“รายงานความคืบหน้าของ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570 ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี พบปัญหา 3 ประการ ต้องช่วยกันแก้
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 – 2570) ที่จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ได้รายงานถึงความคืบหน้าของ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570 ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี
โดยมีความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1 ปีผ่านไปแผน AI ประเทศไทยทำอะไร ไปถึงไหน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570 โดย สวทช. และ สดช. ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “การจัดทำ แผนปฏิบัติการ AI ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่างๆ อาทิ”
“ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ”
“ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน”
“ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย”
“ทั้งนี้จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ทอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท”
“และที่สำคัญคือ จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปี 2022”
พบปัญหา 3 ประการ
“อย่างไรก็ตาม ดัชนีความพร้อมด้าน AI ปีล่าสุด 2023 ไทยหล่นมาอยู่ในลำดับที่ 37 คณะทำงานจึงร่วมกันวิเคราะห์และสรุปได้เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีดังกล่าวของไทยต่ำลง ได้แก่ 1) Technology Development 2) Human Capital และ 3) Data Representation ทั้ง 3 เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นไฮไลท์ที่ต้องร่วมกันแก้ไขและเติมเต็มระบบนิเวศ AI ของไทย” ดร.ชัย กล่าวสรุป