“เปิด (ร่าง) 6 โปรเจกต์ดันแผน AI ประเทศไทย 2 กระทรวงใหญ่ อว. และ ดีอี นั่งหัวโต๊ะระดมความเห็นทิศทางการพัฒนา AI ให้ครอบคลุมทุกมิติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 – 2570) เพื่อให้เกิดแนวทางดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกับเครือข่ายเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
โอกาสนี้ เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมในฐานะกรรมการภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
6 โปรเจกต์นำร่อง ขับเคลื่อนแผน AI ประเทศไทย ระยะที่ 2 (ร่าง)
แผนปฏิบัติการ AI ได้จัดทำโครงการที่สอดรับกับจุดเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในระยะที่ 1 มุ่งเน้นกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ
สำหรับ แผนปฏิบัติการ AI ระยะที่ 2 คณะทำงานได้เข้าสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมการค้า อุตสาหกรรมการค้าและการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคง กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต
จนนำมาสู่โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 -2570) Flagship Projects ชุดที่ 1 ทั้งสิ้น 6 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (Travel Link)
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เล่าว่า โครงการนี้มุ่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก
- พัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) โดยเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชนหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรายวัน ข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่จากโครงการเที่ยวด้วยกัน สถิติการเยี่ยมเยือน เป็นต้น ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะข้อมูลความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อพื้นที่ โรงแรม บริการ ฯลฯ และข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำ Data Catalog และใช้เครื่องมือพื้นฐาน รวมถึง AI ในการประมวลผลข้อมูลหลายรูปแบบ และสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลผ่านทาง Dashboard และ Infographics
- พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว (Attraction Recommendation) ซึ่งเป็นแผนระยะถัดไปของโครงการโดยปัจจุบันยังต้องการข้อมูลด้าน logistic อัตราค่าโดยสารของขนส่งสาธารณะต่างๆ เป็นต้น
- พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการ Chatbots ด้านการท่องเที่ยว ด้วย Generative AI
“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ ภาครัฐสามารถวางแผนและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างเหมาะสม สร้างความยั่งยืนให้กับภาคท่องเที่ยวไทย”
“สำหรับภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลเชิงลึกไปใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อพัฒนาการตลาดและการแข่งขันทางธุรกิจ หรือใช้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อพัฒนาบริการ/ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ด้านนักท่องเที่ยว สามารถวางแผนการท่องเที่ยวที่ตรงกับความพึงพอใจได้อย่างลงตัว และสามารถค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรณี กล่าว
2.โครงการ Strengthening Fraud Detection Ecosystem with Data Lab
ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการ Head of External Affairs และผู้บริหารยุทธศาสตร์ 3 ปี โครงการตรวจจับการธุรกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้สมาคมธนาคารไทย อธิบายว่า “โครงการนี้จะออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับระบบของผู้ใช้บริการทางการเงินในภาคธนาคาร ตามมาตรา 4 (Central Fraud Registry: CFR)”
“อีกทั้งยังพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI Model ในการตรวจจับและป้องกันการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน สามารถตรวจจับความเกี่ยวเนื่องของบัญชี และ/หรือธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย รวมทั้งสามารถกำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม”
“โดยมุ่งเน้นที่การยกระดับการตรวจจับและการป้องกันเชิงรุกสำหรับการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงนำร่องพัฒนากระบวนการและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำธุรกรรมทางการเงิน และต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกภาคการเงิน
“คาดว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการสูญเสียทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำทุจริต อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถของภาครัฐในการควบคุมดูแลการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน การตรวจสอบและการดำเนินคดีทางกฎหมายเมื่อเกิดการกระทำทุจริต”
“รวมถึงสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการใช้บริการทางการเงิน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชน” ดร.นครินทร์ กล่าว
3.โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล
เพื่อให้ประเทศไทยมีศูนย์ดำเนินงานด้านการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Center) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) อธิบายถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานของโครงการ
โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้าน AI Governance, Toolkits ใหม่ๆ รวมถึงมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยสำหรับ Sector หรือ Regulator พร้อมสร้างเครือข่ายทำงานด้านงานวิจัย AI ในประเทศ/ต่างประเทศ
อีกทั้งยังพัฒนาและถ่ายทอดความรู้พร้อมให้คำปรึกษาการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน และการกำกับดูแล มีศูนย์ทดสอบ AI Testing สำหรับระบบ/บริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีกลไกสนามทดสอบ (Sandbox) แนวคิดการประยุกต์ใช้ AI รวมถึงนวัตกรรมใหม่ รวมถึงสนับสนุนการขยายผลการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลตามแผนปฏิบัติการ AI ประเทศ
“โครงการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและเกิดความตระหนักรู้เท่าทันการใช้งาน AI และส่งเสริมการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีองค์รวมของภาครัฐผ่านการมีศูนย์กลาง AIGC สำหรับภาคเอกชนจะมีพื้นที่ในการการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น พื้นที่ทดสอบทดลองด้าน AI Ethic issues”
“อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิต การบริการ และการประกอบการของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างงานและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการแสดงศักยภาพด้าน AI Governance ให้ต่างชาติยอมรับและเกิดการลงทุนมากขึ้น” ดร.ศักดิ์ อธิบาย
4) โครงการ Thai Large Language Model (Thai LLM)
โครงการนี้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (LLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) อธิบายว่า “Thai LLM อาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลภาษาไทยที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายพร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลางสามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในกาครัฐและเอกชน”
“อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบุคลากรด้าน AI ในประเทศไทยให้มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย
“อย่างไรก็ตาม โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและต้องการการวิจัยเพิ่มเติม ประกอบกับโมเดลเหล่านี้ต้องการข้อมูลจำนวนมหาศาลในการปรับแต่งสำหรับงานเฉพาะด้าน ส่งผลให้โมเดลที่ปรับแต่งแล้วอาจไม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่คาดหวัง”
“เพื่อลดความเสี่ยงนี้จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในโดเมนที่ต้องการใช้งาน ควบคู่ไปกับการทดสอบอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ใช้ นอกจากนี้ ผู้พัฒนาควรพิจารณาเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติมจากการประมวลผลภาษาด้วยโมเดลขนาดใหญ่ เช่น เทคนิคการสืบค้นเอกสาร เพื่อเพิ่มความแม่นยำของผลลัพธ์ ” ดร.กอบกฤตย์ กล่าวเสริม
5.โครงการตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ
โครงการนี้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติและส่งเสริมการนำไปใช้งาน โดย ดร.เจษฎา กาญจนะ นักวิจัยเนคเทค สวทช. อธิบายว่า “ข้อมูลชีวมิติที่มุ่งเน้น ได้แก่ ภาพถ่ายลายม่านตา, เสียงพูด, ภาพถ่ายใบหน้า, ภาพเคลื่อนไหวใบหน้าพร้อมเสียงพูด รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ และบริการทดสอบระบบที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติตามเกณฑ์มาตรฐานฯ เช่น ขมธอ. 30-2565”
“นำไปสู่การยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของประเทศไทย ใช้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชน อีกทั้งภาครัฐยังสามารถยกระดับระบบความปลอดภัยของระบบการยืนยันตัวตนของภาครัฐ”
“และสามารถประยุกต์ใช้ระบบการยืนยันตัวตนดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างบูรณาการ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าให้กับภาคเอกชนจากการมีระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวมิติอีกด้วย” ดร.เจษฎา กล่าว
6.โครงการ AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0
วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล ประธานคณะทำงาน AI for industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าว่า “โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการขยายผลวิจัยและพัฒนาและยกระดับ AI-based Machine Vision ในการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การแข่งขันในระดับสากล”
“โดยนำร่องนำเทคโนโลยี AI-based Machine Vision มาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายผลและยกระดับแพลตฟอร์ม Visual Inspection สัญชาติไทยที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยเน้นเพื่อ AI sovereignty หรือ เอกราชของ AI”
ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แนวทางการส่งเสริมและการขับเคลื่อนโครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ดำเนินการโดย ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
โดยผู้เข้าร่วมจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผู้แทนจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผน AI ประเทศไทย รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อ 6 โครงการนำร่องดังกล่าว รวมถึงประเด็นการพัฒนา AI ในประเทศ เป็นประโยชน์ในการดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยทำให้เกิดความร่วมมือ และสร้างภาคีเครือข่าย
ในการดำเนินการจัดทำโครงการสำคัญๆ และ สามารถมองเห็นผู้มีส่วนร่วมที่จะเข้ามาเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยมีความร้อยเรียงและเข้มแข็งมากขึ้น