ดัชนีด้านการปกป้องข้อมูลทั่วโลก GDPI ชี้องค์กรไม่มั่นใจฟื้นฟู จากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์
“ผลการศึกษา GDPI ของเดลล์ เทคโนโลยีส์ พบว่าผู้บริหารทั่วโลก 82 เปอร์เซ็นต์ กังวลใจว่าโซลูชันปกป้องข้อมูลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายด้านธุรกิจในอนาคตได้ และเห็นว่าองค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการสูญเสียข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากพนักงานทำงานจากบ้านกันมากขึ้น
ผลสำรวจจาก ดัชนีด้านการปกป้องข้อมูลทั่วโลก ของเดลล์ เทคโนโลยีส์ ประจำปี 2021 (2021 Global Data Protection Index หรือ GDPI) เผยว่า องค์กรธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการปกป้องข้อมูลหลายประการที่เกิดจากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์อย่างต่อเนื่อง และการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างแอปพลิเคชันที่ทำงานบนคลาวด์ รวมถึง Kubernetes Containers และ AI
สอดคล้องตามผลสำรวจล่าสุดจาก IDC ที่ว่า มีองค์กรจำนวนหนึ่งในสามทั่วโลกเคยมีประสบการณ์จากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์หรือช่วงโหว่ ที่ปิดกั้นการเข้าถึงระบบงานหรือข้อมูลภายในช่วง 12 เดือนก่อนหน้านี้
นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า “ผลการศึกษา Dell Technologies 2021_GDPI ระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบสำรวจจากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีความกังวลว่ามาตรการด้านการปกป้องข้อมูลขององค์กรเท่าที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามจากมัลแวร์และแรนซัมแวร์”
“ในยุคที่มีภัยคุกคามไซเบอร์เกิดมากขึ้น เราเข้าใจดีว่ามีเดิมพันที่สูงขึ้น และความซับซ้อนก็เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเราได้ทำงานร่วมกับลูกค้าทั่วภูมิภาคอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความท้าทายที่มากขึ้น
ด้วยการนำกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมพร้อมการปกป้องข้อมูล มาช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้มั่นใจถึงความยืดหยุ่นในการรับมือในกรณีที่เกิดการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์อื่นๆ”
ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการปกป้องข้อมูล
การจัดทำสำรวจ Dell Technologies_GDPI ประจำปี 2021 กับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีทั่วโลกนับ 1,000 ราย โดย 250 รายมาจากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) แสดงให้เห็นว่า องค์กรมากมายกำลังต้องต่อสู้กับการเติบโตของข้อมูลอย่างต่อเนื่องและความซับซ้อนด้านการปกป้องข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า องค์กรทั่วโลกกำลังบริหารจัดการปริมาณข้อมูลที่เพิ่มจาก 5 ปีก่อนถึงกว่า 10 เท่า จากปริมาณข้อมูล 1.45 เพตะไบต์ ในปี 2016 เพิ่มเป็น 14.6 เพตะไบต์ในปี 2021
ประเด็นสำคัญคือ ผู้ตอบการสำรวจ 82 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากการสำรวจทั่วโลก และผลสำรวจในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น มีความกังวลว่าโซลูชันด้านการปกป้องข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรจะไม่สามารถรับมือกับความท้าทายด้านธุรกิจทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
โดยพบว่าจากความกังวลเหล่านี้ 33 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรทั่วโลก และ 38 เปอร์เซ็นต์ในเอเชียแปซิฟิก ได้มีการรายงานถึงการสูญหายของข้อมูลในปีที่ผ่านมา และ 45 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรทั่วโลก กับ 42 เปอร์เซ็นต์ในเอเชียแปซิฟิก เคยมีประสบการณ์เรื่องการดาวน์ไทม์ของระบบแบบที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า
ตัวเลขที่น่าสนใจจากผลการศึกษา GDPI
62 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และ 68 เปอร์เซ็นต์จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กังวลว่ามาตรการด้านการปกป้องข้อมูลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการโจมตีจากมัลแวร์ และแรนซัมแวร์
ในขณะที่ 74 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และ 72 เปอร์เซ็นต์จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เห็นพ้องต้องกันว่าอัตราการขยายตัวของพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหายจากภัยคุกคามทั้งมัลแวร์และแรนซัมแวร์มากขึ้น
67 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และ 66 เปอร์เซ็นต์จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ไม่มั่นใจว่าจะสามารถกู้คืนข้อมูลสำคัญทางธุรกิจทั้งหมดได้ ในกรณีที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์อย่างรุนแรง หรือข้อมูลสูญหาย
63 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และ 64 เปอร์เซ็นต์จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เชื่อว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่นแอปพลิเคชันที่ทำงานบนคลาวด์ Kubernetes Containers รวมถีง AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการปกป้องข้อมูล และการขาดโซลูชันด้านการปกป้องข้อมูลสำหรับเทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้นก็เป็นหนึ่งในสามของความท้าทายหลักด้านการปกป้องข้อมูลสำหรับองค์กร
ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของการสูญหายของข้อมูลภายใน 12 เดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นถึงสี่เท่าสำหรับองค์กรที่ใช้โซลูชันด้านการปกป้องข้อมูลจากผู้จำหน่ายหลายราย เมื่อเทียบกับองค์กรที่ใช้แนวทางจากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว