ในระบบนิเวศของดาต้า เซ็นเตอร์ มีเงื่อนไขหลายประการ ต้องบำรุงรักษาและต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงหลังจากไม่มีการใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่ง
และเมื่อนำไปใช้งาน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมากที่สุดอีกด้วย บางองค์กรจึงหันไปใช้แบตเตอรี่เพื่อรองรับการโหลดที่ยาวนานขึ้น ในบางกรณีอาจนานถึงห้านาที หรือไม่ก็ออกแบบดาต้า เซ็นเตอร์ที่มาพร้อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีความจุน้อยที่สุดอีกด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดบทบาทของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยังได้ค้นหาตัวเลือกอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มพลังงานสำรอง
ผู้เชี่ยวชาญของเวอร์ทีฟคาดว่าในปีพ.ศ. 2566 จะมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยั่งยืนและเกิดความความต่อเนื่อง
ความหนาแน่นของแร็คเซิร์ฟเวอร์ ส่งผลต่อกลยุทธ์การจัดการความร้อน
ก่อนหน้านี้หลายปี ความหนาแน่นของแร็คเซิร์ฟเวอร์ค่อนข้างคงที่ แต่ ณ ขณะนี้ผู้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์จำนวนมากขึ้นต่างต้องการเพิ่มแร็คเซิร์ฟเวอร์ให้มากขึ้น จาก การสำรวจ Global Data Center ปี 2565 ของ Uptime Institute พบว่าผู้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์จำนวนมากกว่า 1 ใน 3 กล่าวว่า
แร็คเซิร์ฟเวอร์มีความหนาแน่นขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และดาต้า เซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงานขนาด 10MW ขึ้นไปใช้แร็คเซิร์ฟเวอร์ขนาดสูงกว่า 20kW รวมถึงอีก 20% อ้างว่าใช้แร็คเซิร์ฟเวอร์ขนาดสูงกว่า 40kW
พร้อมกันนี้การระบายความร้อนด้วยของเหลวให้กับเซิร์ฟเวอร์ได้พัฒนามาถึงขีดสุด รวมถึงมีการยอมรับและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น ผนวกกับตอนนี้มีการใช้พลังงานของเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นเนื่อง
นับเป็นความท้าทายในทุกด้านสำหรับผู้ให้บริการ แม้จะมีทางเลือกน้อยแต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้หันกลับมามองอุปกรณ์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะลองเพิ่มอุปกรณ์คอมพิวติ้งในพื้นที่แคบ เพิ่มความหนาแน่นของแร็ค หรือสร้างโปรไฟล์การระบายความร้อนที่ใช้การระบายความร้อนด้วยของเหลว
แม้ว่าการระบายความร้อนด้วยของเหลวจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ช่วงแรกของการประยุกต์ใช้ก็ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพ และปราศจากปัญหาในสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นสูง ได้พิสูจน์แนวคิดให้เห็นแล้วว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ในปีหน้า
นอกจากนี้ การที่เพิ่มการระบายความร้อนด้วยวิธีแบบ Direct-to-ship ตามมาตรฐานของกลุ่ม OCP และโครงการ Open Hardware ของ Open19 ใหม่จะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยเร่งให้เกิดเทรนด์นี้
5G, Metaverse และเอดจ์คอมพิวติ้ง ที่ต้องใช้พลังการประมวลผลมากขึ้น
จากการคาดการ์ณของ Omdia ใน 2565 Mobile Subscription and Revenue Forecast ระบุว่าจำนวนผู้ใช้บริการมือถือจำนวนเกือบครึ่งหรือมากกว่า 5.8 พันล้านรายจะใช้บริการ 5G ภายในปี 2570 จะทำให้เทคโนโลยีคอมพิวติ้งยิ่งเข้าใกล้ผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดย Metaverse เป็นแอปพลิเคชันที่ต้องใช้เครือข่ายคอมพิวติ้งที่มีความหนาแน่นสูงเป็นพิเศษและมีความหน่วงต่ำ ในปี 2566 เราจะได้เห็นทั้งสองอย่างนี้ทำงานร่วมกัน โดยการใช้งาน Metaverse จะใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G เพื่อให้สามารถใช้คุณสมบัติที่มีความหน่วงต่ำเป็นพิเศษตามที่แอปพลิเคชันต้องการใช้ ท้ายที่สุดก็ต้องใช้คอมพิวติ้งพลังแรงมากกว่าเดิมในพื้นที่ที่ใช้เอดจ์ 5G และเราจะได้เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
คงจะได้เห็นการลองใช้สิ่งใหม่ๆ ก่อนในช่วงต้นปี 2566 ตามด้วยการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นในปีต่อๆ ไป และจากการรายงานของ IDC เมื่อเอดจ์ของเครือข่ายมีความซับซ้อนมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นก็ต้องสามารถรองรับได้ด้วยเช่นกัน
รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบบริหารจัดการและวางแผนโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี Virtual Reality รวมถึงการนำเครื่องสำรองไฟลิเธียมไอออนมาใช้ที่เพิ่มขึ้นที่เอดจ์ เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องซึ่งพบว่ายอดขายจาก 2% ในเดือนสิงหาคม 2564 สูงขึ้นเป็น 8% ในเดือนสิงหาคม 2565
Featured Image: Image by rawpixel.com on Freepik