Thursday, November 21, 2024
FinTechGenerative AINEWS

คนไทย 47% ไม่พกเงินสด หนึ่งในสามเชื่อหลังปี 2028 ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

สังคมไร้เงินสด

วีซ่า เผยข้อมูลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี พบกระแสนิยมการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอาเซียน คนไทย 47% ไม่พกเงินสด และ 34% คาดหลังปี 2028 จะก้าวเข้าสู่ สังคมไร้เงินสด แรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีการชำระเงินและความพร้อมของประชากร

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มใช้ระบบไร้เงินสด และได้ขยายไปสู่กลุ่มและกลุ่มประชากรใหม่ๆ ก้าวสู่ สังคมไร้เงินสด อย่างชัดเจนมากขึ้น

จากการศึกษาของ วีซ่า เรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี (Visa Consumer Payment Attitudes Study 2024) กับผู้บริโภคกว่า 6 พันรายทั่วภูมิภาค พบถึงความต้องการอย่างชัดเจนต่อวิธีการไม่ใช้เงินสด (60%) มากกว่าเงินสด (26%) ความรู้สึกเหล่านี้มีรากฐานมาจากพฤติกรรมการไม่ใช้เงินสดที่ไม่เพียงแต่ขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้นด้วย 

ในปี 2023 ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อยละ 72 รายงานว่า เคยพยายามไม่ใช้เงินสดในการดำเนินชีวิต ที่สามารถอยู่แบบไร้เงินสดได้ 9.2 วัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่สามารถใช้ชีวิตโดยไม่ใช้เงินสดได้ 8.6 วัน ขณะที่บางรายสามารถอยู่ได้โดยเฉลี่ย 11 วันโดยไม่ต้องใช้เงินสด โดยเฉพาะในประเทศที่มีค่าครองชีพสูง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย 

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำ 3 อันดับแรกของความพยายามในการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด รองจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ 

จากรายงานดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า การพัฒนาไปสู่ สังคมไร้เงินสด นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นที่สำคัญคือ โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและความพร้อมของประชากรในประเทศ

อะไรคือ แรงผลักดันพฤติกรรมไร้เงินสดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภคและการเติบโตของการชำระเงินแบบดิจิทัลนั้นขับเคลื่อนโดยปัจจัยหลักสามประการ ได้แก่ ความสะดวก การเข้าถึง และความปลอดภัย 

ในรายงานก่อนหน้านี้ การเติบโตของการชำระเงินแบบดิจิทัลขยายตัวขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 วิกฤตดังกล่าวยังกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูดิจิทัลไลเซชันสำหรับธุรกิจ โดยหลายรายเลือกที่จะให้บริการโซลูชันการชำระเงินแบบไร้เงินสดเพื่อตอบสนองต่อกฎการระบาดและความกังวลด้านสุขภาพของผู้บริโภค 

แนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เกิดจากการระบาดไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับเปิดประตูให้ผู้บริโภคและธุรกิจได้สัมผัสกับความสะดวกสบายของการไม่ใช้เงินสด ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดกระแสหลักในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มากขึ้นยังทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนมาใช้ตัวเลือกการชำระเงินแบบไร้เงินสดอีกด้วย ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า พวกเขาพกเงินสดน้อยลงเนื่องจากใช้การชำระเงินแบบไร้สัมผัสมากขึ้น (48%) ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภครู้สึกสบายใจมากขึ้นกับตัวเลือกที่มีอยู่ทั่วไปมากขึ้นนี้ การชำระเงินแบบไร้เงินสดยังถือว่าปลอดภัยกว่าเงินสดอีกด้วย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสบายใจมากขึ้นกับตัวเลือกนี้

จากรายงานดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า การพัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นที่สำคัญคือ โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและความพร้อมของประชากรในประเทศ

ความเป็นไปได้ของสังคมไร้เงินสด

ผู้บริโภคอย่างน้อย 25% ในภูมิภาคนี้คาดว่าประเทศของตนจะเข้าสู่โหมดไร้เงินสดภายใน 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทย ผู้บริโภค 3 ใน 5 รายคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดไร้เงินสดภายใน 4 ปีข้างหน้า

โดยปัจจุบัน (2023) ประชากรในอาเซียน 8% มีความเห็นว่าประเทศของตนเองนั้น ได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว ขณะที่มีประชากรไทยเพียง 4% ที่คิดว่าเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว

การสำรวจดังกล่าวได้สอบถามประชากรในอาเซียน ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ว่าเมื่อใด ที่ประเทศของตัวเองจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ซึ่งได้ผลที่น่าสนใจคือ ภายในปี 2025 ประชากรในอาเซียน 25% เห็นว่าประเทศของตนจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ขณะที่คนไทย 32% มั่นใจว่าประเทศจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด 

ภายในปี 2028 ประชากรในอาเซียน 16% เห็นว่าประเทศของตนจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ขณะที่คนไทย 22% มั่นใจว่าประเทศจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด และหลังจากปี 2028 เป็นต้นไป ประชากรในอาเซียน 39% เห็นว่าประเทศของตนจะกลายเป็น สังคมไร้เงินสด ขณะที่คนไทย 34% มั่นใจว่าประเทศจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

ขณะที่ ประชากรในอาเซียน 11% และคนไทย 9% ไม่เชื่อมั่นใจเลยว่าประเทศจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

ผลการสำรวจที่น่าสนใจ

คนไทยใช้แอปฯ โมบายแบงก์กิ้งมากที่สุดในอาเซียน

อ้างอิงจากการศึกษาล่าสุดพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่า พวกเขาใช้งานแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นผู้นำด้านความถี่ในการใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยผู้บริโภคชาวเวียดนาม (95%) และชาวอินโดนีเซีย (90%) 

โดยเฉลี่ยเกือบเก้าในสิบ (89%) ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งยังเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุดในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ 

โดยประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยตัวเลข 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคที่ระบุว่านิยมใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือมากกว่าบริการบนเว็บไซต์ ตามด้วยผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย (95%) และชาวเวียดนาม (92%) 

คนพกเงินสดน้อยลง

ยิ่งผู้บริโภคในภูมิภาคใช้จ่ายแบบดิจิทัลมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็พกเงินสดน้อยลงเท่านั้น โดยการศึกษาของวีซ่าระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พกเงินสดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นำโดยชาวเวียดนาม (56%) มาเลเซีย (49%) และไทย (47%) 

ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาพกเงินสดน้อยลง คือ ใช้จ่ายผ่านการชำระเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบคอนแทคเลส หรือไร้สัมผัสมากขึ้น มีสถานที่รับชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และกังวลว่าเงินสดจะสูญหายหรือถูกขโมย

คาดหวังบริการทางการเงินจาก Gen AI

ในส่วนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ Gen AI ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ เคยได้ยินเกี่ยวกับคอนเซปต์ หรือรู้ว่ามันคืออะไร 

สำหรับ Gen AI ในบริบทของการให้บริการทางการเงินนั้น หนึ่งในสามของผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (32%) ระบุว่าเคยใช้งาน Gen AI มาแล้ว ขณะที่ 38 เปอร์เซ็นต์รู้จักแต่ไม่เคยใช้งานมาก่อน และหากจำแนกตามกลุ่มผู้บริโภคจะพบว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง (51%) จะคุ้นเคยกับ Gen AI มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (37%) 

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจจากการศึกษาฉบับนี้คือ นอกจากอัตราการรับรู้ที่สูงแล้ว บริการที่ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้กำลังมองหาจาก Gen AI ในการทำธุรกรรมมากที่สุดสามอันดับแรก คือ การแจ้งเตือนธุรกรรมที่อาจเกิดการฉ้อโกงหรือตรวจจับการฉ้อโกง (79%) การโต้ตอบกับลูกค้าที่สอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ (73%) และการแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านการเงินแบบเฉพาะบุคคล (71%) 

ไทยใช้ Real-time payments ถี่กว่าเพื่อนในอาเซียน

การชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payments หรือ RTP) เช่น การชำระเงินรูปแบบ Promptpay ของไทยและในหลายๆ ประเทศในอาเซียน อาทิ BI-FAST ของอินโดนีเชีย, DuitNow ของมาเลเชีย, InstaPay และ PESONet ของฟิลิปปินส์, PayNow ของสิงคโปร์ ก็เป็นอีกทางเลือกที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน 

โดยมีผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ รู้จักวิธีการชำระเงินในรูปแบบนี้ และ 47 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์มาก่อน 

ประเทศไทยอยู่อันดับแรกของภูมิภาคในด้านความถี่ของการใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ โดย 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ตามด้วยเวียดนามที่ 84 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียที่ 69 เปอร์เซ็นต์ 

แม้การชำระเงินแบบเรียลไทม์จะเป็นที่รู้จักและมีอัตราการยอมรับสูง แต่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงสงวนท่าทีในการเลือกชำระเงินในรูปแบบนี้ โดยข้อกังวลลำดับต้นๆ ที่ทำให้พวกเขาลังเลคือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (44%) ชอบชำระเงินดิจิทัลรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น บัตรเครดิต/ บัตรเดบิต (42%) และขาดความเข้าใจในการใช้งาน (41%) 

ผู้ประกอบการต้องร่วมมือสร้างความปลอดภัย
ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรคอนแทคเลส สมาร์ทโฟน และการสแกนคิวอาร์โค้ด” 

“รวมทั้งยังเห็นการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ วีซ่า มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ให้แก่ทุกคนในทุกที่ทุกเวลา”

“ดิจิทัลเพย์เมนต์เป็นสิ่งที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นประเด็นที่ควรพิจารณาจากรายงานฉบับนี้คือ ผู้ประกอบการที่อยู่ในอีโคซีสเต็มส์การชำระเงินดิจิทัล จะต้องร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดเหตุการณ์หลอกลวง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นไปทั้งระบบ ต้องมีการให้ความรู้กับทั้งผู้ใช้งานและร้านค้าผู้รับชำระเงิน”

“ประเด็นต่อมาคือ ผู้ประกอบการควรติดตามเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการป้องกันการฉ้อโกงทางดิจิทัล ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากกว่าเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า”

“และประเด็นที่สาม คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพราะเมื่อเป็นโลกดิจิทัลข้อมูลจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล ธุรกิจจะมีข้อมูลที่สามารถนำมาประมวลผลและคาดการณ์ต่างๆ ได้ ส่งผลดีต่อวงจรของการซื้อขาย ทั้งการชำระเงิน การสร้างประสบการณ์ที่ดีเกิดความภักดีและการซื้อซ้ำ” ปุณณมาศ สรุป

Featured Image: Image by freepik