“ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ปี 2568 ประกาศ สร้างพรมแดนใหม่ของการขับเคลื่อนการแข่งขัน AI คาดหวังเพิ่มตัวเลข AI Adoption ให้ถึง 20% สร้างความเข้าใจ CEO และ CFO มองผลลัพธ์ของ AI ให้ตรงกัน
อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ปี 2568 ประกาศ สร้างพรมแดนใหม่ของการขับเคลื่อนการแข่งขัน AI ในประเทศไทย (The Next Frontier of AI Race in Thailand) ตั้งความหวังให้ผู้บริหารและองค์กรในประเทศไทยร่วมกันแข่งขันสร้างนวัตกรรม AI ซึ่งหมายถึงการพัฒนาการเรียนรู้และความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น ขับเคลื่อนกระบวนการทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมของ AI
โดยคาดหวังถึงผลลัพธ์อยากให้องค์กรในประเทศไทยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มตัวเลข AI Adoption อยู่ที่ราว 20% ขณะที่ไอบีเอ็มมีความพร้อมในการช่วยลูกค้าในเส้นทางการเปลี่ยนเข้าสู่ยุค AI ด้วยเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม
ในการผลักดันดังกล่าว ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มีแผนดำเนินการสนับสนุนทางเทคโนโลยีรวมถึงให้ข้อมูลถึง ปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่จะช่วยให้องค์กรก้าวนำในปฐมบทใหม่ของการแข่งขันด้าน AI ในประเทศไทย ประกอบด้วย
ประการที่หนึ่ง โมเดล AI แบบโอเพนซอร์ส อโณทัย อธิบายว่า โมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจะยังคงทวีความสำคัญอันเนื่องมาจากคุณสมบัติด้านความโปร่งใส ยืดหยุ่น ประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการเอื้อให้องค์กรสามารถปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจตน
โดยจะช่วยให้องค์กรลดความเสี่ยงจากปัญหาเวนเดอร์ล็อคอินและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่ร่วมขับเคลื่อนต่อยอดโดยคอมมิวนิตี้ของนักพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน AI ที่เชื่อถือได้สำหรับทุกองค์กร
ประการที่สอง รากฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก่อนจะสร้าง Gen AI ที่เชื่อถือได้สำหรับธุรกิจ องค์กรต้องมุ่งเน้นการสร้างรากฐานข้อมูลที่เปิดกว้างและเชื่อถือได้ รากฐานของข้อมูลแบบเปิดจะก่อให้เกิดความสามารถในการบูรณาการและจัดการข้อมูลได้อย่างไม่มีสะดุดในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์ ช่วยให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทำงานร่วมกันได้ ลดปัญหาระบบแบบไซโล และเร่งการขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มบนพื้นฐานของข้อมูล
รากฐานด้านข้อมูลที่เชื่อถือได้จะทำให้องค์กรมั่นใจได้ว่าการจัดการข้อมูลและเมทาดาตาต่างๆ เพื่อทำอนาไลติกส์หรือใช้กับ AI มีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และมีการกำกับดูแล ตอบโจทย์ด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ
ประการที่สาม การสเกลด้วย Governance ในการสเกลการใช้งาน AI ธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้โซลูชันและกรอบการกำกับดูแล AI governance เพื่อลดความเสี่ยง ลดอคติ และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำลังเปลี่ยนแปลง
หากไม่มี AI ที่รับผิดชอบและการกำกับดูแล AI องค์กรย่อมไม่สามารถสเกลการใช้งาน AI โดยความไว้วางใจเปรียบเสมือนใบอนุญาติในการดำเนินธุรกิจขององค์กร และองค์กรจะไม่สามารถปล่อยให้ความไว้วางใจถูกทำลายลงโดย AI
ประการที่สี่ การอินทิเกรททั่วทั้งระบบนิเวศน์ ความสามารถในการอินทิเกรทการใช้งาน AI ทั่วทั้งระบบขององค์กรจะทวีความสำคัญในปี 2025 โดยการใช้งานโมเดล AI โอเพนซอร์สที่เพิ่มขึ้น จะนำสู่ความจำเป็นที่แพลตฟอร์มแอพพลิเคชันต่างๆ ต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายดายกับโมเดลอื่นๆ ในระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีขององค์กร นำสู่ความสามารถในการทำงานร่วมกันที่มากขึ้นของระบบต่างๆ ในองค์กร และการปรับตัวรับพัฒนาการใหม่ๆ ด้าน AI ได้อย่างรวดเร็ว
พบปัญหาที่เป็นปัจจัยต่อการประยุกต์ใช้ AI
อโณทัย ได้อ้างถึง การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารไทยและอาเซียนของ IBM ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบปัญหาหรือข้อกังวลที่เป็นปัจจัยต่อการประยุกต์ใช้ AI ในองค์กรหลายๆ ประการ อาทิ ความร่วมมือระหว่างผู้บริหารภายในองค์กร ที่ยังต้องการความร่วมมือทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมองเป้าหมายเดียวกันระหว่าง CEO และ CFO
76% ของซีอีโอไทยเห็นด้วยว่าความสำเร็จขององค์กร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของความร่วมมือระหว่างฝ่ายการเงินและฝ่ายเทคโนโลยี 53% ของซีอีโอไทยกำลังเดินหน้าทำงานร่วมกับฝ่ายการเงินเพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์มีความสอดคล้องกันและได้รับคุณค่าตามที่คาดหวัง
ในขณะที่ปัจจัยด้าน โครงสร้างพื้นฐานและการโมเดิร์นไนซ์ระบบ พบว่า 45% ขององค์กรในอาเซียนยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับ AI
รวมถึง 65% ของซีไอโอไทยระบุว่า ความเสี่ยงเชิงเทคนิคและสถาปัตยกรรมด้านไอทีของตน มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่ตนใช้บริการอยู่ เช่น เรื่องเวนเดอร์ล็อคอินของผู้ให้บริการคลาวด์
รวมถึงปัจจัยด้าน การกำกับดูแลและข้อบังคับ โดย 55% ของผู้บริหารด้านเทคโนโลยีในไทยกล่าวว่า กำลังชะลอการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างน้อยหนึ่งโครงการ จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎข้อบังคับต่างๆ
และ 45% ของผู้บริหารด้านเทคโนโลยีไทยกล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบและการปฏิบัติตามข้อบังคับที่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการนำ Gen AI มาใช้ ได้เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
คาดหวังองค์กรไทยใช้ AI เพิ่มเป็น 20%
จากรายงานผลการศึกษา ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบริการดิจิทัลของปี 2567 โดย ETDA ร่วมกับ สวทช. พบว่า องค์กรในไทยมีอัตราการยอมรับและใช้งาน AI (AI Adoption) อยูที่ 17.8%
“ดังนั้นแผน The Next Frontier of AI Race in Thailand ของ IBM น่าจะมีส่วนช่วยให้องค์กรใช้ AI มากขึ้น โดย อโณทัย ตั้งความคาดหวังหลังจากการผลักดันนโยบายดังกล่าวแล้ว น่าจะเห็นตัวเลข AI Adoption อยู่ที่ราว 20% โดยนอกเหนือจากกลุ่ม ธนาคาร กาารสื่อสาร และค้าปลีก กลุ่มที่มีศักยภาพคือ การแพทย์และสาธารณสุข การผลิต และภาคการศึกษา ที่เริ่มเห็นความต้องการยูสเคสของเอไอมากขึ้น”
“อย่างไรก็ตาม ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะต้องทำการสื่อสารและให้ข้อมูลกับผู้บริการระดับสูง ในประเด็นเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI, การใช้ AI ในทุกเรื่องส่วนงานของธุรกิจ อาทิ ระบบออโตเมชัน, หลักกการการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน รวมถึงแนวคิดการปรับองค์กรให้เป็นไฮบริดคลาวด์ by design” อโณทัย กล่าวสรุป