ทิศทางการลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ในมุมมองของ Schroders บริษัทบริหารจัดการลงทุนข้ามชาติ
“คริปโตเคอร์เรนซี จะยังคงเติบโตต่อไป เป็นสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนสูง นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนจากความคุ้นเคย และลงทุนผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเค็นและเหรียญคริปโต
เมื่อกรกฎาคม ที่ผ่านมา Schroders บริษัทบริหารจัดการลงทุนข้ามชาติ จากประเทศอังกฤษ ได้เชิญบรรดาพันธมิตรชั้นนำมาร่วมพูดคุยในเวทีการประชุม Schroders Thailand Investment Conference 2022 ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนสำคัญสำหรับอนาคตใหม่
เหล่าผู้นำในแวดวงการลงทุนได้พูดคุยกันในหัวข้อต่างๆ เช่น แนวโน้มทั่วโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย การลงทุนที่ยั่งยืน และวิธีการที่สินทรัพย์ดิจิทัลสร้างโอกาสแก่นักลงทุนในการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่และสร้างผลตอบแทนในตลาด รวมถึงธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่
ภายในงานมีเหล่าผู้บริหารคนสำคัญในแวดวงการลงทุนให้เกียรติมาร่วมอภิปราย ได้แก่ เบลค เชฟเฟิร์ด ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders, ชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย และเธรอน แลม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Schroders เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลและข้อดีของการมีกฎระเบียบกำกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้
CIO World Business ได้หยิบบางประเด็นจากงานสัมมนา ที่พูดถึง ทิศทางพลิกการลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ในมุมมองของ Schroders บริษัทบริหารจัดการลงทุนข้ามชาติ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังกลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
เบลค เชฟเฟิร์ด ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders ให้ความเห็นว่า “สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จะยังคงพัฒนาเติบโตต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูง”
“อย่างไรก็ตาม คาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจลงทุนจากความคุ้นเคยเป็นหลักและเริ่มลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเค็นและเหรียญคริปโต ซึ่งในตลาด มีหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
“ตั้งแต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารคริปโตหรือการให้กู้ยืมในรูปแบบเงินคริปโต ไปจนถึงผู้ดูแลหรือที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์นี้โดยเฉพาะ และบริษัทแบบดั้งเดิมทั้งหลายก็อยากจะมีส่วนร่วมในสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”
“นอกจากนี้ เรายังมองเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการซื้อขายนอกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเค็น เช่น ทุนทางธรรมชาติ (natural capital) เห็นได้ชัดเจนเลยว่ายังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตของระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ต่างๆ อีกมากมายในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้”
ควบคุมสมดุลระบบนิเวศสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยกฎระเบียบ
เชฟเฟิร์ด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การติบโตดังกล่าวย่อมมาพร้อมกับกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนบางรายที่มองหาแค่เพียงวัฏจักรตลาดการลงทุนที่เฟื่องฟู อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนสถาบัน เรามองว่ากฎระเบียบเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับตลาดสินทรัพย์เหล่านี้และเสริมความมั่นใจในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันได้ดียิ่งขึ้น”
ขณะที่ ชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “การออกกฎระเบียบควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลและความมั่นคงให้กับสินทรัพย์ประเภทนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะช่วยให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้นสำหรับสินทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการเงินได้มากขึ้นกว่าที่เคย”
“อุตสาหกรรมการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีแผนกำหนดแนวทางนโยบายใหม่สำหรับภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการออกใบอนุญาตของ virtual banking ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน”
Featured Image: Image by master1305 on Freepik