“ประเด็นสำคัญประการหนึ่งสำหรับองค์กรในอุตสาหกรรม ที่ต้องการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือ การเสริมศักยภาพด้านข้อมูล เพิ่มความสามารถด้านการใช้ การจัดการ และประมวลข้อมูลเชิงธุรกิจและการผลิต
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เป็นการยากที่ผู้ผลิตจะสามารถคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้ ประกอบกับปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงาน แม้กระทั่งความไม่แน่นอนในประเทศต่างๆ
ถ้าท่านมีโอกาสได้ติดตามรายงานของ ฟูจิตสึ เรื่อง Digital Transformation Trends for the Manufacturing Industry ประเด็นสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ผลิตในการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือ ความยืดหยุ่นขององค์กร กับความสามารถด้านการใช้ การจัดการ และประมวลข้อมูล
รายงานนี้อิงจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับ C-suite 571 คน ซึ่งเป็นผู้นำด้านไอที 194 คนและผู้นำสายธุรกิจ 377 คน ที่กระจายแทบจะทุกภูมิภาค อาทิ ออสเตรเลีย เบเนลักซ์ แคนาดา ฟินแลนด์ เยอรมนี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
และทำงานอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมหลักๆ คือ การธนาคาร บริการทางการเงินและการประกันภัย รัฐบาลกลางและการป้องกันประเทศ, การผลิต, การขนส่งและยานยนต์ และการขายปลีก
สาระสำคัญที่กรองออกมา พบว่า แต่ละคนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในการใช้กลยุทธ์ข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เมื่อพูดถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อตอบสนองต่อปัญหา และการตัดสินใจที่แม่นยำ
โดยผู้นำด้านการผลิต 65% เชื่อว่าในปัจจุบันพวกเขามีระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าก่อนเกิดโรคระบาด เมื่อเทียบกับจำนวน 29% ในภาครัฐและ 41% ในด้านบริการทางการเงิน
และภาคการผลิตยังเป็นผู้นำ ในการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นด้วยคะแนน 69%
ผู้บริหารด้านไอที ในกลุ่มโรงงานผลิต ยังเชื่อมั่นว่า พนักงานไอทีของเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นราว 14% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละที่สูงเมื่อเทียบกับการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลยในภาครัฐ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ให้บริการทางการเงินเพิ่มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นเพียง 2%
ภาคการผลิตต้องสร้าง องค์กรที่ปรับตัวได้ อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกจากบรรดาผู้บริหารในภาคการผลิต เรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อดำเนินธุรกิจ กระบวนการผลิตหรือเพื่อการใด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตของฟูจิตสึเชื่อว่า หลายบริษัทจะมีมีวิธีสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับเปลี่ยนได้อย่างแท้จริง โดยการใช้ความสามารถในการแปลงข้อมูลเพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์
จากข้อมูลของฟูจิตสึ แม้ว่าภาคการผลิตจะมีผลสำรวจการปรับตัวในภาพรวมแซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในเกณฑ์ 8 ข้อจาก 11 ข้อที่ศึกษาในการวิจัย แต่กลับมีตัวเลขที่ไม่ดีนักในการประเมินผลในหัวข้อ การพัฒนาประสิทธิผลในอนาคต
ผลการประเมินนั้น วัดได้เพียง 50% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมที่ 61 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในด้านที่คะแนนของภาคการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคือ การใช้ข้อมูลสำหรับการทำงานเป็นทีม, การติดตามความคืบหน้าของกฎระเบียบต่างๆ, การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ, การรักษาความปลอดภัย, การพัฒนาปรับแต่ง และการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า
ด้วยห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ซับซ้อน ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นด้านการผลิตทั่วโลกลดลง ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาวิธีสร้างความคล่องตัวมากขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดานี้ ผู้เขียนเห็นว่า องค์กรภาคการผลิตทั่วโลกควรใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มคลาวด์ เพื่อสร้างองค์กรที่คล่องตัวและตอบสนองรวดเร็วมากขึ้น แต่เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น
รายงานระบุว่า มีประเด็นสำคัญที่ผู้ผลิตยังคงมีงานต้องทำการบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลเพื่อปรับแต่ง และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า รวมถึงการสร้างกระบวนการทางดิจิทัลแบบครบวงจร
ผู้เขียนคาดการณ์ว่า แนวคิด การให้ความสำคัญลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จะมีความสำคัญสำหรับผู้ผลิตทั่วโลกที่ต้องการลดต้นทุน สร้างกำไรให้สูงขึ้น และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน