“ผู้เขียนขอชี้ให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจไทยในการสร้างความร่วมมือกับอินเดีย ผลักดันการค้าและการลงทุน ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสของคนไทย ยกระดับแรงงานในประเทศ
อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศอินเดียหลายสิบครั้ง ทั้งจากการได้รับเชิญไปบรรยาย และด้วยความสนใจอินเดียในฐานะที่เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีอารยธรรมเก่าแก่รุ่งเรืองยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคมสูง หากใครได้ไปเยือนอินเดียจึงมักเห็นทั้งการทำเกษตรกรรมแบบโบราณ ไปจนถึงการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นอินเดียยังเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของโลกทั้งการผลิตสินค้าหัตถกรรม เครื่องประดับโบราณ ไปจนถึงการเป็นแหล่งผลิตซอฟท์แวร์และอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับเชิญเป็น Chief Guest ทำหน้าที่ปาฐกถาและเป็นประธานการมอบรางวัลเกียรติยศนานาชาติในงาน Asia Pacific Business Business Leadership Awards ซึ่งจัดโดยองค์กรระหว่างประเทศ IEDRA Global เนื่องจากมีนักธุรกิจอินเดียหลากหลายท่านเป็นผู้ร่วมมืองาน Global Entrepreneurs Association และ International Economic Development & Research Agency
ผู้เขียนได้หยิบเอาประเด็นสำคัญจากการปาฐกถาดังกล่าว มาชี้ให้เห็นถึงโอกาสของภาคธุรกิจไทยในการสร้างความร่วมมือกับอินเดียมากขึ้น
อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับประเทศอื่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศมหาอำนาจนอกขั้วตะวันตกในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า และอาจเร็วกว่านั้นหากโครงสร้างอำนาจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียสามารถขยายอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่เวทีโลกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนอกจากจะพบเมืองของคนอินเดีย (Indian town) กระจายอยู่ทุกประเทศทั่วโลกแล้ว อินเดียยังกลายเป็นฮับการผลิตบุคลากร และอุตสาหกรรมไอทีของโลก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยี และแรงงาน
สำนักเศรษฐกิจและกิจการสังคมขององค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในปีค.ศ.2023 อินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีอัตราการเติบโตของประชากรมากกว่าจีนถึงร้อยละ 0.66 ส่วนในด้านเทคโนโลยีนั้นอินเดียก็มีการขยายตัวต่อเนื่องจนปัจจุบันโตติดอันดับต้นๆ โลกเช่นกัน
ถนนทุกสายแห่งการเติบโตที่มุ่งไปสู่อินเดีย
ปัจจุบันนักศึกษาด้านไอทีของอินเดียกลายเป็นบุคลากรที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกต้องการ หลายคนสามารถก้าวขึ้นเป็น CEO ของบริษัทระดับโลกอย่าง Google, Microsoft, Adobe, IBM และ Twitter นอกจากนั้นอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียยังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
โดยยอดเงินระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีที่นำหุ้นออกเสนอขายครั้งแรก (IPO) ปีค.ศ. 2022 ของอินเดียสูงถึง 2,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 550 จากปีค.ศ.2021 สวนทางกับจีนที่ยอดขายหุ้น IPO ใหม่ ลดลง 2,300 ล้านดอลลาร์
อินเดียยังมีศักยภาพทางการค้าและการผลิตอีกมากบนเวทีโลก เพราะแม้อุตสาหกรรมด้านไอทีของอินเดียจะโดดเด่น และเติบโตอย่างรวดเร็วมาก แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกอยู่เพียงอันดับ 10 เป็นรองอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมชีวเคมี อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมซีเรียล อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ
นอกจากนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอินเดีย (Bollywood) ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีจำนวนการผลิตต่อปีสูงสุดในโลก โดยล่าสุดภาพยนตร์ คังคุไบ (Gangubai Kathiawadi: หญิงแกร่งแห่งมุมไบ) ได้รับความนิยม และเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในประเทศไทย
ปัจจัยสำคัญอีกด้านที่หนุนความเป็นมหาอำนาจนอกตะวันตกของอินเดีย คือ ด้านความมั่นคง เมื่อโลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างจีน – ใต้หวัน ล่าสุดจีนได้สั่งซ้อมรบรอบน่านน้ำ และแบนสินค้าจากใต้หวันกว่า 20,000 ชนิด
แต่อย่างไรก็ตามสถานะของอินเดียยังมั่นคงด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และนโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงเอื้อให้อินเดียจะสามารถครองตำแหน่งประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วสุดในโลกได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตร้อยละ 7.1-7.6 ในปีค.ศ. 2022-23 และร้อยละ 6-6.7% ในปีค.ศ. 2023-24 โดยในปี 2050 จีดีพีของอินเดียจะสูงถึง 85.97 ล้านล้านดอลลาร์ หรือภายใน 4 ทศวรรษเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวถึงร้อยละ 2,093
ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอินเดีย–ไทย
เมื่อกลับมาดูความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอินเดียกับไทย ผมพบว่าการค้าไทย – อินเดียนับแต่อดีตมีแต่เพิ่มขึ้น โดยก่อนโควิดระบาดการค้าขายระหว่างไทย และอินเดียขยายตัวทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของอินเดียในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 บริษัทอินเดียลงทุนตรงในไทย (FDI) มูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัททาทา ซึ่งลงทุนทั้งในธุรกิจยานยนต์ (Tata Motors) ธุรกิจเหล็ก (Tata Steel) ธุรกิจไอที (Tata Consultancy Services) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใหญ่อื่นๆ อาทิ Indorama, Aditya Birla, NIIT, Kirloskars Brothers และ Punj Loyd
ขณะเดียวกันใน รายงานสถิติการค้าการลงทุนไทย-อินเดีย ของศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย-อินเดีย พบว่า บริษัทไทยยังเข้าไปลงทุนในอินเดียไม่มาก มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซีพี อิตาเลียนไทย ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ บ้านพฤกษาและไทยออโต้ซัมมิท เป็นต้น
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าอินเดียมีความต้องการในการขยายฐานการผลิตสินค้า และสร้างอำนาจอ่อน (soft power) ทั้งในไทยและในเวทีโลก แต่ไทยยังไม่สามารถสร้างบทบาทในการเป็นคู่ค้าของอินเดียได้มากนัก ทั้งที่ไทยมีจุดได้เปรียบชาติอาเซียนในด้านที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน ซัพพลายเชน รวมถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติที่แนบแน่นมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
ผมเสนอว่าไทยควรใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับอินเดีย ให้อินเดียเป็นพันธมิตรกับไทยในการสร้างชาติ โดยการผลักดันการค้าและการลงทุนกับอินเดียให้มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่ไทยยังขาดแคลน โดยเพิ่มโอกาสของคนไทยในการเดินทางไปศึกษาต่อ และทำงานในอินเดียเพื่อกลับมายกระดับแรงงานในประเทศ
นอกจากนี้ยังอาจร่วมมือกันในการขับเคลื่อน การจัดตั้ง BRICKSJAM หรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจนอกขั้วตะวันตก (New Integrated Civilization) เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มมหาอำนาจและเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับโลก และทำให้ไทยและอินเดียมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกในอนาคตอีกด้วย
ผมในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติ มีภารกิจในการขับเคลื่อนให้ทุกภาคกิจทั้งรัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจให้ร่วมมือสนับสนุนซึ่งกันและกันในการพัฒนาประเทศ มีความพร้อม และยินดีในการร่วมมือ กับทุกภาคกิจของทั้งไทยและอินเดียอย่างเต็มที่ ซึ่งผมหวังว่าจะได้ร่วมมือกับทุกท่านในการสร้างชาติไทยร่วมกันครับ
>> อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ BRICKSJAM
>> อ่านบทความอื่นๆ ของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
Featured Image: Business project photo created by ASphotofamily – www.freepik.com