Sunday, November 24, 2024
ColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakEduTech

มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นอย่างไร หลังพ้นวิกฤตไวรัสโควิดระบาด

ขอเสนอแนวทางการปรับตัวของ มหาวิทยาลัย ที่เผชิญความท้าทายหลายประการ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน บางอย่างเป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือสำหรับอนาคต ที่ต้องไม่ลืมพื้นฐานการเป็นแหล่งบ่มเพาะอารยธรรมสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

หาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อชาติ เนื่องจาก มีความรับผิดชอบในการผลิตองค์ความรู้และกำลังคนทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และด้วยสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร มหาวิทยาลัยในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัว

โดยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของสังคมและสามารถนำการเปลี่ยนแปลงของสังคม เนื่องจาก ผมเชื่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นมดลูกคลอดสังคม เป็นผู้ชี้ทิศกำหนดแนวทางของสังคม

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย จำนวนมากเป็นฝ่ายตั้งรับและได้รับผลกระทบทางลบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องนำออนไลน์เข้ามาใช้จัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบอีกระยะหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้วสังคมจะปรับตัวสู่ภาวะสมดุล เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยไทยจึงจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมทั้งในช่วงหลังพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในอนาคต ผมจึงเสนอแนวทางการปรับตัวของมหาวิทยาลัย ดังนี้

1. สร้างสมรรถนะแก่ผู้เรียน: Work based Learning: เพิ่ม Intern ตลอดทาง, Extern ฝึกงาน 2 ปี

การจัดการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนมากขึ้น โดยผมเสนอให้ปรับลดเวลาเรียนและเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษาเป็น 16 ปี โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กระชับ ยืดหยุ่นจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งช่วงเวลาเรียน ช่วงวันหยุด และช่วงปิดเทอม ให้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด ไม่ปล่อยให้มีเวลาว่างอย่างไร้ประโยชน์ โดยในส่วนของปริญญาตรี ให้ทำวิทยานิพนธ์ เรียนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based) ทุกคณะเรียนพร้อมฝึกงานในโลกจริง 2 ปี ก่อนได้รับปริญญา

2. บริบูรณ์: โมเดล 3ศ. สร้างผู้เรียน

ผมเคยนำเสนอความคิด ศาสตร์ ศิลป์ และ ศาส์น หรือที่ผมเรียกว่า โมเดล 3 ศ. เอาไว้ในหนังสือ คนดีสร้างได้: โมเดลบริบูรณ์ธรรม

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

โดย ศาสตร์ ในที่นี้เปรียบได้กับ ความจริง เป็นการค้นพบความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ศิลป์ เปรียบได้กับ ความงาม ที่แสดงออกเพื่อให้เกิดความพึงพอใจในความรู้สึก มีคุณค่าทางสุนทรียะ โดยมีฐานรากที่รองรับคือ ความดี ซึ่งเปรียบได้กับ ศาส์น หรือ คุณค่าสูงสุดของความจริงและความงาม

การจัดการศึกษาของเราควรมีส่วนเสริมสร้างผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทั้ง 3 ประการดังกล่าวนี้ เช่น มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาทำวิจัยค้นคว้าแสวงหาความจริง ใช้การวิจัยเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทำวิจัยร่วมกับคณาจารย์

และมีส่วนร่วมแสวงหาทางออกให้กับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งระดับประเทศและระดับโลกและมีการมุ่งสอนให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง รู้วิธีจัดการกับความเครียด การเสริมสร้างความสุขและการถูกเติมเต็มในชีวิต รวมถึงการเรียนรู้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นต้น

3. ผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์

ต่อเนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เรียนรู้ผสมผสาน (Hybrid Learning) ออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถทดแทนออฟไลน์ได้ทั้งหมด เป็นตัวเสริมในการจัดการศึกษาแบบคู่ขนานทั้ง ออนไลน์ และ ออฟไลน์ ผมเสนอให้มีการส่งเสริมด้านการพัฒนาข้อมูลและความรู้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้หลากหลายและมีคุณภาพ เช่น เรียนในชั้น มอบหมายงานผ่านออนไลน์ เป็นต้น

4. เปิดกว้างพร้อมรับกลุ่มเป้าหมายใหม่

มหาวิทยาลัยต้องจัดการเรียนการสอนรองรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเพิ่มเติมทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานไม่จำกัดเฉพาะผู้เรียนกลุ่มปกติ อาทิ กลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ จัดการศึกษาให้ยืดหยุ่นด้านเวลาและวิธีการเรียน เพื่อ Reskill-Upskill สมรรถนะกำลังคน เช่น หลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีร่วมสมัย ฯลฯ

5. บุกเบิกสาขาวิชาใหม่

เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้บางสาขาวิชาปิดตัว สาขาวิชาใหม่เกิดขึ้น เกิดการขยายพรมแดนความรู้มากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงตอบโจทย์ใหม่ของสังคมและกลุ่มผู้เรียน ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการพัฒนาสาขาวิชาใหม่มากขึ้น

เช่น AI หุ่นยนต์ และ Big Data เป็นต้น ผมเสนอว่าการขยายขอบเขตปริมณฑลขององค์ความรู้อาจทำได้โดยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าหากัน ทำให้เกิดแนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดพลังทวีคูณในการสร้างสรรค์มากกว่าการใช้ความรู้เพียงศาสตร์เดียว โดยรูปแบบการบูรณาการความรู้มีทั้งหมด 8 รูปแบบ ได้แก่

พหุศาสตร์ (Multi-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่างๆ มาศึกษา โจทย์เดียวกัน โดยที่แต่ละศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

สหศาสตร์ (Inter-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่างๆ มาใช้ร่วมกันเป็นระบบความคิด แต่ยังมองเห็นขอบเขตของแต่ละศาสตร์ เช่น สตรีศึกษา อเมริกันศึกษา

บรรจบศาสตร์ (Cross-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่างๆ มารวมกันเป็นศาสตร์ใหม่ ณ จุดบรรจบ โดยยังเห็นร่องรอยของศาสตร์เดิม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สรรพศาสตร์ (Trans-Discipline) คือ การบูรณาการข้ามศาสตร์ จนเกิดศาสตร์ใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิม เช่น อนาคตศาสตร์

ญาติศาสตร์ (Allied or Cognated Discipline) คือ การบูรณาการศาสตร์ที่มาจากรากเดียวกัน เช่น สะเต็ม (STEM)

ผลึกศาสตร์ (Merged Discipline) คือ การผสมผสานศาสตร์เข้าด้วยกันให้เป็นศาสตร์เดียวอย่างไร้รอยต่อ เช่น เศรษฐมิติ (Econometrics)

ผนึกศาสตร์ (Unified or Synergized Discipline) คือ การผนึกศาสตร์เข้าหากันจนเกิดความเป็นเอกภาพของศาสตร์ต่างๆ เช่น ชีวเคมี กลศาสตร์ควอนตัม

นวศาสตร์ (Neo-Discipline) คือ การบูรณาการศาสตร์แนวใหม่ จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ศาสตร์การสร้างชาติ ศาสตร์การเป็นพ่อแม่ เป็นต้น

6. ทำวิจัยสร้างนวัตกรรม 3I

มหาวิทยาลัยต้องฝึกทักษะวิจัยให้แก่นักศึกษา โดยวิจัยต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ ปริญญาตรี เรียนรู้การทำวิจัยและเริ่มต้นทำวิจัย ปริญญาโทยกเลิกการทำสารนิพนธ์แต่ควรทำวิทยานิพนธ์ และปริญญาเอก เรียนหลักสูตรนานาชาติ เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น

วิจัยควรมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม 3I ประกอบด้วยนวัตกรรมความคิด (Ideation innovation) นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (Implementation innovation) และ นวัตกรรมผลกระทบ (Impact innovation)

เช่น สถาบันการสร้างชาติที่ผมเป็นประธานสถาบัน จัดให้ทำ โครงการ CCS “จิ๋วแต่แจ๋ว” โครงการเล็กแต่มีผลกระทบมาก ซึ่งนักศึกษาของสถาบันการสร้างชาติแต่ละรุ่นมีส่วนในการสร้างสรรค์โครงการมากกว่า 200 โครงการ

(นวัตกรรม 3I หรือ Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model ที่ผู้เขียนริเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม” ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15 วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 และภายหลังพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ)

7. เรียนรู้ตลอดอายุขัย: โมเดล 365/24/123

มหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ผู้มีค่านิยม และ มีระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดช่วงชีวิต 123 ปีที่สามารถไปถึง ให้ทุกเวลาเป็นเวลาของการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และอยากเรียนรู้

ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องง่ายที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แนวคิดที่ผมเคยเสนอไว้หลายประการ อาทิ วิธีการเรียนรู้ 32 ประการ และ เรียนสุข 15 วิธี เลือกมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เป็นต้น

โดยโมเดล 365/24/123 เกิดขึ้นครั้งแรก การเสวนาประเด็นหัวข้อ “การรู้หนังสือกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

8. สอนการคิดเพื่อสร้างผู้เรียนนักคิด

ผมนำเสนอความคิดมานานให้พัฒนาการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาการคิดให้แก่ผู้เรียน สร้างผู้เรียนให้คิดเป็นเพราะคนไทยมีปัญหาคิดไม่เก่ง ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการคิดออกมาหลายเล่ม หวังให้เป็นประโยชน์ช่วยพัฒนาการคิดให้กับคนไทยและผู้เรียนไทย

เช่น การสร้างห้องเรียนเรือนเพาะชำทางปัญญาสร้างนักคิด นักวิชาการ เป็นที่บ่มเพาะเลี้ยงดูทางความคิด ที่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงทางความคิดโดยการสร้างห้องเรียนให้มีบรรยากาศ “พหุเอกานิยม” ผสมเกสรทางปัญญาพร้อมสำหรับสังคมแห่งความหลากหลายสร้างธรรมผ่านการคิด

ฝึกให้มีอารยะธรรมะปัญญารู้คิดมีกระบวนการคิด (4 ทิศ) กระบวนความรู้ (3 มิติ) กระบวนปัญญา และกระบวนธรรมะสำหรับเป็นฐานอารยะความเห็นชอบ ใช้ในการแยกแยะ ถูก ผิด ดี ชั่ว เป็นต้น

มหาวิทยาลัยไทยหลังพ้นวิกฤตไวรัสโควิดระบาดต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ บางอย่างเป็นความท้าทายต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการระบาด บางอย่างเป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องปรับตัวและพร้อมรับมือสำหรับอนาคต

ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมของความรู้หลากหลายศาสตร์สาขาวิชาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ดังกล่าวเหล่านี้มาบูรณาการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางปัญญาความรู้

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อแวดวงวิชาการ ทำให้เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการความรู้เท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการเอื้อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะอารยธรรมสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่อไปครับ

>> อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by pressfoto on Freepik