Saturday, November 23, 2024
AITechnology

AI และ ML กำลังเปลี่ยนโฉมการบริหารจัดการสินทรัพย์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรม

การบริหารจัดการสินทรัพย์ถูกพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล AI และ ML ช่วยให้อุตสาหกรรม สามารถวางกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยง unplanned downtime ช่วยมองหากลยุทธ์การป้องกันหรือแก้ไขใดดีที่สุดสำหรับเครื่องจักร ลดต้นทุน รวมถึงใช้แรงงานและอุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ะบบวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics) และระบบวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ (Prescriptive Analytics) ซึ่งใช้ AI และ ML นั้นกำลังจะเปลี่ยนโฉมการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Performance Management: APM) ด้วยคุณลักษณะอันสำคัญของ การบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0

เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถแจ้งเตือนบริษัทถึงช่วงเวลาที่จะเกิดความล้มเหลวได้ก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้นจริงๆ รวมถึงยังแนะนำวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ให้แก่ทีมซ่อมบำรุงได้อีกด้วย

ในรายงานของ MarketsandMarkets คาดการณ์ว่า ตลาดการบริหารจัดการประสิทธิภาพสินทรัพย์จะเติบโตจาก 2.5 พันล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569 เหตุเพราะอุตสาหกรรม 4.0 จะส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงแนวทางในการพลิกโฉมประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรม

Asset Performance Management Market ที่มา: MarketsandMarkets

การบริหารจัดการสินทรัพย์กำลังพัฒนาไปพร้อมกับอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 ก็นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวิธีการซ่อมบำรุงของแต่ละบริษัท นอกจากนี้การใช้ระบบที่ผสานรวมโลกกายภาพกับไซเบอร์เข้าด้วยกัน (Cyber-physical system) เพื่อเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจในเบื้องต้นนั้น

จะเอื้อให้เกิดการบริหารจัดการประสิทธิภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกได้ผ่านการแจ้งเตือนด้วยระบบวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และระบบวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ โดยทั้งสองวิธีนี้จะนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) และเทคโนโลยีการวิเคราะห์บิ๊กดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การเปลี่ยนโฉมการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยระบบดิจิทัล
บทความโดย: คิม คัสโต รองประธานอาวุโส การบริหารจัดการสินทรัพย์และ MES AVEVA

แต่ก่อนการบริหารจัดการสินทรัพย์จะให้ความสำคัญกับวิธีการทางวิศวกรรมที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันโซลูชันการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 ได้ผสานรวมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ากับเทคโนโลยีด้านการดำเนินงาน (OT)

จากนั้นจึงเชื่อมต่อสินทรัพย์เข้ากับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ตามขั้นตอนต่างๆ ในวงจรชีวิตสินทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีหลากรูปแบบแตกต่างกันไป

การบริหารจัดการสินทรัพย์ถูกพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งแรกเริ่มนั้นได้ใช้วิธีการที่เน้นตัวสินทรัพย์เป็นหลักและเปลี่ยนไปสู่ระบบที่เชื่อมโยงกับงานวิศวกรรม การดำเนินงาน และประสิทธิภาพแบบครบวงจร

โดยสร้างระบบ Digital Thread แบบผสานรวมระบบเดียวซึ่งใช้ตรวจสอบวงจรชีวิตของสินทรัพย์ได้ทั้งหมดรวมถึงเป็นการวางรากฐานให้แก่ระบบแจ้งเตือนเชิงคาดการณ์และการวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ

ด้วยเหตุนี้บริษัทจึง สามารถวางกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดทำงานที่ไม่ได้วางแผนไว้ (unplanned downtime) พร้อมกันนั้นยังช่วยให้ตัดสินใจว่า กลยุทธ์ด้านการป้องกันหรือแก้ไขใดดีที่สุดสำหรับเครื่องจักรที่มีความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดเวลาการหยุดทำงานที่ไม่ได้วางแผนไว้ รวมถึงใช้แรงงานและอุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวชี้วัดและการแจ้งเตือนเชิงคาดการณ์ประสิทธิภาพสูง

ความสำคัญประการหนึ่งของการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 ก็คือ การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพราะจะสร้างตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่เป็นหลักสำคัญในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์อย่างแท้จริง และในบางสถานการณ์ก็ป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดใดๆ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะว่า เซ็นเซอร์และอุปกรณ์มือถือนานาชนิดมีตัวช่วยตัดสินใจในเรื่องเงื่อนไข ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของสินทรัพย์โดยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งเอื้อให้ตัดสินใจได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ในบทความของ สลาฟโก เวลิคอฟ ผู้เชี่ยวชาญระบบไอทีวิศวกรรม บริษัท Bentley Systems ได้มีให้ข้อมูลว่า ระบบ AI และ ML จะใช้ข้อมูลคาดการณ์การถดถอยของประสิทธิภาพการทำงานและความล้มเหลวของอุปกรณ์ได้แม่นยำมากกว่า 95% โดยจะแตกต่างอย่างสุดขั้วกับตัวชี้วัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ตอนนี้ซึ่งมักจะประมวลผลช้าและรายงานผลแค่ความล้มเหลวหลังจากเกิดเหตุขึ้นแล้วเท่านั้น

ข้อมูลต่างๆ นี้ใช้เพื่อตั้งค่าการแจ้งเตือน โดยจะให้คำแนะนำแบบเฉพาะทางซึ่งได้กำหนดไว้ก่อนหน้าแล้ว ด้วยเหตุนี้วิศวกรซ่อมบำรุงจึงสามารถป้องกันการทำงานผิดพลาดและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

Various components and data flows in asset management systems (adopted from Gartner) ที่มา: สลาฟโก เวลิคอฟ
การวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำและการดำเนินการ

แม้ระบบวิเคราะห์เชิงคาดการณ์จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น รวมทั้งเรายังสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำกว่าเดิม แต่การใช้ระบบวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำจะยิ่งช่วยให้เรานำการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 มาใช้ให้ประโยชน์สูงสุด และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะว่าไม่เพียงแต่โซลูชันเหล่านี้จะช่วยบอกสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังสามารถวิเคราะห์การตอบสนองที่ดีที่สุดต่อเหตุการณ์นั้นได้ผ่านระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและระบบ ML

การแจ้งเตือนที่แสดงขึ้นมาแต่ละรายการจะถูกประมวลผลด้วยการดำเนินการแบบให้คำแนะนำโดยดูจากเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ ความวิกฤติ ความเร่งด่วน การดำเนินการ และการบริหารจัดการชิ้นส่วนอะไหล่

จากนั้นจะให้คำแนะนำว่า ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ มากกว่านั้นการดำเนินการที่อิงตามเงื่อนไขเช่นนี้จะช่วยให้การซ่อมบำรุงและการทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้

การบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 จะให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่จับต้องได้

เราได้เห็นธุรกิจต่างๆ สามารถลดเวลาการหยุดทำงานที่ไม่ได้วางแผนไว้ได้ถึง 25% ความพร้อมใช้งานของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 20% อีกทั้งการใช้ประโยชน์สินทรัพย์สูงขึ้นถึง 30% ด้วยการใช้โซลูชันการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ บริษัท Duke Energy ในสหรัฐอเมริกา สามารถหลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่ส่งผลร้ายแรงได้ด้วยการใช้การบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์

และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัท Southern Company ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ระบบเฝ้าระวังจากศูนย์กลาง (centralized monitoring center) เพื่อดูแลสินทรัพย์ด้านการผลิตถ่านหิน ก๊าซ และพลังงานนิวเคลียร์ โดยได้ปรับใช้แบบจำลองการคาดการณ์มากกว่า 10,000 แบบเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์สำคัญต่างๆ อีกทั้งการตรวจพบรอยร้าวบนใบพัดได้ก่อนเกิดเหตุช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ราว 7.5 ล้านดอลลาร์

หรือ Ascend Performance Materials ยังเป็นอีกตัวอย่างของบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจที่แท้จริงจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 โดยเป้าหมายของบริษัทคือการเปลี่ยนโรงงานยุค 1950 ให้เป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัยซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางอุตสาหกรรมเพื่อช่วยป้องกันการหยุดทำงาน

ด้วยการใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้ไม่ต้องป้อนข้อมูลด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถแสดงภาพกระบวนการผลิตโดยรวมของแต่ละทีมได้ มากกว่านั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลความรู้ และไม่ต้องสูญเงินมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์ หากต้องปิดโรงงาน

ในภาคปิโตรเคมี บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ในไทยใช้โซลูชันการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดทำงานโดยไม่ได้วางแผนจากการหยุดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้โรงงานมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นจาก 98% เป็น 100% และช่วยประหยัดต้นทุนได้ดีมาก

เปลี่ยนวิธีการบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ให้ดียิ่งขึ้น

การบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาวิธีการบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ให้ดียิ่งขึ้นดังตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว แต่ในขณะที่บางบริษัทได้บรรลุแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 ไปแล้วหรือบางแห่งใกล้จะถึงเป้าหมายแล้ว แต่บริษัทอื่นๆ อาจยังไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มต้นการเปลี่ยนโฉมอย่างไรดี

ผู้ให้บริการเทคโนโลยีพร้อมที่จะช่วยคุณให้พัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการสินทรัพย์ และอยากชี้ให้ทุกคนเห็นว่า การบริหารจัดการสินทรัพย์ 4.0 สามารถสร้างผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของคุณได้ เทคโนโลยีนี้กำลังพลิกโฉมการบริหารจัดการสินทรัพย์ และก็สามารถเปลี่ยนโฉมธุรกิจของคุณได้เช่นกัน